เออร์ทาเพเนม (Ertapenem)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเออร์ทาเพเนม(Ertapenem หรือ Ertapenem sodium) เป็นยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างขวางอยู่ในกลุ่มยาคาร์บาเพเนม (Carbapenem) สามารถออกฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรียชนิดแกรมบวกและแกรมลบ แต่ไม่สามารถนำมารักษาการ ติดเชื้อสแตฟฟิโลคอกคัส ออเรียส ที่ดื้อต่อยาเมธิซิลิน (Methicillin-resistant Staphylococcus aureus ,MRSA) รวมถึงการติดเชื้อ Ampicillin-resistant enterococci Pseudomonas aeruginosa หรือการติดเชื้อ Acinetobacter species

ยาเออร์ทาเพเนมมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด สามารถฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อก็ได้ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงเพื่อกำจัดตัวยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ และบางส่วนไปกับอุจจาระ ทางคลินิกจะใช้ยานี้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีความรุนแรงระดับปานกลางไปจนกระทั่งระดับรุนแรงมาก อย่างเช่น การติดเชื้อในช่องท้อง การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน การติดเชื้อที่ปอด/ปอดอักเสบ ที่ไต ที่ผิวหนัง ที่ระบบเดินปัสสาวะ(โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ) และยังใช้เป็นยาป้องกันการติดเชื้อขณะผ่าตัดลำไส้ใหญ่และทวารหนักอีกด้วย โดยทั่วไป แพทย์จะให้ยานี้กับผู้ป่วย วันละ1 ครั้งต่อเนื่องจนกระทั่งครบเทอมการรักษา

แพทย์จะหลีกเลี่ยงการใช้ยาเออร์ทาเพเนมกับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และแพ้ยาในกลุ่มเบต้า-แลคแทม (Beta-lactam antibiotic) หรือผู้ป่วยมีการใช้ยา Probenecid ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากเออร์ทาเพเนมเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ยังมีข้อมูลด้านความปลอดภัยของการใช้ยาเออร์ทาเพเนมหลายประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังต่อไปนี้ เช่น

  • ยาเออร์ทาเพเนมเป็นยาต่อต้านแบคทีเรีย ห้ามนำมาใช้รักษาโรคที่มีการติดเชื้อไวรัส
  • หากพบอาการวิงเวียนหลังใช้ยานี้ ต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานต่างๆ หรือการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • การใช้เออร์ทาเพเนมอาจพบอาการถ่ายเหลวเล็กน้อย กรณีพบอาการถ่ายเหลว/ท้องเสียรุนแรง อุจจาระมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด ช่องท้องเกิดตะคริว ห้ามมิให้ผู้ป่วยรักษาอาการท้องเสียด้วยตนเอง ต้องรีบแจ้งแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • การใช้ยาเออร์ทาเพเนมเป็นเวลานานเกินไป อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ไม่ตอบสนองกับยานี้ เช่น เชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเปลี่ยนแปลงการใช้ยาปฏิชีวนะกับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมที่สุด
  • การตรวจสอบการทำงานของไต ของตับ จำนวนเม็ดเลือด(การตรวจ CBC) เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปฏิบัติควบคู่กับการใช้ยาชนิดนี้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการตรวจสอบผลข้างเคียงของยานี้ที่เกิดกับอวัยวะของร่างกายดังกล่าว
  • การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะแพ้ยาหรือเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • ห้ามใช้ยาเออร์ทาเพเนมกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 เดือนลงมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเออร์ทาเพเนมกับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เพื่อป้องกันการส่งผ่านยานี้ไปถึงตัวทารก การจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้หรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์แต่ผู้เดียว

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาเออร์ทาเพเนมลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และระบุเงื่อนไขการใช้ยาดังนี้ “ใช้เป็น Documented therapy(รู้เชื้อที่เป็นสาเหตุแล้ว) สำหรับเชื้อ Enterobacteriaceae ที่สร้าง Extended Spectrum Beta-Lactamase (ESBL) หรือเชื้อ Enterobacteriaceae ที่ดื้อต่อยา Cephalosporins รุ่นที่ 3 (Ceftriazone, Cefotaxime, Ceftazidime) และไวต่อยากลุ่ม Carbapenems “

ยาเออร์ทาเพเนมจัดอยู่ในประเภทยาอันตราย การใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น และในประเทศไทยเราจะพบเห็นยาเออร์ทาเพเนมถูกจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Invanz”

เออร์ทาเพเนมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เออร์ทาเพเนม

ยาเออร์ทาเพเนมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียตามอวัยวะต่างๆที่ตอบสนองต่อยาเออร์ทาเพเนม เช่น

  • การติดเชื้อในช่องท้อง
  • การติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน
  • ปอดบวม
  • กรวยไตอักเสบ
  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง
  • ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย เมื่อต้องเข้ารับการผ่าตัดลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

เออร์ทาเพเนมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเออร์ทาเพเนมมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถกระจายพันธุ์และตายลงในที่สุด

เออร์ทาเพเนมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเออร์ทาเพเนมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น

  • ยาฉีดชนิดผงปราศจากเชื้อที่ต้องละลายในสารละลายยาก่อนการใช้ยานี้ ที่ประกอบด้วยยา Ertapenem sodium ขนาด 1 กรัม/ขวด(Vial)

เออร์ทาเพเนมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเออร์ทาเพเนม มีขนาดการบริหารยา เช่น

