เอเวอโรลิมัส (Everolimus)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเอเวอโรลิมัส (Everolimus) หรือยาชื่อการค้าในประเทศไทยว่า เซอร์ติแคน (Certican) เป็นยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ภูมิต้านทานชนิดรับประทาน ยานี้ใช้เพื่อป้องกันปฏิกิริยาไม่ยอม รับอวัยวะที่เปลี่ยนถ่ายในผู้ป่วยที่เปลี่ยนไต ตับ หรือหัวใจ โดยสูตรยากดภูมิต้านทานที่ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะได้รับมักจะเป็นยากดภูมิต้านทาน 3 ชนิดเช่น เอเวอโรลิมัส, ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) และยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ในกรณีปลูกถ่ายไตหรือปลูกถ่ายหัวใจ

นอกจากนี้ยาเอเวอโรลิมัสยังมียาชื่อการค้าอีกชื่อหนึ่งคือ อะฟินิทอร์ (Afinitor) เป็นยาเม็ดชนิดรับประทานซึ่งมีขนาดยาสูงกว่าขนาดยาเซอร์ติแคน โดยมีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคมะเร็งหลาย ชนิดเช่น มะเร็งเต้านม (Breast cancer), มะเร็งตับอ่อนชนิด Pancreatic neuroendocrine tumors (PNET), เนื้องอกที่ไตชนิด Renal angiomyolipoma, มะเร็งไต (Renal Cell Carcinoma, RCC), โรคเนื้องอกสมองชนิด Subependymal giant cell astrocytoma (SEGA), มะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิด Carcinoid tumor

การใช้ยาเอเวอโรลิมัสควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น โดยยาทั้งสองชื่อการค้าดังกล่าวมีข้อบ่งใช้ของยาแตกต่างกัน ดังนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาอย่างระมัดระวัง เนื่องจากยามีผลกดภูมิต้านทานอาจทำให้เพิ่มโอกาสของการติดเชื้อโรคต่างๆได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับยาเอเวอโรลิมัสชนิดยาเดี่ยวหรือได้รับร่วมกับยากดภูมิต้านทานชนิดอื่นๆอยู่ พึงระมัดระวังการติดเชื้อต่างๆเสมอ อีกทั้งเพื่อให้ระดับยากดภูมิต้านทานในร่างกายอยู่ในช่วงการรักษาและคงที่ ผู้ป่วยควรรับประทานยากดภูมิต้านทานตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ และติดตามการรักษาตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง

ยาเอเวอโรลิมัสมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เอเวอโรลิมัส

ยาเอเวอโรลิมัสมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้สำหรับ

  • ใช้ป้องกันปฏิกิริยาที่ร่างกายปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่าย (Organ rejection) เช่น ตับ ไต หรือ หัวใจ โดยใช้ร่วมกับยากดภูมิต้านทานชนิดอื่นๆอีก 2 ชนิดเช่น ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) หรือยาทาโครลิมัส (Tacrolimus) และยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) และ
  • ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งหลายชนิดเช่น มะเร็งเต้านม, มะเร็งตับอ่อนชนิด Pancreatic neuroendocrine tumors (PNET), เนื้องอกที่ไตชนิด Renal angiomyolipoma, มะเร็งไต, โรคเนื้องอกสมองชนิด Subependymal giant cell astrocytoma (SEGA), มะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิด Carcinoid tumor

ยาเอเวอโรลิมัสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเอเวอโรลิมัสคือ ตัวยาจะยับยั้งการเติบโตของเซลล์โดยการหยุดการส่งสัญญาณการเจริญเติบโตของเซลล์ ทำให้เซลล์หยุดการเจริญเติบโตซึ่งให้ผลลัพธ์คือการป้องกันการปฏิเสธอวัยวะ (Organ rejection) ที่ได้รับการปลูกถ่ายและหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

ยาเอเวอโรลิมัสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาเอเวอโรลิมัสในประเทศไทยมีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์คือ ยาเม็ดสำหรับรับประทานมี 2 ยาชื่อการค้าได้แก่

  • เซอร์ติแคน (Certican) มีขนาดยาดังนี้ 0.25, 0.5, 0.75 และ 1 มิลลิกรัม และ
  • อะฟินิทอร์ (Afinitor) มีขนาดยา 5 และ 10 มิลลิกรัม

ยาเอเวอโรลิมัสมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาเอเวอโรลิมัสเป็นยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ภูมิต้านทานชนิดรับประทาน มีข้อบ่งใช้สำหรับ

  • ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อป้องกันการปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่าย
  • รวมถึงเป็นยารักษาโรคมะเร็งหลายชนิดเช่น มะเร็งเต้านม, มะเร็งตับอ่อนชนิด Pancreatic neuro endocrine tumors (PNET), เนื้องอกที่ไตชนิด Renal angiomyolipoma, มะเร็งไต, โรคเนื้องอกสมองชนิด Subependymal giant cell astrocytoma (SEGA), มะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิด Carcinoid tumor

ขนาดยาเอเวอโรลิมัสที่ใช้ขึ้นกับข้อบ่งใช้ยาโดยแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้กำหนดขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยควรรับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและตรงตามเวลา ห้ามผู้ป่วยปรับวิธีการรับประทานยานี้เอง ในผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการตรวจวัดระดับยานี้ในเลือดเพื่อแพทย์ปรับขนาดยาให้เหมาะสม

วิธีการรับประทานยาเอเวอโรลิมัส ผู้ป่วยควรรับประทานยานี้ในเวลาเดิมทุกวันเพื่อให้ระดับยาในกระแสเลือดคงที่ การรับประทานยานี้สามารถรับประทานยาช่วงก่อนอาหารหรือหลังอาหารก็ได้ ดังนั้นหากท่านกำลังใช้ยานี้อยู่ควรรับประทานยาให้ตรงตามที่แพทย์สั่ง ไม่เพิ่มลดหรือปรับขนาดยาด้วยตนเองโดยเด็ดขาด หากท่านมีอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/ผลไม่พึงประสงค์)จากยานี้ที่รุนแรงหรือมีอาการผิดปกติที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเกิดขึ้นในช่วงที่ได้รับยานี้อยู่ ท่านควรต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนกำหนดเสมอเพื่อรับการตรวจรักษาอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเอเวอโรลิมัส ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาเอเวอโรลิมัสอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่กินร่วมกัน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาเอเวอโรลิมัสมีผลพิษต่อทารกในครรภ์ซึ่งอาจทำให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดขึ้นได้ อีกทั้งหากอยู่ในช่วงให้นมบุตรแนะนำให้หลีกเลี่ยงการให้นมบุตร เพราะยานี้ถูกขับออกทางน้ำนมอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงแก่บุตร
  • ผู้ป่วยควรจำชื่อยากดภูมิต้านทานพร้อมขนาดยาที่รับประทานอยู่ให้ได้ทุกตัวหรือจดบันทึกไว้ หากมีการเปลี่ยนแปลงขนาดยาหรือวิธีการรับประทานยาควรจดบันทึกไว้ทุกครั้ง
  • ผู้ป่วยที่กำลังรับการรักษาด้วยยากดภูมิต้านทานควรแจ้งแพทย์/เภสัชกรทุกครั้งก่อนจะรับประทานยาชนิดอื่นๆร่วมด้วย และไม่ควรซื้อยาต่างๆหรือสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงวิตามินมารับประทานเอง เนื่องจากยากดภูมิต้านทานสามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากดภูมิต้านทานกับยาชนิดอื่นๆ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร ฯลฯ ได้ซึ่งอาจส่งผลเพิ่มหรือลดระดับยากดภูมิต้านทานในร่างกาย

