กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน: เออาร์ดีเอส (ARDS: Acute respiratory distress syndrome)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 5 กรกฎาคม 2563
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- เออาร์ดีเอสเกิดได้อย่างไร?
- เออาร์ดีเอสมีสาเหตุจากอะไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดเออาร์ดีเอส?
- เออาร์ดีเอสมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
- แพทย์วินิจฉัยเออาร์ดีเอสอย่างไร?
- รักษาเออาร์ดีเอสอย่างไร?
- เออาร์ดีเอสมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- เออาร์ดีเอสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันเออาร์ดีเอสอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบหายใจ (Respiratory tract infection)
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ (Pneumothorax)
- สมองขาดออกซิเจน สมองพร่องออกซิเจน (Cerebral hypoxia)
- ภาวะหายใจล้มเหลว (Respiratory failure)
- โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส (Coronavirus infection)
- ซาร์ส (SARS)
- ปอดแฟบ (Atelectasia)
- พังผืดในปอด (Pulmonary fibrosis)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน หรือ กลุ่มอาการหายใจลำบากฉับพลัน (Acute respiratory distress syndrome ย่อว่า เออาร์ดีเอส/ARDS) เป็นกลุ่มอาการรุนแรงทาง ระบบทางเดินหายใจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเฉียบพลัน โดยอาการหลักคือ หายใจลำบาก, หายใจเร็ว, จึงส่ง ผลให้ร่างกาย/อวัยวะต่างๆเกิดภาวะขาดออกซิเจนจากปอดทำงานแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับอากาศได้น้อยลงหรือไม่ได้เลย ซึ่งมักนำไปสู่ภาวะหายใจล้มเหลวและมีโอกาสตายได้สูง และมีไข้ร่วมด้วยกรณีสาเหตุเกิดจากติดเชื้อ
เออาร์ดีเอส/กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลันมักเป็นภาวะที่เกิดในผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลจากมีโรครุนแรงต่างๆ เช่น ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ), โรคปอดบวมที่รุนแรง, หรือผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะปอด, โดยสถิติเกิดกลุ่มอาการนี้แตกต่างกันในแต่ละโรงพยาบาล แต่มีรายงานในแต่ละปี ทั่วไปพบผู้ป่วยกลุ่มอาการนี้ได้ประมาณ 13-23 รายต่อประชากร 1 แสนคน เป็นกลุ่มอาการพบได้ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ แต่พบได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุ ทั้งสองเพศมีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน
เออาร์ดีเอสเกิดได้อย่างไร?
เออาร์ดีเอส/กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลันเกิดจากภาวะที่ของเหลวในหลอดเลือดผนังถุงลมซึมผ่านหลอดเลือดและผนังถุงลมเข้าไปอยู่ในถุงลมแทนที่อากาศ ซึ่งในภาวะปกติหลอดเลือดจะไม่ยอมให้มีการซึมผ่านของของเหลวเข้าไปในถุงลม สิ่งที่จะซึมผ่านได้คือเฉพาะอากาศ แต่ในภาวะที่มีการอักเสบรุนแรงที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ), หรือปอดได้รับอุบัติเหตุรุนแรง, หรือปอดติดเชื้อ/ปอดบวมรุนแรง, จะส่งผลให้เนื้อเยื่อปอดที่รวมถึงหลอดเลือดผนังถุงลมเกิดอักเสบรุนแรงเฉียบพลัน ผนังหลอดเลือดฯที่มีการอักเสบรุนแรงนี้จะยอมให้ของเหลวภายในหลอดเลือดซึมออกมาจากหลอดเลือดและเข้าไปอยู่ในถุงลม (ที่ปกติต้องมีแต่อากาศ) ถุงลมจึงหมดสภาพที่จะบรรจุอากาศหรือที่จะแลกเปลี่ยนอากาศ เพื่อนำออกซิเจนเข้าสู่หลอดเลือด/อวัยวะต่างๆได้ตามปกติ จึงส่งผลให้ปอด/ถุงลมสูญเสียการทำงานเฉียบพลัน/ฉับพลัน ร่างกาย/อวัยวะต่างๆจึงขาดออกซิเจนเฉียบพลัน จึงเกิดอาการหายใจลำบาก/หายใจไม่ออก หายใจเร็ว อันนำสู่อวัยวะต่างๆสูญเสียการทำงานจากขาดอากาศ (ออกซิเจน) เกิดการล้มเหลวของอวัยวะต่างๆที่สำคัญ เช่น ภาวะหายใจล้มเหลว, ภาวะหัวใจล้มเหลว และภาวะสมองขาดออกซิเจน
