แกนไซโคลเวียร์ (Ganciclovir)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 29 เมษายน 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาแกนไซโคลเวียร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาแกนไซโคลเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาแกนไซโคลเวียร์มีขนาดหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- ยาแกนไซโคลเวียร์มีขนาดหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมบริหารยาให้แก่ผู้ป่วยควรทำอย่างไร?
- ยาแกนไซโคลเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาแกนไซโคลเวียร์อย่างไร?
- ยาแกนไซโคลเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาแกนไซโคลเวียร์อย่างไร?
- ยาแกนไซโคลเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- โรคของจอตา โรคจอตา (Retinal disease)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส โรคติดเชื้อซีเอมวี (Cytomegalovirus infection: CMV infection)
- เอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: HIV infection)
- ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs)
- ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressants or Immunosuppressive agents)
บทนำ: คือยาอะไร?
แกนไซโคลเวียร์ (Ganciclovir) คือ ยาต้านไวรัส ที่มีประสิทธิภาพรักษาโรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัสที่จอตา เรียกย่อว่า ‘โรคติดเชื้อซีเอมวีที่จอตา (CMV retinitis)’ ในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี, ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน, ป้องกันการติดเชื้อไวรัสซีเอ็มวีในผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ (CMV disease in transplant patients), ป้องกันการติดเชื้อไวรัสซีเอ็มวีในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันฯต่ำ, โดยรูปแบบยาเป็นยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
ยาแกนไซโคลเวียร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาแกนไซโคลเวียร์ มีข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาโรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalo virus infection) ย่อว่า โรคติดเชื้อซีเอมวี (CMV infection) ที่ติดเชื้อบริเวณจอตา
- ใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสซีเอมวี (CMV:Cytomegalo virus)/โรคติดเชื้อซีเอมวีในผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ
ยาแกนไซโคลเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแกนไซโคลเวียร์ มีโครงสร้างเป็น Acyclic guanine nucleoside analog ที่มีโครงสร้างคล้ายกับยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir: ยาต้านไวรัส) กลไกการออกฤทธิ์ของยาแกนไซโคลเวียร์ คือ ยับยั้งการสร้างสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ (DNA) ของไวรัส
แกนไซโคลเวียร์ เป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบของ 2-ดีออกซีกัวโนซีน (2-deoxyguano sine) ซึ่งเป็นสารที่ยับยั้งการถ่ายแบบดีเอ็นเอของไวรัสเริม (Herpes simplex viruses), ไวรัสไซโตเมกกาโลไวรัส, และของไวรัสเอบไซน์-บารร์ (Epstein-Barr virus/EBV virus), อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคติดเชื้ออีบีวี), ไวรัสวาลิเซร่า ซอสเตอร์ (Varicella-zoster virus /VZV, ไวรัสโรคอีสุกอีใส), และโรคไวรัสตับอักเสบบี
เมื่อยาแกนไซโคลเวียร์เข้าสู่ร่างกายที่ติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสซีเอมวี, ยาแกนไซโคลเวียร์จะถูกเติมสารฟอสเฟต(Phosphate)ในโครงสร้างโดยโปรตีนของไวรัสที่มีชื่อว่า Kinase จากนั้นจะได้สารแกนไซโคลเวียร์ ไตรฟอสเฟต ซึ่งจะถูกทำลาย (Metabolite) ลงอย่างช้าๆภายในเซลล์ร่าง กายมนุษย์
สรุป ตัวยาแกนไซโคลเวียร์มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อไวรัส โดยทำให้หยุดการสร้าง หรือจำกัดการสร้างดีเอ็นเอในกระบวนการเพิ่มความยาวของสายดีเอ็นเอของไวรัสซีเอ็มวี
ยาแกนไซโคลเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบที่มีจำหน่าย/รูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ของยาแกนไซโคลเวียร์:
- ยาฉีดชนิดหยดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous infusion/IV): โดยมีรูปแบบเป็นยาผงปราศจากเชื้อในขวดแก้วยาฉีด (Powder for injection)สำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำ, มีขนาด 500 มิลลิกรัมต่อขวด, โดยวิธีการเตรียมยาเพื่อบริหารยา/เพื่อใช้ยา อ่านต่อในหัวข้อ “ยาแกนไซโคลเวียร์มีขนาดหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?”