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาเอเวอโรลิมัส โดยทั่วไปสำหรับการป้องกันการปฏิเสธอวัยวะ ยาเอเวอโรลิมัสมีวิธีการรับประทานยาวันละ 2 ครั้งต่อวัน ซึ่งหากผู้ป่วยลืมรับประทานยานี้ให้รับประทานยานี้ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระ หว่างมื้อคือเกิน 6 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมไป รอรับประทานยามื้อถัด ไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาวันละ 2 ครั้งเวลา 7.00 น. และ 19.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 7.00 น. ตอนเวลา 10.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 7.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงห่างจากเวลารับประทานยาปกติถึงมื้อถัดไป) เช่นนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 7.00 น. ตอนเวลา 16.00 น. ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปคือเวลา 19.00 น. ในขนาดยาปกติ โดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม

กรณีอาเจียนยาออกมา ถ้ามีอาการคลื่นไส้และอาเจียนหลังรับประทานยานี้ หากผู้ป่วยเห็นเม็ดยาออกมาควรเว้นระยะสักครู่รอให้อาการคลื่นไส้หรืออาเจียนดีขึ้นจึงรับประทานยาใหม่ แต่หากผู้ป่วยไม่แน่ใจว่ามียาออกมาพร้อมกับอาเจียนหรือไม่ไม่ควรรับประทานยาซ้ำเพิ่มโดยเด็ดขาด

กรณีผู้ป่วยต้องเดินทางไกลควรเตรียมยาติดตัวไปเพียงพอตลอดการเดินทาง หากเดินทางไปต่างประเทศควรรับประทานยาตามเวลาของประเทศไทย แต่หากต้องปรับเวลารับประทานยาตามประเทศที่ไปพักอาศัย พิจารณาปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทาง อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไกลในช่วง 6 เดือนแรกของการปลูกถ่ายอวัยวะหากไม่จำเป็น และควรได้รับอนุญาตจากแพทย์ผู้รักษาก่อน

กรณีในการรักษาโรคมะเร็งควรรับประทานยาเอเวอโรลิมัสให้ตรงเวลาเช่นกัน และควรสอบถามแพทย์ผู้รักษาไว้ล่วงหน้าว่า ในกรณีลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร เพราะจะแตกต่างกันในแต่ละโรคมะเร็งและแต่ละสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน

ยาเอเวอโรลิมัสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ของยาเอเวอโรลิมัสที่พบได้บ่อยเช่น ปวดท้อง ท้อง เสียหรือท้องผูก ความดันโลหิตสูง คลื่นไส้อาเจียน มีแผลในปาก และอาจมีผลต่อการหายของแผล /แผลหายช้า เม็ดเลือดขาวต่ำซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อได้ง่ายทั้งเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูงทั้งค่าคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์

หากท่านกำลังใช้ยาเอเวอโรลิมัสอยู่หรือกำลังรับประทานยากดภูมิต้านทานอยู่และเกิดอาการไม่พึงประสงค์ดังต่อไปนี้เช่น มีไข้สูง, ปวดศีรษะรุนแรง, รู้สึกหอบเหนื่อย, หายใจไม่ปกติ, อาเจียนอย่างหนัก, ปวดท้องอย่างรุนแรง, ท้องเสียหรือถ่ายท้องอย่างมากจนอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงและมีภาวะสมดุลเกลือแร่ผิดปกติ (อาการที่สังเกตได้เช่น เหนื่อย สับสน อ่อนเพลีย อ่อนแรง หัวใจเต้นเร็ว) มีสัญญาณของภาวะติดเชื้อเช่นมีไข้ (สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส) หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล มีอาการปวดหรือร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ ปวด บวม แดง และเจ็บตามร่างกาย หรือมีตุ่มน้ำหรือแผลเกิดขึ้นบริเวณปากหรือร่างกาย หากท่านมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์/ไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้านที่สะดวกทันที/ฉุกเฉินก่อนวันนัด พร้อมแจ้งแพทย์/พยาบาล/เภสัชกรว่าท่านกำลังรับประทานยากดภูมิต้านทานอยู่