เออาร์ดีเอสมีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุของเออาร์ดีเอส/กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน เช่น
- ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) โดยเฉพาะที่รุนแรงจนเกิดภาวะช็อก ซึ่งสาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย
- ปอดติดเชื้อรุนแรง เช่น ปอดบวมรุนแรงที่เป็นสาเหตุพบได้บ่อยเช่นกัน
- อุบัติเหตุรุนแรงที่ปอด เช่น จากอุบัติเหตุทางรถยนต์
- การสำลักอาหาร/อาเจียนเข้าไปในปอด
- ผลข้างเคียงจากกินยาบางชนิดเกินขนาด เช่น ยานอนหลับ, ยาต้านเศร้าบางชนิด
- โรคตับอ่อนอักเสบที่รุนแรง
- ได้รับการให้เลือดในปริมาณมาก
- จมน้ำ
- ได้รับควันพิษรุนแรง
- ไฟลวกหรือน้ำร้อนลวกที่รุนแรง
- เสพสารเสพติดเกินขนาด
- ผลข้างเคียงจากการปลูกถ่ายปอด
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดเออาร์ดีเอส?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดเออาร์ดีเอส/กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน ได้แก่
- ผู้สูงอายุ
- สูบบุหรี่
- ดื่มสุรา
- มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคปอด
เออาร์ดีเอสมีอาการอย่างไร?
อาการของเออาร์ดีเอส/กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลันที่พบบ่อย ได้แก่
- หอบ เหนื่อยมาก
- หายใจลำบาก
- เจ็บหน้าอกเมื่อหายใจเข้า-ออก
- หายใจเร็ว
- อ่อนเพลียมาก
- ชีพจรเร็ว
- สับสน
- กระสับกระส่าย
- ความดันโลหิตต่ำ
- มีไข้ เมื่อสาเหตุมาจากการติดเชื้อ
- ไอ มีเสมหะ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
โดยทั่วไปผู้ป่วยด้วยกลุ่มอาการนี้มักเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลอยู่แล้วด้วยโรค/ภาวะที่เป็นสาเหตุ อย่างไรก็ตามถ้าเป็นผู้ป่วยที่ดูแลตนเองที่บ้าน เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
แพทย์วินิจฉัยเออาร์ดีเอสอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยเออาร์ดีเอส/กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลันได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วยในปัจจุบัน สาเหตุของการเจ็บป่วยในปัจจุบันและในอดีต ประวัติการใช้ยาต่างๆ การเสพสารเสพติด และปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวใน ‘หัวข้อ สาเหตุฯ’ และ ‘หัวข้อปัจจัยเสี่ยงฯ’
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน)
- ตรวจเลือดดู ค่าออกซิเจน, ค่าคาร์บอนไดออกไซด์, ค่าความเป็นกรดด่าง
- การตรวจเชื้อและการเพาะเชื้อจากเลือด, และอาจจากปัสสาวะ (กรณีสงสัยสาเหตุโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ )
- การตรวจเชื้อ การเพาะเชื้อจากเสมหะ
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจีดูการทำงานของหัวใจ
- อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจภาพสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ ถ้าผู้ป่วยมีอาการทางสมอง เป็นต้น
รักษาเออาร์ดีเอสอย่างไร?