ก.สำหรับการติดเชื้อในช่องท้อง:

  • ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป: ฉีดยาขนาด 1 กรัม เข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อวันละ1ครั้ง เป็นเวลา 5–14 วัน
  • เด็กอายุ 3 เดือน – 12 ปี: ฉีดยา 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อทุก 12 ชั่วโมง ขนาดการใช้ยาสูงสุดต้องไม่เกิน 1 กรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน: การใช้ยานี้อยู่ในดุลพินิจชองแพทย์เป็นกรณีๆไป

ข.สำหรับการติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน:

  • ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป: ฉีดยาขนาด 1 กรัม เข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อวันละ1ครั้ง เป็นเวลา 3–10 วัน
  • เด็กอายุ 3 เดือน – 12 ปี: ฉีดยา 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อ ทุก 12 ชั่วโมง ขนาดการใช้ยาสูงสุดต้องไม่เกิน 1 กรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน: การใช้ยานี้อยู่ในดุลพินิจชองแพทย์เป็นกรณีๆไป

ค.สำหรับกรวยไตอักเสบและการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ:

  • ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป: ฉีดยาขนาด 1 กรัม เข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อวันละ1ครั้ง เป็นเวลา 10–14 วัน
  • เด็กอายุ 3 เดือน – 12 ปี: ฉีดยา 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อ ทุก 12 ชั่วโมง ขนาดการใช้ยาสูงสุดต้องไม่เกิน 1 กรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน: การใช้ยานี้อยู่ในดุลพินิจชองแพทย์เป็นกรณีๆไป

ง.สำหรับการติดเชื้อที่ผิวหนัง:

  • ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป: ฉีดยาขนาด 1 กรัม เข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อ วันละ1ครั้ง เป็นเวลา 7–14 วัน
  • เด็กอายุ 3 เดือน – 12 ปี: ฉีดยา 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อ ทุก 12 ชั่วโมง ขนาดการใช้ยาสูงสุดต้องไม่เกิน 1 กรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน: การใช้ยานี้อยู่ในดุลพินิจชองแพทย์เป็นกรณีๆไป

จ.สำหรับป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียก่อนเข้ารับการผ่าตัดลำไส้ใหญ่และทวารหนัก:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาขนาด 1 กรัม เข้าหลอดเลือดดำ 1 ครั้ง ก่อนเข้ารับการผ่าตัดลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 1 ชั่วโมง
  • เด็ก: การใช้ยานี้อยู่ในดุลพินิจชองแพทย์เป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเออร์ทาเพเนม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเออร์ทาเพเนม อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมฉีดยาเออร์ทาเพเนม สามารถฉีดยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น2 เท่า ให้ใช้ยาขนาดปกติ

เออร์ทาเพเนมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเออร์ทาเพเนมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้ ปวดท้อง เบื่ออาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ ปากแห้ง เกิดริดสีดวงทวาร อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน นอนไม่หลับ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิด ระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ปอดบวม ไอ คออักเสบ หอบหืด
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคันตามผิวหนัง เหงื่ออกมาก ลมพิษ
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น เป็นตะคริว ปวดขา กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะขาดน้ำ น้ำหนักตัวลด เกลือโปแตสเซียมในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูง น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้น ฮีโมโกลบินต่ำลง เกิดภาวะเลือดจาง การแข็งตัวของเลือดต่ำลง
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือสูง หัวใจวาย หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล กระสับกระส่าย ซึม ประสาทหลอน
  • อื่นๆ: เช่น ช่องคลอดอักเสบในสตรี

มีข้อควรระวังการใช้เออร์ทาเพเนมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเออร์ทาเพเนม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป
  • ห้ามใช้ยานี้ต่อเนื่องนานเกินไป ต้องใช้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น
  • ต้องใช้ยานี้จนครบเทอมการรักษาเสมอตามแพทย์สั่ง ถึงแม้จะมีอาการป่วยดีขึ้น
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการท้องเสียรุนแรง ตัวบวม หอบหืด หรือผื่นคันขึ้นเต็มตัว แล้วรีบแจ้งแพทย์/นำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเออร์ทาเพเนมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เออร์ทาเพเนมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเออร์ทาเพเนมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเออร์ทาเพเนมร่วมกับยา Tramadol อาจเป็นเหตุให้เกิดอาการชัก โดยเฉพาะใน ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ที่ติดสุรา หรือ ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก อยู่แล้ว หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้เออร์ทาเพเนมร่วมกับยา Divalproex(ยากันชัก) หรือ Valproic acid ด้วยยาเออร์ทาเพเนมสามารถทำให้ประสิทธิภาพของยา Divalproex หรือยา Valproic acid ด้อยลงไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเออร์ทาเพเนมร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด อย่างเช่นยา Ethinyl estradiol ด้วยยาเออร์ทาเพเนมจะทำให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดของยา Ethinyl estradiol ต่ำลง

ควรเก็บรักษาเออร์ทาเพเนมอย่างไร?

เก็บยาเออร์ทาเพเนม ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เออร์ทาเพเนมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเออร์ทาเพเนมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Invanz (อินแวนซ์)MSD

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/invanz/?type=brief[2017,June10]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/ertapenem/?type=brief&mtype=generic[2017,June10]
  3. https://www.drugs.com/cdi/ertapenem.html[2017,June10]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/ertapenem-index.html?filter=3&generic_only=[2017,June10]
  5. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/85#item-10246[2017,June10]