เอสโมลอล (Esmolol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเอสโมลอล (Esmolol หรือ Esmolol hydrochloride) เป็นยาในกลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta-blocker) มีรูปแบบเป็นยาฉีดที่ออกฤทธิ์ได้เร็วโดยใช้เวลาเพียงประมาณ 2 - 10 นาทีหลังได้รับยานี้ทางหลอดเลือดดำ และมีช่วงระยะเวลาที่ออกฤทธิ์สั้นคือประมาณ 10 - 30 นาทีเท่านั้น ตัวยานี้ในกระแสเลือดจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 55% และเกิดการทำลายยาโดยเม็ดเลือดแดงก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ สรรพคุณของยาเอสโมลอลจะทำหน้าที่ลดภาระการทำงานของหัวใจช่วยให้มีการเต้นในจังหวะที่เหมาะสมและเป็นปกติมากขึ้น

มีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาเอสโมลอลได้อย่างเช่น

  • เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาเอสโมลอล
  • ผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้น, ภาวะหัวใจล้มเหลวในระดับกลางจนถึงระดับรุนแรง, มีภาวะช็อกด้วยโรคหัวใจ, หัวใจมีการเต้นผิดปกติอย่างเช่นกลุ่มอาการ Sick sinus syndrome, ผู้ที่มีหัวใจเต้นช้ามาก และผู้ที่มีความดันโลหิตในปอดสูง ล้วนแล้วเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ห้ามใช้ยาเอสโมลอลในการรักษา
  • ผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง หากจำเป็นต้องใช้ยาเอสโมลอลแพทย์อาจต้องเพิ่มความระวังของการใช้ยานี้เป็นพิเศษเช่น ผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณหัวใจมีความผิดปกติ ผู้ป่วยโรคไต โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ รวมถึงโรคเนื้องอกชนิด Pheochromocytoma
  • การใช้ยาเอสโมลอลร่วมกับยาอินซูลิน (Insulin) สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำตามมา ดังนั้นจึงถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้ป่วยจะต้องแจ้งให้แพทย์/พยาบาลทราบทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอะไรอยู่ก่อนด้วยยาหลายรายการสามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาเอสโมลอล
  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาหลายประเภทซึ่งรวมยาเอสโมลอลด้วย

ยาเอสโมลอลมีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาฉีดและต้องให้ยานี้กับคนไข้/ผู้ป่วยแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้นเพราะต้องมีการตรวจสอบสัญญาณชีพต่างๆของผู้ป่วยว่ากลับมาสู่ภาวะปกติหลังการให้ยานี้หรือไม่

มีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) บางอย่างที่อาจพบเห็นได้บ่อยหลังจากผู้ป่วยได้รับยาเอสโมลอลเช่น มีอาการวิงเวียน ง่วงนอน และคลื่นไส้ เป็นต้น

อนึ่งหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาเอสโมลอล ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้จากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรในสถานพยาบาลนั้นๆได้

เอสโมลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เอสโมลอล

ยาเอสโมลอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • บำบัดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะในแบบต่างๆเช่น Atrial fibrillation, Atrail flutter และ Supra ventricular tachycardia
  • บำบัดภาวะความดันโลหิตสูง

เอสโมลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเอสโมลอลมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ (Receptor) ในบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจที่มีชื่อว่า Beta-adrenergic receptor ซึ่งอยู่ในการควบคุมของระบบประสาทอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า Sympathetic nervous system ส่งผลให้หัวใจลดอัตราและลดแรงของการบีบตัวมีการเต้นกลับมาสู่ภาวะที่เป็นปกติมากขึ้น จากกลไกนี้จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

เอสโมลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเอสโมลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาฉีดขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาฉีดขนาด 2,500 มิลลิกรัม/250 มิลลิลิตร

เอสโมลอลมีขนาดบริหารยาอย่างไร?