ยาแกนไซโคลเวียร์มีขนาดหรือวิธีใช้ยาอย่างไร??
ขนาดยาและการปรับขนาดยาแกนไซโคลเวียร์ โดยเป็นขนาดยาสำหรับทั้งทารก/เด็ก และสำหรับผู้ใหญ่ แบ่งตามข้อบ่งใช้ เช่น
1. ขนาดยาสำหรับการรักษาจอตาอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสซีเอ็มวี (CMV retinitis):
- ขนาดยาเริ่มต้น: ช่น ยา 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ให้ยาทางหลอดเลือดดำ นานกว่า 1 ชั่วโมง, ให้ยาทุกๆ 12 ชั่วโมงเป็นเวลา 7 ถึง 14 วันในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตปกติ
- ขนาดยาเพื่อคงระดับการรักษา: เช่น ยา 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม, ให้ยาทางหลอดเลือดดำนานกว่า 1 ชั่วโมง วันละ 1 ครั้งสัปดาห์ละ 7 วัน หรือยา 6 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโล กรัมวันละ 1 ครั้ง สัปดาห์ละ 5 วัน
2. ขนาดยาสำหรับการป้องกันการติดเชื้อไวรัสซีเอ็มวีในผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายอวัยวะ:
- ขนาดยาเริ่มต้น: เช่น ยา 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ให้ยาทางหลอดเลือดดำนานกว่า 1 ชั่วโมง ทุกๆ 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 7 ถึง 14 วัน
- ขนาดยาเพื่อคงระดับการรักษา: เช่น ยา 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ให้ยาทางหลอดเลือดดำนานกว่า 1 ชั่วโมง, วันละ 1 ครั้ง, สัปดาห์ละ 7 วัน, หรือ 6 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 1 ครั้ง สัปดาห์ละ 5 วัน
3. ขนาดยาสำหรับการติดเชื้อไวรัสไซโตเมกกาโลไวรัสที่สมอง: เช่น ยา 5 มิลลิกรัมต่อน้ำ หนักตัว 1 กิโลกรัม ให้ยาทางหลอดเลือดดำนานกว่า 1 ชั่วโมง ทุกๆ 12 ชั่วโมง โดยบริหารยา/ใช้ยาคู่กับยาฟอสคาเนต (Foscarnet: ยาต้านไวรัสอีกชนิด) โดยให้ยา Foscarnet ทางหลอดเลือดดำ (ระยะเวลาในการให้ยาขึ้นกับอาการทางคลินิกของผู้ป่วยรวมถึงดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา)
4. ขนาดยาสำหรับการติดเชื้อไวรัส Varicella zoster ที่จอตา: เช่น ยา 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ให้ยาทางหลอดเลือดดำนานกว่า 1 ชั่วโมง ทุกๆ 12 ชั่วโมง
5. การบริหารยาคู่กับยาฟอสคาเนต (Foscarnet: ยาต้านไวรัส): เช่น ให้ยา Foscarnet ทางหลอดเลือดดำร่วมกับการให้ยาแกนไซโคลเวียร์โดยฉีดยาเข้าในวุ้นตา (Intravitreal Ganciclovir administration) การปรับขนาดยาสำหรับผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องและ/หรือบำบัดทด แทนไต/ล้างไต:
แพทย์จะปรับขนาดยาตามค่าการทำงานของไตหรือตามชนิดการบำบัดทดแทนไต (ฟอกเลือด หรือล้างไตทางหน้าท้อง) โดยเริ่มปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีค่าการทำงานของไตน้อยกว่า 70 มิลลิ ลิตร/นาที ขนาดยาที่เหมาะสมขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
6. การปรับขนาดยาสำหรับผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา
*อนึ่ง ขั้นตอนการเตรียมสารละลายแกนไซโคลเวียร์: เช่น