ไม่มีวิธีรักษาที่เป็นวิธีเฉพาะสำหรับเออาร์ดีเอส/กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน แนวทางการรักษาที่สำคัญคือ การรักษา ตามอาการ โดยเฉพาะการดูแลการหายใจเพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น การให้ผู้ป่วยหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจร่วมกับการให้ออกซิเจน
และเนื่องจากผู้ป่วยจะเหนื่อยหอบมาก สับสน กระสับกระส่าย ดังนั้นเพื่อลดอาการเหนื่อยหอบ และลดการใช้ออกซิเจนของร่างกาย การรักษาจึงมักให้ยาเพื่อให้ผู้ป่วยสงบ เช่น ยานอนหลับ
นอกจากนั้น:
- ผู้ป่วยมักได้รับการงดอาหารทางปาก โดยการให้อาหาร สารน้ำ และเกลือแร่ ทางหลอดเลือดดำแทน
- และร่วมกับการทำกายภาพฟื้นฟูการทำงานของปอดเพื่อกำจัดเสมหะและเพื่อกระตุ้นให้ปอดขยายตัวได้ปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด ลดโอกาสเกิดภาวะปอดแฟบ และลดภาวะมีของเหลวในถุงลมมากจนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะปอดแตก/ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศติดตามมา
ที่สำคัญอีกประการ คือการรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดเออาร์ดีเอส เช่น
- การให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด (ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด) หรือปอดบวมจากติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น
- ร่วมกับการรักษาอื่นๆตามอาการผู้ป่วยและตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น ยาลดไข้, ยาแก้ปวด, ยาละลายเสมหะ
อนึ่ง เออาร์ดีเอสเป็นกลุ่มอาการที่รุนแรง ต้องการการดูแลต่อเนื่องโดยเฉพาะในเรื่องการหายใจ ผู้ป่วยจึงมักได้รับการรักษาดูแลในหอผู้ป่วยวิกฤติ/ไอซียู (ICU: Intensive care unit)จนกว่าผู้ป่วยพอดูแลตนเองได้และ/หรือความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจน้อยลง แพทย์จึงจะย้ายผู้ป่วยมาดูแลต่อในหอผู้ป่วยทั่วไป หรืออนุญาตให้กลับมาดูแลตนเองที่บ้าน
เออาร์ดีเอสมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากเออาร์ดีเอส/กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน ได้แก่
- ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ/ ภาวะปอดแตก: ที่อาจเกิดจากโรคที่เป็นสาเหตุเอง หรือ จากผลข้างเคียงของการใช้เครื่องช่วยหายใจ
- ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ: จากการไหลเวียนโลหิตไม่ดีเพราะต้องนอนนานๆ ตลอดเวลาในเตียง
- ภาวะติดเชื้อในอวัยวะต่างๆ: จากการต้องนอนติดเตียงนานๆ เช่น การติดเชื้อ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
- เนื้อเยื่อปอดฟื้นตัวไม่ได้เต็มที่เมื่อหายจากโรคแล้ว จึงเกิดภาวะปอดทำงานได้น้อยลง ส่งผลให้หอบเหนื่อยได้ง่ายเมื่อออกแรง คุณภาพขีวิตจึงลดลง
- หลังการฟื้นตัว บางคนเนื้อเยื่อปอดอาจเกิดเป็นพังผืด/โรคพังผืดในปอด(Pulmonary fibrosis) ส่งผลให้ปอดทำงานได้ลดลง
- สมองบางส่วนที่เคยขาดออกซิเจนฟื้นตัวไม่เต็มที่หลังรักษาหายแล้ว ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการทางสมอง เช่น ความเข้าใจ ความจำ ลดลง, และมักมีอาการซึมเศร้าตลอดไป
เออาร์ดีเอสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
เออาร์ดีเอส/กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลันเป็นกลุ่มอาการที่มีความรุนแรงสูง จึงมักมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี ทั้งนี้ถึงแม้ผู้ป่วยตอบสนองได้ดีต่อการรักษา แต่ก็มีรายงานอัตราตายได้ประมาณ 30% ส่วนผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษาได้ไม่ดี มีรายงานอัตราตายประมาณ 70%
