เออร์โกทิซึม หรือ ภาวะความเป็นพิษจากสารในกลุ่มเออร์โกลีน (Ergotism)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เดิมที ภาวะพิษจากสาร/ยาในกลุ่มเออร์โกลีน(Ergoline หรือ Ergot alkaloid หรือเรียกสั้นๆว่า Ergot/เออร์กอต) เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารเออร์โกทามีน(Ergotamine) ผ่านการรับประทานข้าวไรย์ (Rye) และข้าวสาลี (Wheat) ที่มีการปนเปื้อนของเชื้อรา ชนิด Claviceps purpurea (ราชนิดหนึ่งในตระกูลราเออร์กอต) ราจำพวกนี้จะสร้างสารในกลุ่มเออร์โกลีน (Ergoline) ประกอบไปด้วยสารอนุพันธ์หลายชนิด สารอนุพันธ์ที่มีความสามารถทำให้เกิดภาวะพิษ ได้แก่ สารเออร์โกทามีน (Ergotamine) สารเมธิลเออร์โกเมทรีน (Methylergometrine/ Methylergonovine) และสารเออร์โกท็อกซีน (Ergotoxine) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว

ความสามารถในการทำให้หลอดเลือดหดตัวของยา/สารเออร์โกทามีนนั้น ส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย ยิ่งในผู้ที่ได้รับสารนี้ในปริมาณสูงจะทำให้เกิดพิษ ที่ประกอบไปด้วยอาการ เช่น อาการปวดเกร็ง/ปวดบิดท้อง ท้องเสีย ชัก ความรู้สึกสัมผัสผิดเพี้ยน รวมไปถึงการตายของเนื้อเยื่อส่วนปลายของร่างกาย เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้า มือ เท้า จากการที่เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวได้เนื่องจากหลอดเลือดส่วนปลายหดตัวอย่างมาก

ปัจจุบัน สารในกลุ่มเออร์โกลีน ได้มีการนำมาพัฒนาเป็นยาต่างๆ ได้แก่ ยาเออร์โกทามีน (Ergotamine) และยาไดไฮโดรเออร์โกทามีน (Dihydroergotamine) ที่มีคุณสมบัติหดกล้ามเนื้อของหลอดเลือด ซึ่งเชื่อว่าสามารถช่วยรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนได้, ยาเออร์โกโนวีน (Ergonovine) ซึ่งใช้ในการรักษาภาวะเลือดไหลในภาวะแท้งบุตร, และยาเมธิลเออร์โกโนวีน (Methlyergonovine) ที่ใช้ในการป้องกันภาวะเลือดออกหรือตกเลือด (Hemorrhage) ซึ่งโดยทั่วไป ขนาดยาที่แนะนำให้ใช้ทางการแพทย์ จะมีความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ยาเหล่านี้ อย่างไรก็ดี หากผู้ป่วยที่มีความไว (Sensitive) ต่อตัวยาเหล่านี้สูง หรือได้รับยา/สารเหล่านี้ในปริมาณเกินกว่าที่แพทย์แนะนำ อาจก่อให้เกิดภาวะความเป็นพิษจากสาร/ยาในกลุ่มเออร์โกลีนได้ ที่เรียกว่า ภาวะ “เออร์โกทิซึม(Ergotism)” ซึ่งภาวะเออร์โกทิซึมนี้ เป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก พบได้ทั่วโลก ในทุกเพศ และในทุกวัย

เออร์โกทิซึมมีสาเหตุมาจากอะไร?

เออร์โกทิซึม

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า สาร/ยาจำพวกเออร์โกลีน (Ergoline หรือ Ergot) มีหลายอนุพันธ์ แต่อนุพันธ์ที่มีฤทธิ์จนเป็นสาเหตุให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดจนเกิดความเป็นพิษต่อร่างกายที่เรียกว่า เออร์โกทิซึม/ภาวะความเป็นพิษจากสารในกลุ่มเออร์โกลีน ได้แก่ สารเออร์โกทามีน (Ergotamine) สารเมธิลเออร์โกเมทรีน (Methylergometrine) และสารเออร์โกท็อกซีน (Ergotoxine) ซึ่งร่างกายอาจได้รับสารเหล่านี้โดยตรงในปริมาณมากพอที่จะทำให้เกิดพิษ เช่น จากการรับประทานยาบางชนิดที่มีส่วนผสมของสารเออร์โกทามีนเกินขนาด เช่น ยาคาร์เฟอร์กอต (Cafergot) ซึ่งเป็นยารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน หรือการรับประทานธัญพืชที่มีการปนเปื้อนของเชื้อรา Claviceps purpurea รวมไปถึงการได้รับสารนี้ผ่านทางน้ำนมของแม่สู่ลูกที่ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อลูกได้