- ฉีดน้ำกลั่น (Sterile water for injection) 10 มิลลิลิตรลงในขวดแก้วยาฉีดที่มีผงยาแกนไซโคลเวียร์อยู่ ซึ่งจะได้สารละลายแกนไซโคลเวียร์ 50 มิลลิกรัมต่อ 1 มิลลิลิตร รวมปริมาตรทั้ง สิ้นประมาณ 10 มิลลิลิตร
- เขย่าขวดแก้วยาฉีดจนกระทั่งผงยาละลายจนหมด มองเห็นสารละลายเป็นเนื้อเดียวกัน
- ควรตรวจดูว่าสารละลายที่ผสมแล้วมีผงหรือไม่ ก่อนนำไปผสมกับสารอื่นๆ
- สารละลายยาแกนไซโคลเวียร์ที่ผสมแล้วในขวดแก้วยาฉีด จะมีความคงตัวที่อุณหภูมิห้อง 12 ชั่วโมง ไม่ควรเก็บสารละลายในตู้เย็น
- คำนวณขนาดยาที่เหมาะสมตามน้ำหนักตัวของผู้ป่วย ดูดยาตามปริมาตรในขนาดที่คำนวณได้ ใส่ในสารละลายสำหรับหยดเข้าทางหลอดเลือดดำเช่น สารละลายนอร์มอลซาไลน์ (9% Normal Saline Solution), สารละลายเด็กโตรส 5% ในน้ำ (D5W/ Dextrose 5% in water),หรือ สารละลายริงเกอร์ (Ringer solution) หรือแลคเตต ริงเกอร์ส (Lactated Ringer solution) โดยสารละลายที่เตรียมสุดท้ายหลังเจือจางยา ไม่ควรมีความเข้มข้นของแกนไซโคลเวียร์มากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร (Ganciclovir Final Concentration: 10 mg/mL) และไม่ควรผสมผลิต ภัณฑ์อื่นๆเข้ากับสารละลายแกนไซโคลเวียร์
*อนึ่ง วิธีการบริหารยา/การให้ยานี้สามารถทำได้ดังนี้: เช่น
- ห้ามบริหารยาอย่างรวดเร็วหรือให้ยาครั้งละมากๆทางหลอดเลือดดำ เนื่องจากพิษของแกนไซโคลเวียร์จะเพิ่มขึ้นจากความเข้มข้นของยาที่มากเกินไปในร่างกาย
- ห้ามบริหารยาโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนัง เพราะจะทำให้เกิดระคายเคืองอย่างรุน แรงที่ตำแหน่งฉีดยา เนื่องจากสารละลายแกนไซโคลเวียร์มีความเป็นด่างสูง
- ความเข้มข้นสูงสุดของสารละลายสำหรับหยดเข้าทางหลอดเลือดดำคือ ยา 10 มิลลิกรัมต่อ สารละลาย 1 มิลลิลิตร
*****หมายเหตุ: ขนาดยาระยะเวลาในการใช้ยา วิธีเตรียมยา และวิธีบริหารยา ที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาแกนไซโคลเวียร์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแกนไซโคลเวียร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาแกนไซโคลเวียร์มีพิษต่อทารกในครรภ์ อาจก่อให้ทารกเกิดความพิการขึ้นได้
- อีกทั้งหากอยู่ในช่วงให้นมบุตร แนะนำให้เลี่ยงการให้นมบุตร เพราะยานี้อาจถูกขับออกทางน้ำนมอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงรุนแรงแก่บุตร จึงควรพิจารณาหยุดให้นมบุตรหากมารดากำลังได้รับยานี้อยู่ หรือหยุดการใช้ยา ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาฃ
- ผู้ป่วยที่ได้รับยาแกนไซโคลเวียร์ ควรติดตามค่าความสมบูรณ์ของเลือด (Complete Blood Count: ซีบีซี/CBC) เสมอ หากพบว่าผู้ป่วยมีภาวะเม็ดเลือดขาวลดลงผิดปกติ, นิวโทรฟิล (Neutrophil/ เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง) ลดลงผิดปกติ, โลหิตจางและ/หรือเกล็ดเลือดลดลงผิดปกติอย่างรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยยากระตุ้นการเจริญของเม็ดเลือด (Hematopoietic growth factor) และ/หรือหยุดยาแกนไซโคลเวียร์ชั่วคราว
หากลืมบริหารยาให้แก่ผู้ป่วยควรทำอย่างไร?
