เอลลักเซโดลีน (Eluxadoline)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 6 กุมภาพันธ์ 2561
- Tweet
- บทนำ
- เอลลักเซโดลีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เอลลักเซโดลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เอลลักเซโดลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เอลลักเซโดลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เอลลักเซโดลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เอลลักเซโดลีนอย่างไร?
- เอลลักเซโดลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเอลลักเซโดลีนอย่างไร?
- เอลลักเซโดลีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ท้องเสีย (Diarrhea)
- ท้องผูก (Constipation)
- ปวดท้อง (Abdominal pain)
- ลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome)
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
บทนำ
ยาเอลลักเซโดลีน(Eluxadoline) เป็นยาในกลุ่มมิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์(Mu-opioid receptor agonists) ถูกพัฒนาโดยบริษัท Jansen pharmaceutica และได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี ค.ศ.2015(พ.ศ.2558) มีฤทธิ์บำบัดอาการท้องเสีย ที่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย ทางคลินิกจึงนำยานี้มารักษาโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome หรือย่อว่า IBS) ยาเอลลักเซโดลีนจะออกฤทธิ์โดยตรง ต่อมิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์/ตัวรับ(Mu-opioid receptor,ตัวรับที่เกี่ยวข้องกับการ อาการปวดและการติดยาในกลุ่ม Opioids) ซึ่งพบได้ในสมองและในไขสันหลัง ที่ กระตุ้นให้ระบบประสาทแปลงคำสั่งทำให้ไม่รู้สึกต่ออาการเจ็บปวดตลอดจนกระทั่งทำให้มีภาวะสงบประสาทเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังออกฤทธิ์เป็นลักษณะของแคปปา-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Kappa-opioid receptor agonist, ต้านอาการปวด) และเดลต้า-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Delta-opiod receptor antagonist, เกี่ยวข้องกับการต้านอาการปวดเช่นกัน) จึงทำให้เกิดฤทธิ์สนับสนุนลดอาการปวดและบำบัดอาการท้องเสียโดยไม่ค่อยมีอาการท้องผูกแทรกซ้อนอีกด้วย
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเอลลักเซโดลีนเป็นยาชนิดรับประทาน ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3.7–6 ชั่วโมง เพื่อจะกำจัดยานี้/ชนิดนี้ผ่านทิ้งไปกับอุจจาระประมาณ 82.2% และทางปัสสาวะน้อยกว่า 1%
อย่างไรก็ตาม มีข้อห้ามใช้หลายประการที่จัดเป็นข้อห้ามของยาเอลลักเซโดลีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะทางเดินน้ำดีอุดตัน ด้วยเสี่ยงต่อการทำให้กล้ามเนื้อ หูรูดที่มีชื่อเรียกว่า Sphincter of oddi มีอาการเกร็งตัว ซึ่งจะทำให้อาการของ ทางเดินน้ำดีอุดตันทวีความรุนแรงมากขึ้น
- ห้ามใช้กับผู้ที่ติดสุรา ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะตับอักเสบอย่างรุนแรง ด้วยจะทำให้ปริมาณยา เอลลักเซโดลีนในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นและทำให้มีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆเพิ่มขึ้นตามมา
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะท้องผูกอย่างรุนแรง การใช้ยาเอลลักเซโดลีนกับผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจทำให้เกิดภาวะลำไส้อุดตันซึ่งก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)ต่างๆอย่างรุนแรง
อนึ่ง ยาเอลลักเซโดลีนเคยนำมาใช้เป็นยากระตุ้นความบันเทิง ทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้ม และเสี่ยงต่อการติดยาได้เช่นเดียวกัน
ระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยาเอลลักเซโดลีนมีข้อควรทราบบางประการที่ต้องนำมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อาทิ
- หยุดใช้ยาชนิดนี้ทันที หากมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงหลังใช้ยาเอลลักเซโดลีน
- หยุดการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์เมื่อต้องใช้ยาเอลลักเซโดลีน
- กรณีที่เกิดอาการข้างเคียงที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรรีบมาปรึกษาแพทย์โดยเร็วเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- หยุดการใช้ยาเอลลักเซโดลีนทันทีเมื่อมีอาการท้องผูกต่อเนื่องนานเกิน 4 วัน แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
- ห้ามใช้ยาเอลลักเซโดลีนร่วมกับยา Alosetron หรือ Loperamide เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องผูกเกิดขึ้น
เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค/ผู้ป่วยต่อการใช้ยาเอลลักเซโดลีน ผู้ป่วย/ผู้บริโภคจะต้องใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามข้อมูลของยาชนิดนี้ได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการตรวจรักษา หรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาได้ทั่วไป
เอลลักเซโดลีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเอลลักเซโดลีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดอาการโรคลำไส้แปรปรวนที่มีภาวะท้องเสียเป็นอาการหลัก
เอลลักเซโดลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเอลลักเซโดลีนมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ตัวรับต่างๆ(Receptor)ที่ชื่อ Mu-opioid receptor, Delta-opioid receptor และKappa-opiod receptor ในลักษณะของ Agonist(สนับสนุนการทำงาน), Antagonist(ต้านการทำงาน) และ Agonist, ตามลำดับ จากกลไกดังกล่าว ทำให้ลดอาการปวดท้อง ช่วยชะลอการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ที่เป็นสาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวนได้ตามสรรพคุณ
เอลลักเซโดลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเอลลักเซโดลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่มีส่วนประกอบของตัวยา Eluxadoline ขนาด 75 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
เอลลักเซโดลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเอลลักเซโดลีนมีขนาดรับประทานสำหรับภาวะท้องเสียที่มีสาเหตุจากโรคลำไส้แปรปรวน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น พร้อมอาหาร หรือ แพทย์อาจปรับลดขนาดยาเป็นรับประทานยาครั้งละ 75 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น พร้อมอาหาร การลดขนาดยาลงมาเป็น 75 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง มาจากเหตุผลของผู้ป่วยที่ไม่สามารถทนต่ออาการข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยา 100 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกด้านความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเอลลักเซโดลีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอลลักเซโดลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเอลลักเซโดลีน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
เอลลักเซโดลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเอลลักเซโดลีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูก คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน มีกรดไหลย้อน ท้องอืด และทำให้หูรูดในตับอ่อนที่มีชื่อเรียกว่า Sphincter of oddi เกิดอาการเกร็งตัว
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจง่าย หลอดลมอักเสบ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจมีอาการผื่นคัน ลมพิษ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น มีอารมณ์เคลิบเคลิ้ม
- ผลต่อตับ: เช่น ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
มีข้อควรระวังการใช้เอลลักเซโดลีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเอลลักเซโดลีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยาเอลลักเซโดลีนโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยา
- การใช้ยากับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- รับประทานยาต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ห้ามหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเอลลักเซโดลีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เอลลักเซโดลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเอลลักเซโดลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามรับประทานยาเอลลักเซโดลีนร่วมกับการดื่มสุรา ด้วยจะทำให้มีความเสี่ยงของภาวะตับอักเสบ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอลลักเซโดลีนร่วมกับยา Atazanavir, Gemfibrozil, เพราะจะทำให้ระดับยาเอลลักเซโดลีนในกระแสเลือดสูงขึ้น จนทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงต่างๆสูงขึ้นจากยาเอลลักเซโดลีนตามมา
- ห้ามใช้ยาเอลลักเซโดลีนร่วมกับ ยาClemastine เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะท้องผูกได้อย่างรุนแรง
ควรเก็บรักษาเอลลักเซโดลีนอย่างไร?
ควรเก็บยาเอลลักเซโดลีนภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เอลลักเซโดลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเอลลักเซโดลีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
VIBERZI (ไวเบอร์ซี) | Patheon Pharmaceuticals, Inc |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Truberzi
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Eluxadoline#Mechanism_of_action [2018,Jan20]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2015/206940s000lbl.pdf [2018,Jan20]
- https://www.drugs.com/ppa/eluxadoline.html [2018,Jan20]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Category:Mu-opioid_agonists [2018,Jan20]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/eluxadoline-index.html?filter=3&generic_only= [2018,Jan20]