เอ็นทีอาร์ทีไอ (NtRTIs: Nucleotide reverse-transcriptase inhibitors)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 พฤศจิกายน 2557
- Tweet
- บทนำ
- ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไออย่างไร?
- ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไออย่างไร?
- ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอดส์ (AIDS)
- เอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: HIV infection)
- ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis)
- โรคไวรัสตับอักเสบ บี (Viral hepatitis B)
- เริม (Herpes simplex)
บทนำ
ยาต้านไวรัสกลุ่มเอ็นทีอาร์ทีไอ (Nucleotide reverse-transcriptase inhibitors: NtRTIs) ถูกนำมาใช้บรรเทาอาการติดเชื้อโรคเอดส์และการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ-บี สามารถแบ่งยาในกลุ่มนี้ ได้ดังนี้ คือTenofovir และ Adefovir
- อนึ่ง Tenofovir เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านไวรัสเอดส์ชนิดเอชไอวี-1 รวมถึงต้านไวรัสตับอักเสบ-บี กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้ร่วมมือกับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ในการศึกษาถึงประสิทธิภาพของ Tenofovir โดยนำมา ใช้เชิงป้องกันการติดเชื้อเอดส์และพบว่า Tenofovir มีศักยภาพการป้องกันการติดเชื้อโรคเอดส์ในประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ Tenofovir เป็นยาจำเป็นสำหรับระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐาน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยอยู่ในหมวดยาที่ใช้บรรเทารักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ-บีและการติดเชื้อเอดส์ อย่างไรก็ตาม ยา Tenofovir ไม่สามารถรักษาโรคเอดส์ให้หายขาดได้ เพียงแต่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นรวมถึงลดอัตราการเสียชีวิต ยา Tenofovir ขึ้นทะเบียนไว้ในหมวดยาควบคุมพิเศษ ผู้ป่วยไม่สามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป การรับยาต้องผ่านทางสถานพยาบาลที่ลงชื่อรักษาไว้ และต้องมีใบสั่งจากแพทย์ประกอบในการรับยากลับบ้าน
- Adefovir ถูกนำมาใช้รักษาการติดเชื้อตับอักเสบ-บี รวมถึงการติดเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเริมอีกด้วย เดิมทีเดียว Adefovir ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ของการบรรเทารักษาการติดเชื้อเอดส์ แต่อาจมีเหตุผลบางประการในด้านประสิทธิภาพที่ทำให้บริษัทยาผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้หันมาพัฒนา Adefovir เพื่อการรักษาการติดเชื้อจากไวรัสตับอักเสบ-บีโดยเฉพาะ จนทำให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศทางแถบยุโรป
ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอมีสรรพคุณดังนี้
- Tenofovir: ใช้บรรเทาอาการป่วยของโรคเอดส์ และบรรเทารักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ-บี
- Adefovir: ใช้บรรเทารักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ-บี
ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยากลุ่มเอ็นทีอาร์ทีไอมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะเข้าไปขัดขวางกระบวนการสร้างสารพันธุกรรมของไวรัสที่เรียกว่า DNA ทำให้ตัวไวรัสสูญเสียความสามารถในการจำลองหรือสังเคราะห์สารพันธุกรรมดังกล่าว เป็นผลให้ชะลอการแพร่พันธุ์และส่งผลให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น
ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- ยาเม็ดขนาด 10 และ 300 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดผสมตัวยาต้านไวรัสมากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป
ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอมีขนาดรับประทานดังนี้
- Tenofovir:
- ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป: รับประทาน 300 มิลลิกรัมวันละครั้ง ควรรับประทานยาพร้อมอาหาร ใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอดส์ชนิดอื่น
- ในเด็กและผู้ใหญ่อายุน้อยกว่า 18 ปี: ขนาดยาขึ้นกับ อายุ น้ำหนักตัว และดุลพินิจของแพทย์
ควรรับประทานยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที
- Adefovir:
- ผู้มีอายุ 12 - 65 ปี: รับประทาน 10 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- ผู้มีอายุต่ำกว่า 12 ปีหรือสูงกว่า 65 ปี: การใช้ยาและขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