เออร์โกทิซึมมีอาการอย่างไร?

เออร์โกทิซึม/ความเป็นพิษจากสารในกลุ่มเออร์โกลีน จะก่อให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ซึ่งหนึ่งในกล้ามเนื้อเรียบที่สำคัญคือ กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด ทางการแพทย์จึงมีการนำสารในกลุ่มเออร์โกลีน คือ เออร์โกทามีนมาใช้ในทางการแพทย์ เช่น

1. ยาเออร์โกทามีน (Ergotamine) และยาไดไฮโดรเออร์โกทามีน (Dihydroergotamine) ที่ใช้รักษาอากาปวดศีรษะไมเกรน

2. ยาเออร์โกโนวีน (Ergonovine) ใช้ในการรักษาภาวะเลือดไหลในภาวะแท้งบุตร

3. ยาเมธิลเออร์โกโนวีน (Methylergonovine) ที่ใช้ในการป้องกันภาวะเลือดออกหรือตกเลือด (Hemorrhage)

หากได้รับสาร/ยาเหล่านี้ในปริมาณสูง จะเกิดพิษ/อาการผิดปกติของร่างกาย ซึ่งอาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • เกิดความเปลี่ยนแปลงภาวะทางจิตใจ เช่น อาการสับสน มึนงง
  • อาการชัก
  • อาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อ(เป็นตะคริว) โดยเฉพาะบริเวณ ขา แขน
  • ท้องเสีย
  • ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • คันตามเนื้อตัว
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เส้นเลือด/หลอดเลือดส่วนปลาย(หลอดเลือดแขน ขา)จะเกิดการหดตัวอย่างมาก ทำให้เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงได้ เกิดเนื้อตายเน่า(Gangrene) ของ เนื้อเยื่อส่วนปลายร่างกาย คือ นิ้วมือ นิ้วเท้า ตามด้วยมือ และเท้า

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดเออร์โกทิซึม?

ทางคลินิก ผู้ที่มีความเสี่ยง/ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดเออร์โกทิซึม/ภาวะพิษจากสารในกลุ่มเออร์โกลีน ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้ยาต่างๆที่มีส่วนประกอบของสารในกลุ่มเออร์โกลีน/เออร์กอต เช่น ยาเออร์โกทามีน (Ergotamine) ยาไดไฮโดรเออร์โกทามีน(Dihydroergotamine) ยาเออร์โกโนวีน (Ergonovine) และยาเมธิลเออร์โกโนวีน (Methylergonovine) โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับยาเหล่านี้ในปริมาณที่สูงกว่าที่แพทย์กำหนด หรือผู้ที่รับประทานข้าวต่างๆ เช่น ข้าวไรย์ (Rye) หรือธัญพืชที่มีการปนเปื้อนของเชื้อราจำพวกเออร์กอต/Ergot (g=nhvikClaviceps purpurea)

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

หากคุณมีอาการดังที่กล่าวไปข้างต้นในหัวข้อ”อาการฯ” โดยเฉพาะภายหลังการทานยาบางชนิด เช่น ยาเออร์โกทามีน หรือทานธัญหารที่สงสัยว่ามีสารจำพวกเออร์โกลีน/เออร์กอต ปนเปื้อนอยู่ ให้เข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

แพทย์วินิจฉัยเออร์โกทิซึมได้อย่างไร?

แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัย เออร์โกทิซึม/ภาวะความเป็นพิษจากสารในกลุ่มเออร์โกลีนได้จาก ประวัติการใช้ ยาต่างๆ(โดยเฉพาะยาในกลุ่มเออร์กอต) สารเคมีต่างๆ การทานธัญพืชชนิดที่อาจมีความเสี่ยงในการปนเปื้อนสารจำพวกเออร์โกลีน/เออร์กอต ร่วมกับ การตรวจร่างกาย โดยเฉพาะการตรวจ มือ เท้า ว่ามีเนื้อตายเน่าหรือไม่ (เนื้อเยื่อ นิ้ว มือ เท้า จะเปลี่ยนเป็นสีดำ) และการมีอาการอื่นๆของผู้ป่วย(ดังได้กล่าวในบทความนี้ ในหัวข้อ “อาการฯ”) ร่วมกับการตรวจความดันโลหิตที่จะพบว่า ผู้ป่วยจะมีความดันโลหิตผิดปกติ(อาจสูงหรือต่ำก็ได้) นอกจากนั้น อาจมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม ซึ่งขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา เช่น การตรวจทางรังสีวินิจฉัยของหลอดเลือด มือ เท้า ด้วยวิธีฉีดสีเข้าไปในหลอดเลือดแดง ที่เรียกว่า Angiography เพื่อวินิจฉัยว่า มีการหดตัวของหลอดเลือดแดงหรือไม่

รักษาเออร์โกทิซึมอย่างไร?

ปัจจุบัน การรักษาเออร์โกทิซึม/ภาวะความเป็นพิษจากสารในกลุ่มเออร์โกลีน ไม่ได้มีคำแนะนำหรือแนวทางในการรักษาที่ชัดเจนดังเช่นโรคอื่นๆเนื่องจากเป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก อย่างไรก็ดี แนวการรักษาโดยทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ ไม่มียารักษาเฉพาะเจาะจงสำหรับภาวะเออร์โกทิซึม เช่น

  • ในส่วนของอาการจากระบบประสาทส่วนกลางที่เออร์โกทิซึมทำให้เกิดอาการมึนงง และ/หรือสับสน ที่มีความเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทชนิดโดพามีน (Dopamine)นั้น แพทย์อาจพิจารณาให้ยาโดพามีน (Dopamine)ช่วย
  • ในส่วนอาการจากการหดตัวของหลอดเลือดส่วนปลาย แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาต่างๆที่มีคุณสมบัติในการขยายหลอดเลือด เช่น อาจพิจารณาใช้ ยาโซเดียมไนโทรพรัสไซด์ (Sodium Nitroprusside) หรือยา Nifedipine เป็นต้น
  • นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาเฮพาริน (Heparin) ร่วมด้วยก็ได้ หากพบว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดขึ้นในหลอดเลือดจนอาจอุดตันหลอดเลือด ทั้งนี้เพื่อช่วยให้การไหลเวียนเลือดโดยเฉพาะใน เนื้อเยื่อส่วนปลายดีขึ้นจนกลับเป็นปกติ

เออร์โกทิซึมก่อผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?

การพยากรณ์โรคกรณีเกิดภาวะเออร์โกทิซึม/ภาวะความเป็นพิษจากสารในกลุ่มเออร์โกลีน หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที เนื้อเยื่อส่วนปลายโดยเฉพาะนิ้วมือ นิ้วเท้า มือ และเท้า อาจตายเน่าได้ ซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียอวัยวะ(การรักษากรณีอาการรุนแรง คือ การตัดนิ้ว หรือตัด แขน ขา) และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม ภาวะนี้อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ถ้าเกิดการหดตัวอย่างรุนแรงของหลอดเลือดหัวใจที่นำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่รุนแรง

การพยากรณ์ของโรคของเออร์โกทิซึมเป็นอย่างไร?