ทั้งนี้นอกจากธรรมชาติของโรคเองแล้ว การพยากรณ์โรคยังขึ้นกับอีกหลายปัจจัย ที่สำคัญเช่น
- อายุ: ยิ่งสูงอายุ การพยากรณ์โรคยิ่งไม่ดี
- สาเหตุของกลุ่มอาการ: ถ้าสาเหตุเกิดจากอุบัติเหตุ การพยากรณ์โรคจะดีกว่าสาเหตุอื่นๆโดยเฉพาะที่เกิดจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด การพยากรณ์โรคจะเลวที่สุด
- การเกิดผลข้างเคียง: เมื่อมีผลข้างเคียงเกิดขึ้น การพยากรณ์โรคยิ่งไม่ดี
- โรคร่วมต่างๆหรือโรคประจำตัวผู้ป่วย: ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว การพยากรณ์โรคไม่ดีโดย เฉพาะโรคประจำตัวที่เป็นโรคปอด
*อนึ่ง ผู้ป่วยกลุ่มอาการนี้ที่รักษาได้หายแล้ว มักยังคงมีความเสียหายจากอวัยวะต่างๆที่ขาดออกซิเจนหลงเหลืออยู่เสมอตลอดไป ซึ่งส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เช่น ภาวะ/โรคพังผืดในปอด
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยด้วยกลุ่มอาการเออาร์ดีเอส/กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลันและแพทย์อนุญาตให้กลับมาดูแลตนเองที่บ้านได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อซ้ำและเพื่อให้มีสุข ภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี
- พักผ่อนให้พอเพียง
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตามแพทย์/พยาบาล/นักกายภาพบำบัดแนะนำ
- ทำกายภาพฟื้นฟูปอดสม่ำเสมอ ตามแพทย์/พยาบาล/นักกายภาพแนะนำ ซึ่งอาจจำเป็น ต้องทำตลอดไป ขึ้นกับว่าปอดเสียหายจากโรคมากหรือน้อย
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
- เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
- เลิกสุรา ไม่ดื่มสุรา
- รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อ/โรคติดเชื้อต่างๆตามแพทย์ผู้รักษาแนะนำ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัด
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
ผู้ป่วยเออาร์ดีเอส/กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลันที่แพทย์ให้กลับมาดูแลตนเองที่บ้าน ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น หอบเหนื่อยมากขึ้น ไอมากขึ้น
- อาการที่หายดีแล้ว กลับมามีอาการอีก เช่น มีไข้ มีเสมหะมากขึ้นและ/หรือสีเสมหะเปลี่ยน จากสีขาวเป็นสีอื่นเช่น เขียว เหลือง ฯลฯ และ/หรือมีกลิ่นเหม็น
- มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ไอเป็นเลือด, ชัก
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันเออาร์ดีเอสอย่างไร?
การป้องกันกลุ่มอาการเออาร์ดีเอส/กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลันเป็นเรื่องค่อนข้างยาก แต่อย่างไรก็ตาม ทั่วๆไปการป้องกันคือ การป้องกันสาเหตุ (ดังกล่าวใน ‘หัวข้อ สาเหตุฯ’) ที่เป็นสาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น
- ไม่ใช้สารเสพติด
- ระมัดระวังอุบัติเหตุต่างๆโดยเฉพาะการว่ายน้ำ
- ระมัดระวังการใช้ยาต่างๆโดยเฉพาะยาที่เกี่ยวข้องกับด้านอารมณ์/จิตใจ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี
บรรณานุกรม
- Fanelli, V. et al. (2013). J Thorac Dis. 5, 326-334.
- Saguil, A. et al. (2012). Am Fam Physician.85, 352-358
- Terzi, E. et al. (2014). J Thorac Dis. 6, s 435-442.
- https://emedicine.medscape.com/article/165139-overview#showall [2020,July4]
- https://jintensivecare.biomedcentral.com/track/pdf/10.1186/2052-0492-2-2 [2020,July4]
- http://www.jci.org/articles/view/60331 [2020,July4]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Acute_respiratory_distress_syndrome [2020,July4]