แนะนำควรบริหารยา/ให้ยาแกนไซโคลเวียร์แก่ผู้ป่วยในเวลาเดียวกันทุกวันตามคำสั่งของแพทย์ โดยทั่วไปแล้ว ยาแกนไซโคลเวียร์จะมีวิธีการบริหารยาวันละ 1 ครั้ง หรือ วันละ 2 ครั้ง
กรณีลืมบริหารยาให้แก่ผู้ป่วยโดยคำสั่งการบริหารยาเป็นวันละ 1 ครั้ง: ให้บริหารยาแก่ผู้ป่วยทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องบริหารยาครั้งถัดไป (วันถัดไป) ให้รอบริหารยาครั้งถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น บริหารยาเวลา 9.00 น. หากนึกขึ้นได้ว่าลืมบริหารยาแก่ผู้ป่วยตอนเวลา 16.00 น. ก็สามารถบริหารยาได้ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยาครั้งถัดไป (หมายถึงเกินกว่า 12 ชั่วโมงจากเวลาบริหารยาปกติ) เช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมบริหารยาแก่ผู้ป่วยตอนเวลา 22.00 น.ของวันนั้น ให้รอบริหารยาครั้งถัดไปในขนาดยาปกติช่วงเวลาเดิมได้เลยโดยไม่ต้องนำยาที่ลืมมาบริหารให้ผู้ป่วยเพิ่มเติม
กรณีลืมบริหารยาให้แก่ผู้ป่วยโดยคำสั่งการบริหารยาเป็นวันละ 2 ครั้ง (ทุก 12 ชั่วโมง): เช่น โดยปกติแล้วจะบริหารยาเวลา 9.00 น. และ 21.00 น. หากลืมบริหารยาแก่ผู้ป่วย ให้บริหารยาทัน ทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องบริหารยาครั้งถัดไป (เกิน 6 ชั่วโมงจากเวลาบริหารยาปกติ) ให้รอบริหารยาครั้งถัดไปเลยเช่น บริหารยาเวลา 9.00 น. หากนึกขึ้นได้ว่าลืมบริหารยาแก่ผู้ป่วยตอนเวลา 13.00 น. ก็สามารถบริหารยาได้ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วง เวลาของยาครั้งถัดไป (หมายถึงเกินกว่า 6 ชั่วโมงจากเวลาบริหารยาปกติ) เช่น นึกขึ้นได้เวลา 18.00 น.ของวันนั้น ให้รอบริหารยาครั้งถัดไปในขนาดยาปกติช่วงเวลาเดิมได้เลย โดยไม่ต้องนำยาที่ลืมมาบริหารให้ผู้ป่วยเพิ่มเติม
ยาแกนไซโคลเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา/ผลข้างเคียงของยาแกนไซโคลเวียร์ที่พบบ่อย เช่น
- ภาวะกดการทำงานของไขกระดูก/กดไขกระดูก (Bone Marrow Suppression: ส่งผลทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อ, โลหิตจาง อาจทำให้เหนื่อยง่าย ซีด, และเกล็ดเลือดต่ำทำให้เลือดออกได้ง่าย) ในช่วงที่ใช้ยาแกนไซโคลเวียร์ควรตรวจสอบความสมบูรณ์ของเลือด (การตรวจ CBC) สม่ำเสมอ หากพบว่าจำนวนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และ/หรือ เกล็ดเลือดลดลง แพทย์อาจจำเป็นต้องปรับขนาดยาหรือหยุดยาอื่นๆที่อาจมีผลกดไขกระดูกร่วมด้วย
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น หนาวสั่น, ปวดเส้นประสาท (Neuropathy)
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผื่นคันที่ผิวหนังได้ทั่วร่างกาย และมีรายงานการเกิดผื่นแพ้ยาที่รุนแรงคือ สตีเวนส์ จอห์นสัน ซินโดรม (SJS: Steven’s Johnson Syndrome) ได้
*ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรติดตามอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆเสมอเมื่อใช้ยานี้ ถ้าพบสิ่งผิดปกติควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
