เอสโซปิโคลน (Eszopiclone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 กรกฎาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- เอสโซปิโคลนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เอสโซปิโคลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เอสโซปิโคลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เอสโซปิโคลนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เอสโซปิโคลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เอสโซปิโคลนอย่างไร?
- เอสโซปิโคลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเอสโซปิโคลนอย่างไร?
- เอสโซปิโคลนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยานอนหลับ (Sleeping pill)
- นอนเบนโซไดอะซิปีน (Nonbenzodiazepine)
- โซปิโคลน (Zopiclone)
- โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)
- ภาวะหายใจล้มเหลว (Respiratory failure)
บทนำ
ยาเอสโซปิโคลน(Eszopiclone) เป็นยานอนหลับประเภท Non-benzodiazepine ยานี้มีสูตรโมเลกุลเหมือนกับยาโซปิโคลน(Zopiclone) แต่มีการจัดเรียงโครงสร้างเคมีที่ต่างกัน รูปแบบเภสัชภัณฑ์จัดเป็นยาประเภทรับประทาน หลังการดูดซึมตัวยานี้จากระบบทางเดินอาหาร เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยานี้จะเริ่มกระตุ้นในสมองหลั่งสารสื่อประสาทตามธรรมชาติ และส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอน โดยทั่วไป แพทย์มักจะสั่งจ่ายยานี้ในขนาดต่ำๆก่อน แล้วค่อยๆปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม
ผู้ที่ได้รับยาเอสโซปิโคลน อาจเกิดการเสพติดยานี้ได้ในระดับกลางๆ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ห้ามใช้ยาเอสโซปิโคนกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมถึงสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร
นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังและข้อห้ามบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเมื่อใช้ตัวยาเอสโซปิโคลน เช่น
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้เพิ่มอาการวิงเวียนและง่วงนอนเป็นอย่างมาก
- ยานี้สามารถทำให้รู้สึก ปวดศีรษะ ความจำแย่ลง ประสาทหลอน สูญเสีย การทรงตัว ปากแห้ง การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป กรณีนี้ผู้บริโภคสามารถ ขอคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการใช้ยานี้เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วย
- ขณะตื่นนอนตอนเช้า หากรู้สึก วิงเวียน มึนงง นั่นอาจเป็นที่ฤทธิ์ตกค้างของ การใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่เกี่ยวกับ เครื่องจักรต่างๆด้วยจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- การใช้ยาอื่นใดร่วมกับยาเอสโซปิโคลน ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ด้วยมียาหลายรายการที่สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆเมื่อใช้ร่วมกับยาเอสโซปิโคลน เช่นยา TCAs
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้โดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์ ด้วยยานี้สามารถทำให้เกิดการเสพติดยานี้ตามมาได้
- กรณีหยุดการใช้ยานี้ทันที อาจทำให้เกิดภาวะถอนยาตามมา แพทย์จะเป็น ผู้ปรับลดขนาดรับประทานยานี้ลงได้เหมาะสมที่สุด
- ตัวยาเอสโซปิโคลนสามารถออกฤทธิ์ควบคุมการนอนหลับได้นานถึงประมาณ 7–8 ชั่วโมง จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้ในช่วงเวลาเที่ยงคืน ด้วยเหตุผลที่มีความสัมพันธ์กับเวลาตื่นนอน
- ผู้สูงอายุไม่ควรใช้ยาเอสโซปิโคลนเกิน 2 มิลลิกรัม/วัน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้พร้อมกับอาหาร ด้วยจะทำให้การดูดซึมยานี้จากระบบทางเดินอาหารช้าลง จนส่งผลต่อเวลาของการออกฤทธิ์ของยานี้
- กรณีที่ใช้ยานี้แล้ว 7–10 วัน อาการนอนไม่หลับไม่ดีขึ้น ควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
จากข้อควรระวังดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคต้องใช้ยาเอสโซปิโคลน ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด *กรณีที่เกิดข้อผิดพลาดรับประทานยานี้เกินขนาด จะทำให้เกิดอาการครองสติไม่อยู่ไปจนถึงขั้นโคม่า ซึ่งหากพบเห็นอาการเหล่านี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์จะดำเนินการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น ร่วมกับควบคุมระบบการทำงานของหัวใจ และของระบบการหายใจของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด กรณีที่มีอาการรุนแรงมากๆ แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้ยา Flumazenil เพื่อต้านพิษของยาเอสโซปิโคลน
ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาเอสโซปิโคลน สามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้ได้จากแพทย์หรือจากเภสัชกรโดยทั่วไป
เอสโซปิโคลนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเอสโซปิโคลนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้เป็นยานอนหลับ
เอสโซปิโคลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยาเอสโซปิโคลน มีกลไกการออกฤทธิ์ที่บริเวณตัวรับ(Receptor)ในสมองที่มีชื่อเรียกว่า GABA receptor ส่งผลให้สมองมีการปรับสารสื่อประสาท จนก่อให้เกิดผลกระตุ้นให้เกิดการนอนหลับ
เอสโซปิโคลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเอสโซปิโคลนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของ Eszopiclone ขนาด 1 , 2 และ 3 มิลลิกรัม/เม็ด
เอสโซปิโคลนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเอสโซปิโคลน มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 1 มิลลิกรัม ครั้งเดียว ก่อนนอน โดยแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 2 หรือ 3 มิลลิกรัมตามความรุนแรงของอาการนอนไม่หลับ ขนาดรับ ประทานสูงสุดไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/วัน และควรรับประทานในขณะท้องว่าง
- ผู้สูงอายุ: รับประทานยาตามแพทย์สั่ง โดยรับประทานยาสูงสุดไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/วัน ก่อนนอน และควรรับประทานในขณะท้องว่าง
- เด็ก/ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในผู้ป่วยวัยนี้ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติติดสาร/ยาเสพติด ผู้ที่มีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้เป็นโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคตับ
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเอสโซปิโคลน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคทางจิตเวช รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอสโซปิโคลน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยา เอสโซปิโคลน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติตามคำสั่งแพทย์
เอสโซปิโคลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเอสโซปิโคลนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง การรับรสชาติเปลี่ยนไป ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ ลิ้นบวม /ลิ้นอักเสบ ลำไส้ใหญ่อักเสบ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ปวดศีรษะไมเกรน ง่วงนอน
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล รู้สึกสับสน ซึม ประสาทหลอน กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะและระบบทางเดินสืบพันธุ์: เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัด ประจำเดือนขาด(ในสตรี) เกิดนิ่วในไต
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้ง่าย หอบหืด หลอดลมอักเสบ คออักเสบ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคันตามผิวหนัง เกิดสิว ผมร่วง ผิวแห้ง ผิวมีสีซีด
- ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น ติดเชื้อไวรัสได้ง่าย เช่น งูสวัด
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนัตัวเพิ่มขึ้น โรคเกาต์คุกคาม ไขมันในเลือดสูง
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเลือดจาง/โลหิตจาง
- ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ ตับโต
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มือเท้า-บวม หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ข้ออักเสบ เกิดตะคริวที่ขา กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก
- ผลต่อตา: เช่น เยื่อตาอักเสบ ตาแห้ง ตาแพ้แสง
มีข้อควรระวังการใช้เอสโซปิโคลนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเอสโซปิโคลน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มี ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง การหายใจล้มเหลว ผู้ที่หยุดหายใจขณะนอนหลับ/นอนหลับแล้วหยุดหายใจ ผู้ป่วยโรคตับขั้นรุนแรง
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง และใช้ยานี้ตามขนาดรับประทานที่แพทย์แนะนำเท่านั้น
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยน
- หลังรับประทานยานี้แล้วมีอาการ อึดอัด/แน่นหน้าอก/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก หรือเกิดผื่นคันขึ้นเต็มตัว ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ ให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- กรณีที่ใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
- ห้ามเก็บยาที่หมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอสโซปิโคลนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้าน ขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เอสโซปิโคลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเอสโซปิโคลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอสโซปิโคลนร่วมกับยา Codeine เพราะจะทำให้มีภาวะ กดการหายใจจนเข้าขั้นโคม่าตามมาได้
- ห้ามรับประทานยาเอสโซปิโคลนร่วมกับยากลุ่ม TCAs เพราะจะทำให้มีอาการ ง่วงนอนมากยิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอสโซปิโคลนร่วมกับยา Lorazepam , Rifampicin, เพราะจะทำให้ระดับของยาเอสโซปิโคลนในกระแสเลือดลดต่ำลงจนส่งผลลดประสิทธิภาพการรักษา
- การใช้ยาเอสโซปิโคลนร่วมกับยา Clarithromycin, Ketoconazole , Ritonavir, อาจจะทำให้ระดับยาโซปิโคลนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยาเอสโซปิโคลนสูงมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาเอสโซปิโคลนอย่างไร?
ควรเก็บยาเอสโซปิโคลนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
เอสโซปิโคลนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเอสโซปิโคลน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Lunesta (ลูเนสต้า) | Sunovion Pharmaceuticals Inc. |
อนึ่งยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Fulnite, Zolnite, Zopimin