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอเวอโรลิมัสอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอเวอโรลิมัสเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยาเอเวอโรลิมัสอาจมีภาวะไขมันในเลือดสูงทั้งไขมันชนิดคอเลสเตอรอลและ ชนิดไตรกลีเซอไรด์ แพทย์จะพิจารณาตรวจระดับไขมันในเลือดของผู้ป่วยและให้การรักษาด้วยยาลดไขมันร่วมกับแนะนำการปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารโดยเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
  • ยาเอเวอโรลิมัสสามารถทำให้เกิดความเป็นพิษต่อไตได้โดยเฉพาะถ้าใช้ยาในขนาดสูง แพทย์จะติดตามดูแลผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตผิดปกติใกล้ชิดเนื่องจากอาจจำเป็นต้องลดขนาดยาเอเวอโรลิมัสลงหากค่าการทำงานของไตลดลง
  • ยาเอเวอโรลิมัสมีผลทำให้แผลเกิดการสมานของแผลลดลง/แผลติดช้าจึงอาจมีผลต่อการฟื้นฟูของแผลในผู้ป่วยที่กำลังใช้ยานี้อยู่
  • การใช้ยาเอเวอโรลิมัสระหว่างตั้งครรภ์รวมถึงช่วงให้นมบุตร แพทย์จะพิจารณาถึงประโยชน์ ที่มีต่อแม่เทียบกับความเสี่ยงของทารกในครรภ์เนื่องจากยาอาจมีผลพิษต่อทารกได้
  • ยาเอเวอโรลิมัสสามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นได้หลายชนิดดังนั้นการติดตามระดับยาในเลือดโดยแพทย์จึงมีความจำเป็น (อ่านเพิ่มเติมหัวข้อ: ยาเอเวอโรลิมัสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?)
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเอเวอโรลิมัส) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเอเวอโรลิมัสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเอเวอโรลิมัสถูกขจัดออกจากร่างกายโดยเอนไซม์กำจัดยาระบบ CYP3A4 (Cytochrome P450 3A4) เป็นหลัก ดังนั้นสารใดๆก็ตามที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ดังกล่าวได้ก็จะมีผลลดการขจัดตัวยาเอเวอโรลิมัสลง ซึ่งจะส่งผลให้ระดับยาเอเวอโรลิมัสในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้ (ผลข้างเคียงสูงขึ้น) ในขณะเดียวกันสารใดที่ออกฤทธิ์ในการเหนี่ยวนำให้เอนไซม์ระบบดังกล่าวทำงานได้ดีขึ้นก็จะมีผลให้การขจัดยาเอเวอโรลิมัสเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ระดับยาเอเวอโรลิมัสในเลือดลดลง (ผลการควบคุมรักษาโรคลดลง)

1. เมื่อมีการใช้ยาเอเวอโรลิมัสร่วมกับยาดังต่อไปนี้ส่งผลเพิ่มระดับยาเอเวอโรลิมัสในเลือดได้เช่น กลุ่มยาลดความดันโลหิตเช่น เวอร์ราปามิว (Verapamil); กลุ่มยาต้านเชื้อราเช่น ยาโครไตรมาโซล (Clotrimazole), ฟูโครนาโซล (Fluconazole), อิทราโครนาโซล (Itraconazole), คีโตโครนาโซล(Ketoconaozle), โวลิโครนาโซล (Voriconazole); ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีกลุ่มโปรติเอส อินฮิบิเตอร์ (Protease inhibitors) เช่น โลปินาเวียร์ (Lopinavir), ริโทรนาเวียร์ (Ritonavir) ฯลฯ; ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโคไลด์/Macrolide เช่น คลาลิโทรไมซิน (Clarithromycin), อิริโทรไมซิน (Erythromycin); ยากระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้เช่น ซิสซาพาย (Cisa pide), เมทโทรโคลพามายด์ (Metoclopramide); ยาชนิดอื่นๆเช่น ดานาซอล (Danazol: ยาฮอร์ โมนรักษาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่), โอมีพราโซล (Omeprazole: ยายับยั้งการหลั่งกรดในกระ เพาะอาหาร), แลนโซพราโซล (Lansoprazole: ยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร) จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน

2. หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอเวอโรลิมัสคู่กับยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACEI (Angiotensin converting enzyme inhibitor) เช่น อีนาลาพลิว (Enalapril), แคปโตพลิว (Captopril), ริสซิโนพลิว (Lisino pril), รามิพลิว (Ramipril) เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแองจิโออีดีมา (Angioedema ซึ่งจะแสดงอาการคือ ปากบวม ตาบวม หน้าบวม และอาจเกิดการบวมในเยื่อบุระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจซึ่งทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจซึ่งอาจจะอันตรายถึงชีวิต/ตาย)

3. เมื่อมีการใช้ยาเอเวอโรลิมัสร่วมกับยาดังต่อไปนี้จะส่งผลลดระดับยาเอเวอโรลิมัสในเลือดได้เช่น ยากันชักเช่น ฟีโนบาร์บีทาล (Phenobarbital), คาร์บามาซีปิน (Carbamazepine), ฟีนีทอย (Phe nytoin); ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ยาต้านวัณโรคเช่น ไรแฟมปินซิน (Rifampicin), ไรฟาบูติน (Rifam butin); และยาชนิดอื่นๆเช่น แคสโปฟังจิน (Caspofungin: ยาฆ่าเชื้อรา), ยาทาโครลิมัส (Tacroli mus: ยากดภูมิต้านทาน), ยาซัยโรลิมัส (Sirolimus: ยากดภูมิต้านทาน) และสมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ธ (St. John's wort: สมุนไพรคลายเครียด) ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน

4. ผู้ป่วยที่กำลังรับเอเวอโรลิมัสอยู่ไม่ควรรับวัคซีนที่ยังมีชีวิต (Live vaccine หมายถึงวัคซีนเชื้อเป็น ที่ถูกผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถทำให้เกิดโรค แต่เชื้อยังมีฤทธิ์เพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ภูมิต้านทานของร่างกายได้เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานต่อเชื้อโรคนั้นๆเช่น วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนโปลิโอชนิดกิน วัคซีนไวรัสโรตา และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดพ่นจมูก เป็นต้น) แก่ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยานี้อยู่เนื่องจากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันฯต่ำ การฉีดวัคซีนอาจได้ผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันน้อยลงและอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อจากวัคซีนชนิดเชื้อเป็นนั้นๆได้

ควรเก็บรักษายาเอเวอโรลิมัสอย่างไร?

แนะนำเก็บยาเอเวอโรลิมัสในบรรจุภัณฑ์เดิม โดยเก็บรักษายา ณ อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้น จากแสงแดดและแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มากเช่น เก็บยาในรถที่ตากแดดหรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง (มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน) ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้นเช่น ห้องน้ำหรือห้องครัว โดยควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาเอเวอโรลิมัสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเอเวอโรลิมัสที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Certican (เซอร์ติแคน) 0.25 mg tablet Novartis
Certican (เซอร์ติแคน) 0.50 mg tablet Novartis
Certican (เซอร์ติแคน) 0.75 mg tablet Novartis
Certican (เซอร์ติแคน) 1.0 mg tabletNovartis
Afinitor (อะฟินิทอร์) 5 mg tablet Novartis
Afinitor (อะฟินิทอร์) 10 mg tablet Novartis

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 21th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2013-14.
  2. Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado
  3. Product Information:Certican: Everolimus. Novartis, Thailand.
  4. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013
  5. โครงการปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี. สมุดประจำตัวผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายอวัยวะและได้รับยากดภูมิต้านทาน. 2558