มีข้อควรระวังการใช้ยาแกนไซโคลเวียร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแกนไซโคลเวียร์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ หรือ แพ้ส่วนประกอบของยานี้ หรือ เคยมีประวัติแพ้ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) หรือ วาลแกนไซโคลเวียร์ (Valganciclovir) มาก่อน เนื่องจากโครงสร้างของยามีความคล้ายคลึงกัน
- เนื่องจากยาแกนไซโคลเวียร์มีผลทำให้เกิด ภาวะเม็ดเลือดขาวลดลง, นิวโทรฟิลล์ลดลง, เกล็ดเลือดต่ำ, และโลหิตจาง, จึงไม่ควรใช้ยาแกนไซโคลเวียร์ขณะผู้ป่วยมีเม็ดเลือดขาวต่ำ (นิวโทรฟิลสุทธิน้อยกว่า 500 เซลล์ต่อไมโครลิตร) หรือมีเกล็ดเลือดต่ำกว่า 25,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร หรือมีฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ต่ำกว่า 8 กรัมต่อเดซิลิตร
- ระวังการใช้ยาแกนไซโคลเวียร์ในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากยาแกนไซโคลเวียร์ก่อให้เกิด อันตรายต่อทารกในครรภ์ (เกิดทารกวิรูป/พิการ: Teratogenic) ได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ในสตรีตั้ง ครรภ์ นอกจากประโยชน์ที่ได้รับต่อมารดาจะเหนือความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์
- ยาแกนไซโคลเวียร์อาจถูกขับออกทางน้ำนมและทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่ จึงควรหยุดการให้นมบุตรด้วยตนเองในรายที่มารดาจำเป็นต้องใช้ยาแกนไซโคลเวียร์
- เนื่องจากยามีผลพิษต่อทารกในครรภ์ (ทารกวิรูป) และมีผลต่อการสร้างเชื้ออสุจิ(Spermatogenesis) ดังนั้นช่วงที่ได้รับยาทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงควรคุมกำเนิดตลอดช่วงได้รับยา และคุมกำเนิดต่อไปอีกเป็นเวลา 90 วันหลังวันหยุดใช้ยา (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง การคุมกำเนิด และเรื่อง การวางแผนครอบครัว)
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวม ถึงยาแกนไซโคลเวียร์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาแกนไซโคลเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแกนไซโคลเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- พบรายงานการชักในผู้ป่วยที่ได้รับยาแกนไซโคลเวียร์ร่วมกับยาอิมมิพีเนม-ไซลาสตาติน (Imipenem-cilastatin/ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียกลุ่มคาร์บาพีเนม) ดังนั้นแนะนำอย่างยิ่งให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้งสองร่วมกัน จะพิจารณาใช้เฉพาะเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วพบประโยชน์เหนือความเสี่ยงเท่านั้น
- ระดับยาไดดาโนซีน (Didanosine: ยาต้านรีโทรไวรัส) จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อให้ร่วมกับยาแกนไซโคลเวียร์ ซึ่งจะส่งผลทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการไม่พึงประสงค์จากยาไดดาโนซีน ไขกระดูกจะถูกกดมากขึ้น, อาจทำให้เกิดตับอักเสบ และ/หรือ ตับอ่อนอักเสบ ดังนั้นแนะนำการใช้เฉพาะกรณีที่แพทย์พิจารณาแล้วพบประโยชน์เหนือความเสี่ยง