*หมายเหตุ: สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไออาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า การลืมรับประทานยานี้บ่อยๆหลายครั้ง ย่อมส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโดยตรงและอาจทำให้อาการโรคลุกลามมากยิ่งขึ้น
ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่มเอ็นทีอาร์ทีไอสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ผื่นคัน มีภาวะเกลือฟอส เฟตในร่างกายลดลง (Hypophosphatemia, อาการเช่น กล้ามเนื้อทั่วตัวอ่อนแรง สับสน) ไตวาย ตับอ่อนอักเสบ วิงเวียน หายใจขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไออย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอดังนี้
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มเอ็นทีอาร์ทีไอ
- ระวังการเกิดภาวะตับโตผิดปกติหรือเกิดภาวะกรดในร่างกาย (Lactic acidosis, อาการเช่น คลื่นไส้ อาเจียน หายใจเร็ว ความดันโลหิตต่ำ)
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไตหรือหากมีความจำเป็นต้องใช้ยาในผู้ป่วยโรคไต แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมต่อร่างกายผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- ระวังภาวะมวลของกระดูกลดต่ำ (โรคกระดูกพรุน) อาจต้องรับการตรวจมวลกระดูก (การตรวจความหนาแน่นกระดูก) ของผู้ป่วยเป็นระยะๆตามแพทย์แนะนำ
- ผู้ป่วยควรรับประทานยานี้อย่างเคร่งครัดและพบแพทย์เพื่อตรวจสภาพร่างกายตามกำหนดนัดหมายของแพทย์
- การใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์และเด็กต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาของแพทย์ผู้รักษาว่าปลอดภัยหรือเหมาะสมเพียงใด
- ปกติหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรจะถูกห้ามการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา เพื่อป้องกันการส่งผ่านเชื้อไวรัสจากน้ำนมมารดา แนะนำให้เลี้ยงบุตรด้วยผลิตภัณฑ์นมที่มีจำหน่ายตามเกณฑ์มาตรฐานของอายุทารก ดังนั้นการใช้ยานี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
- หากการตอบสนองของร่างกายกับยาที่ได้รับไม่เป็นผลดีหรือพบอาการข้างเคียงอย่างมาก ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ปรับแนวทางการรักษาหรือเปลี่ยนยารับประทานที่เหมาะสม
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ใน เว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้
- การใช้ Adefovir ร่วมกับยาแก้ปวดเช่น Ibuprofen อาจทำให้ Adefovir ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ Tenofovir ร่วมกับยาต่อไปนี้ จะทำให้ความเข้มข้นของ Tenofovir ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น ยากลุ่มดังกล่าวได้แก่ Didanosine, Atazanavir, Ritonavir หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาปรับขนาดรับประทานที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยเป็นรายๆไป
ควรเก็บรักษายาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไออย่างไร?
สามารถเก็บยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอมี มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ทีไอที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Hepsera (เฮพเซรา) | GlaxoSmithKline | Truvada (ทรูวาดา) | Gilead |
Atripla (อะทริพลา) | Gilead | Ricovir-Em (ริโคเวียร์-อีเอ็ม) | Mylan |
Ricovir (ริโคเวียร์) | Mylan |
Teno-Em (เทโน-อีเอ็ม) | GPO |
Tenof (เทนอฟ) | Hetero |
Viread (วีรีด) | Gilead |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Reverse-transcriptase_inhibitor [2014,Oct18]
2 http://aidsinfo.nih.gov/education-materials/glossary/903/nucleotide-reverse-transcriptase-inhibitor [2014,Oct18]
3 http://en.wikipedia.org/wiki/Tenofovir#Therapeutic_drug_monitoring [2014,Oct18]
4 http://www.mims.com/USA/drug/info/tenofovir%20disoproxil%20fumarate/?type=full&mtype=generic#Dosage [2014,Oct18]
5 http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/661#item-10214 [2014,Oct18]
6 http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a605024.html#why [2014,Oct18]
7 http://en.wikipedia.org/wiki/Adefovir [2014,Oct18]
8 http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Hepsera/?type=full#Indications [2014,Oct18]