แคนรีโนน (Canrenone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 ตุลาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- แคนรีโนนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- แคนรีโนนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แคนรีโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แคนรีโนนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- แคนรีโนนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แคนรีโนนอย่างไร?
- แคนรีโนนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแคนรีโนนอย่างไร?
- แคนรีโนนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- Aldosterone antagonist
- ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน (Antiandrogens)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- โรคแอดดิสัน (Addison disease)
- ยาโรคหัวใจ หรือ ยารักษาโรคหัวใจ (Cardiac Medications)
บทนำ
ยาแคนรีโนน(Canrenone) เป็นยาในกลุ่ม Aldosterone antagonist หรืออีกชื่อคือ Antimineralocorticoid ยานี้จะมีฤทธิ์ต่อต้านฮอร์โมนอัลดอสเตอโรน (Aldosterone) ที่สร้างจากต่อมหมวกไต หน้าที่หลักของฮอร์โมนอัลดอสเตอโรนจะช่วยร่างกายรักษาระดับเกลือโซเดียมในเลือด โดยทำให้ไตดูดซึมโซเดียมจากปัสสาวะ กลับเข้ากระแสเลือด แต่ส่งผลขับเกลือโปแตสเซียมทิ้งออกนอกร่างกายทางปัสสาวะ ด้วยกลไกการทำงานของยาแคนรีโนนจะทำให้ร่างกายขับเกลือโซเดียมและน้ำออกจากร่างกายได้มากยิ่งขึ้น ทางคลินิกจึงนำมาใช้เป็นยาขับปัสสาวะ นอกจากนี้ยาแคนรีโนนยังมีฤทธิ์ต่อต้านการทำงานของฮอร์โมนแอนโดรเจน/ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน (Antiandrogen) จึงสามารถใช้ยานี้รักษาภาวะขนดกในสตรีได้อีกด้วย
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาแคนรีโนน เป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยานี้สามารถอยู่ในร่างกายได้นาน 10–35 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกกำจัดออกจากกระเสเลือด
สำหรับข้อจำกัดการใช้ยาแครีโนนที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีเกลือโปแตสเซียมในเลือดสูง และผู้ที่มีระดับเกลือโซเดียมใน เลือดต่ำอยู่แล้ว
- ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคไตในระยะรุนแรง และผู้ป่วยโรค Addison’s disease และต้องระวังการใช้กับ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคตับ รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดเป็นกรด ผู้ป่วย Porphyria ด้วยตัวยาแคนรีโนนสามารถส่งผล กระตุ้นให้อาการโรคเหล่านี้รุนแรงขึ้น
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการส่งผ่านตัวยานี้ไปสู่ทารก
- ขณะใช้ยาแคนรีโนน ผู้ป่วยจะต้องมารับการตรวจเลือดตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบระดับเกลือแร่ในเลือด อย่างเช่น โซเดียม และโปรแตสเซียม ว่ายังอยู่ในระดับปกติหรือไม่ รวมถึงตรวจเลือดดูการทำงานของตับและไต
- การใช้ยาบางตัวร่วมกับยาแคนรีโนน สามารถก่อให้เกิดผลเสีย(ผลข้างเคียง)ต่อร่างกายตามมาอย่างมากมาย เช่น ยารับประทานที่มีโปแตสเซียมเป็นส่วนประกอบหลัก(เช่น Potassium chloride), ยากลุ่ม ACE inhibitors, กลุ่มยา Angiotensin II receptor antagonists, Trilostane, Lithium, Thiazide, Chlorpropamide, Noradrenaline, Carbenoxolone, และรวมถึงยาลดความดันโลหิตชนิดต่างๆ การจะใช้ยาชนิดใดร่วมกับยาแคนรีโนน จึงต้องได้รับการยินยอมจากแพทย์เท่านั้น
- กรณีที่ได้รับยาแคนรีโนนแล้วเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น เกิดผื่นคัน มีภาวะขนดก มีอาการทางตับ เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง ผู้ป่วยควรรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
ปัจจุบันยาแคนรีโนนมีการจัดจำหน่ายอยู่แต่ในแถบทวีปยุโรป แต่ในอนาคตอันใกล้ประเทศในแถบเอเชียก็อาจจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยาชนิดนี้ และถือเป็นยาทางเลือกของยากลุ่มอัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์ อีกหนึ่งรายการ
แคนรีโนนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาแคนรีโนนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- เป็นยาขับปัสสาวะ
- รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
- ลดอาการบวมน้ำของร่างกาย
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง
- รักษาภาวะขนดกในสตรี
แคนรีโนนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแคนรีโนนมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ไต โดยมีกลไกแข่งขันหรือยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนอัลดอสเตอโรน ทำให้เพิ่มการขับออกของโซเดียม และของน้ำจากไตไปกับปัสสาวะ แต่มีการดูดกลับของเกลือโปแตสเซียมจากปัสสาวะคืนสู่ร่างกาย/กระแสเลือด หรือที่เรียกกันว่า โปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติก (Potassium-sparing diuretics) จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ ลดอาการบวมน้ำ ลดความดันโลหิต และช่วยบำบัดภาวะหัวใจล้มเหลว ส่วนคุณสมบัติที่มีฤทธิ์ต่อต้านการทำงานของฮอร์โมนแอนโดรเจน/ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน (Antiandrogen) ก็จะช่วยในการบำบัดรักษาภาวะขนดกในสตรี้ ด้วยกลไกดังกล่าว จึงทำให้ยานี้ใช้รักษาอาการโรคได้ตามสรรพคุณ
แคนรีโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแคนรีโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Canrenone 50 มิลลิกรัม/เม็ด
แคนรีโนนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาแคนรีโนน มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานวันละ 50–200 มิลลิกรัม ซึ่งเวลาของการรับประทานยานี้ให้เป็นไปตามแพทย์สั่ง และแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 300 มิลลิกรัมต่อวัน โดยต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิก ของการใช้ยานี้ในเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแคนรีโนน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแคนรีโนน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาแคนรีโนน สามารถรับประทานยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาแคนรีโนน อาจส่งผลให้อาการโรคกำเริบตามมา
แคนรีโนนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแคนรีโนนสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ง่วงนอน รู้สึกสับสน
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อในร่างกายทำงานเสียสมดุล
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจพบผื่นคัน
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น เกิดภาวะหน้าอก/เต้านมโต ขนดก
- ผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์ในสตรี: เช่น ประจำเดือนผิดปกติ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกลือโปแตสเซียมในเลือดสูง และเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
- ผลต่อตับ: เช่น เกิดพิษกับตับ/ตับอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้แคนรีโนนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแคนรีโนน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากมีคำสั่งแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะขับปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด ผู้ป่วยไตวาย และผู้ป่วยโรค Addison’s disease
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแคนรีโนนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
แคนรีโนนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแคนรีโนนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาแคนรีโนนร่วมกับยาโปแตสเซียมชนิดรับประทาน เพราะจะทำให้ระดับ โปแตสเซียมในเลือดสูงขึ้น จนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแคนรีโนนร่วมกับ กลุ่มยาACE inhibitors ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำมากตามมา
ควรเก็บรักษาแคนรีโนนอย่างไร?
ควรเก็บยาแคนรีโนน ภายใต้คำแนะนำของเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์
แคนรีโนนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแคนรีโนนมีหลายยาชื่อการค้าในต่างประเทศ เช่น Contaren, Luvion, Phanurane, และ Spiroletan แต่ไม่มีการระบุชื่อผู้ผลิต อาจเป็นเพราะการสงวนสิทธิ์ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของตัวแทนจำหน่ายยาดังกล่าว