ยาเอสโมลอลมีขนาดบริหารยา/ใช้ยาขึ้นกับชนิดของโรค ความรุนแรงของอาการ อายุผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเช่น

ก. สำหรับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Supra venticular tachycardia:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นหยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที โดยใช้ระยะเวลาของการหยดยานานมากกว่า 1 นาทีขึ้นไป จากนั้นให้ยาในอัตรา 0.05 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาทีเป็นเวลา 4 นาที
  • เด็กอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 0.1 - 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาทีให้ยาในระยะเวลามากกว่า 1 นาที และให้ยาต่อเนื่องเพื่อช่วยควบคุมอาการหัวใจเต้นเร็ว

ข. บำบัดภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension):

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำโดยตรงขนาด 80 มก. หรือจะใช้ยาขนาด 1 มิลลิกรัม/น้ำ หนักตัว 1 กิโลกรัม การเดินยา/ให้ยาเข้าหลอดเลือดดำให้ใช้เวลา 30 วินาทีขึ้นไป จากนั้นหยดยาเข้าหลอดเลือดดำในอัตรา 0.15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที หากจำเป็นแพทย์อาจปรับขนาดการให้ยาเป็น 0.30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาทีเพื่อควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตไปพร้อมกัน
  • เด็กอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 0.1 - 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาทีโดยให้ยาเป็นเวลามากกว่า 1 นาที และให้ยาต่อเนื่องเพื่อช่วยควบคุมอาการหัวใจเต้นเร็ว

*อนึ่งเด็กอายุตั้งแต่ 1 ปีลงมา: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกการใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปี ลงมา การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเอสโมลอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอสโมลอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

เอสโมลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเอสโมลอลอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นช้า มีภาวะหัวใจหยุดเต้น หัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติ อวัยวะส่วนปลายของร่างกาย/แขนขาขาดเลือด
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน อ่อนแรง ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน กระสับกระส่าย อาจพบภาวะชักร่วมด้วย
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ เบื่ออาหาร รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง ปากแห้ง อา เจียน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก คัด/แน่นจมูก
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น อาจมีภาวะซึมเศร้า เกิดความคิดที่ผิดปกติจากที่เคย
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีปัสสาวะขัด

มีข้อควรระวังการใช้เอสโมลอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอสโมลอลเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า หรือผู้ที่อยู่ในอาการหัวใจหยุดเต้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการแพ้ยาเกิดขึ้นเช่น ตัวบวม ผื่นคันขึ้นเต็มตัว หายใจไม่ ออก/หายใจลำบากอย่างรุนแรง
  • หากตรวจพบสัญญาณชีพต่างๆแย่ลงระหว่างการให้ยานี้เช่น ความดันโลหิตต่ำ ต้องรีบแจ้งแพทย์ทันทีเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • แจ้งแพทย์ให้ทราบทุกครั้งก่อนเข้ารับการรักษาว่ามีการใช้ยาชนิดใดอยู่ก่อนรวมถึงโรคประจำตัวอื่นๆที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ก่อนหน้านี้
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอสโมลอล) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เอสโมลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเอสโมลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้เอสโมลอลร่วมกับยา Diltiazem, Fingolimod (ยาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง), Flecainide, Mefloquine, Verapamil ด้วยอาจทำให้หัวใจทำงานผิดปกติอย่างรุนแรงตามมา
  • การใช้ยาเอสโมลอลร่วมกับยา Indomethacin อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาออสโมลอลลดต่ำลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้เอสโมลอลร่วมกับ Alfuzosin, Digoxin, Prazosin ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากกลุ่มยาดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

ควรเก็บรักษาเอสโมลอลอย่างไร?

ควรเก็บยาเอสโมลอลตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา เก็บยาภาชนะทีปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เอสโมลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเอสโมลอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Brevibloc (เบรวิบล็อก) Baxter Healthcare

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Beta_blocker [2016,April23]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Esmolol [2016,April23]
  3. http://www.drugs.com/cdi/esmolol.html [2016,April23]
  4. http://www.drugbank.ca/drugs/DB00187 [2016,April23]
  5. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Brevibloc/ [2016,April23]
  6. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Esmolol [2016,April23]