- เมื่อให้ยาโปรเบนาซิด (Probenacid: ยาขับกรดยูริค) คู่กับยาแกนไซโคลเวียร์จะทำให้ระดับยาแกนไซโคลเวียร์เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาแกนโซโคลเวียร์ได้ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ไขกระดูกถูกกดการทำงานมากขึ้น ดังนั้นหากใช้ยาทั้งสองร่วมกัน แพทย์จะตรวจความสมบูรณ์ของเลือด/CBC/ซีบีซี และตรวจเลือดดูค่าการทำงานของไตเสมอ
- เมื่อให้ยาซิโดวูดีน (Zidovudine: ยาต้านรีโทรไวรัส) คู่กับยาแกนไซโคลเวียร์ จะทำให้ระดับยาแกนไซโคลเวียร์ลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญ แต่ระดับยาซิโดวูดีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาซิโดวูดีนเช่น การกดการทำงานของไขกระดูก อาจเป็นสาเหตุของภาวะโลหิตจาง หรือภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดแกรนูโลไซต์ต่ำ (Granulocytopenia: ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อต่างๆได้ง่าย) หากใช้ยาทั้งสองร่วมกัน แพทย์จะติดตามค่าความสมบูรณ์ของเลือดเป็นระยะๆ
- ระวังการใช้ยาแกนไซโคลเวียร์คู่กับยาอื่นๆที่มีผลกดไขกระดูกหรือทำให้ไตเสื่อม เช่น ยาแดปโซน (Dapsone: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย), เพนทามีดีน (Pentamidine: ยาฆ่าเชื้อรา/ยาฆ่าโปรโตซัว), วินคริสทีน (Vincristine: ยาเคมีบำบัด), วินบลาสทีน (Vinblastine: ยาเคมีบำบัด), อะเดรียมายซิน (Adriamycin: ยาเคมีบำบัด), แอมโฟเทอริซิน บี (Amphotericin B : ยาฆ่าเชื้อรา), ไฮดร็อกซียูเรีย (Hydroxyurea: ยาเคมีบำบัด) เนื่องจากอาจเพิ่มความเป็นพิษของยาเหล่านั้นได้ จึงไม่ควรใช้ยาดังกล่าวร่วมด้วย, นอกจากแพทย์จะพิจารณาเห็นประโยชน์เหนือความเสี่ยงเท่านั้น
ควรเก็บรักษายาแกนไซโคลเวียร์อย่างไร?
ยาแกนไซโคลเวียร์ควรเก็บรักษา เช่น
- สำหรับยาฉีดแกนไซโคลเวียร์: เมื่อละลายผงยาแล้วควรใช้ยาภายใน 12 ชั่วโมงที่อุณหภูมิ ห้อง (ไม่ควรเก็บยาในตู้เย็น)
- สำหรับผงยาปราศจากเชื้อ: ควรเก็บบรรจุในขวดแก้วบรรจุภัณฑ์เดิมที่อุณหภูมิห้อง พ้นจากแสงแดด หรือแสงที่ส่องถึงโดยตรง หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มาก หรือสัมผัสกับความชื้น
- ควรเก็บยาทั้ง 2 ประเภทให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาแกนไซโคลเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแกนไซโคลเวียร์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cymevene (ไซมีวีน) | Roche |
บรรณานุกรม
- Taketomo CK, Hodding JH, Kraus DM. Pediatric & Neonatal Dosage Handbook, 19th ed. Hudson, Ohio, Lexi-Comp, Inc.; 2012
- Lacy CF, Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
- Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado
- Product Information: Cymevene, Ganciclovir, Roche, Thailand.
- Randa HD, Laurence L.B. Goodman and Gilman’s Manual of Pharmacology and Therapeutics. 2nd ed. China: McGraw-Hill; 2014.
- TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica; 2013
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2017/209347pdf [2023,April29]
- http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=5&rctype=1C&rcno=6300015&lpvncd=10&lcntpcd=%E0%B8%99%E0%B8%A21&lcnno=2900017&licensee_no=17/2529 [2023,April 29]