เนื่องจาก เออร์โกทิซึม/ภาวะความเป็นพิษจากสารในกลุ่มเออร์โกลีน เป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก จึงไม่สามารถศึกษาการพยากรณ์โรคในภาพรวมได้ อย่างไรก็ตามการพยากรณ์โรคของภาวะนี้ จะขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ความรุนแรงของอาการ โรคประจำตัวของผู้ป่วย สภาพการทำงานของตับและของไต ขนาดที่ผู้ป่วยได้รับของสาร/ยาที่เป็นสาเหตุ และการมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเร็วหรือช้า ดังนั้น การพยากรณ์โรคของผู้ป่วยจึงแตกต่างกันเป็นรายบุคคล ตั้งแต่ เป็นภาวะที่สามารถรักษาให้หายได้เมื่อผู้ป่วยมีอาการน้อย, ผู้ป่วยอาจต้องถูกตัด นิ้ว มือ หรือเท้า กรณีมีเนื้อเน่าตายของเนื้อเยื่อเหล่านั้น, ไปจนถึงผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้หากอวัยวะสำคัญเกิดภาวะขาดเลือดรุนแรง เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไร?

ผู้ป่วยที่เกิดเออร์โกทิซึม/ภาวะความเป็นพิษจากสารในกลุ่มเออร์โกลีน ควรดูแลตนเอง ดังนี้

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
  • ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่มีส่วนประกอบของสารอนุพันธ์ในกลุ่มเออร์โกลีน/เออร์กอต เนื่องจากยาเหล่านั้นมีคุณสมบัติในการกระตุ้นภาวะความเป็นพิษได้ และภาวะนี้สามารถเกิดเป็นซ้ำได้เสมอหลังการรักษาแล้ว ดังนั้นหากจำเป็นต้องใช้ยาต่างๆรวมถึงยากลุ่มนี้ ควรใช้เมื่อแพทย์สั่งจ่ายและใช้ด้วยความระมัดระวัง รวมถึงไม่ซื้อยาต่างๆใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ผู้ป่วยเออร์โกทิซึม/ภาวะความเป็นพิษจากสารในกลุ่มเออร์โกลีน ควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น ปวดศีรษะมากขึ้น ชักบ่อยขึ้น
  • กลับมามีอาการเดิมอีก เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ชัก
  • มีผลข้างเคียงที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันจากยาต่างๆที่แพทย์สั่ง เช่น เป็นลมบ่อย วิงเวียนมาก
  • กังวลในอาการ

ป้องกันเออร์โกทิซึมได้อย่างไร?

เออร์โกทิซึม/ภาวะความเป็นพิษจากสารในกลุ่มเออร์โกลีน สามารถป้องกันได้โดย

  • หากได้รับยาที่มีส่วนประกอบของอนุพันธ์ของสารเออร์โกลีนดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ควรใช้ยาเหล่านั้นด้วยความระมัดระวัง ไม่ทานยาเกินขนาดที่แพทย์สั่งหรือที่เภสัชกรแนะนำ หมั่นสังเกตอาการๆของภาวะความเป็นพิษนี้(ดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ”) หากเกิดขึ้นให้รีบเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
  • ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาในกลุ่มเออร์กอต) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. C. Craig Merhoff, John M. Porter. Ergot Intoxication: Historical Review and Description od Unusual Clinical Manifestations. Ann Surg. November 1974. http://ergotism.info/en/mernoff_ergotism.pdf [2016,Nov26]
  2. Dierckx RA, Peters O, Ebinger G, Six R, Corne L. Intraarterial sodium nitroprusside infusion in the treatment of severe ergotism. Clin Neuropharmacol. 1986;9(6):542-8.
  3. Ergot Alkaloid. Human Toxicity Excerpts. https://toxnet.nlm.nih.gov/cgi-bin/sis/search/a?dbs+hsdb:@term+@DOCNO+1943 [2016,Nov26]
  4. Gary D. Osweiler. Ergotism. The Merch Veterinary Manual.
  5. Schulz V. Treatment of Ergotism. Fortschr Med. 1984 Feb 23;102(8):189-91.
  6. O'Dell CW, Davis GB, Johnson AD, Safdi MA, Brant-Zawadzki M, Bookstein JJ. Sodium nitroprusside in the treatment of ergotism. Radiology. 1977 Jul;124(1):73-4.
  7. Wiesmann, W.; Peters, P.E.; Irskens, U.; Schwering, H.; Muenster Univ. Diagnosis and treatment of ergotism following Heparin-DHE thrombosis prophylaxis. RoeFo - Fortschritte auf dem Gebiete der Roentgenstrahlen und der Nuklearmedizin. 147(4); 446-449.