เอลทรอมโบแพก (Eltrombopag)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 6 กุมภาพันธ์ 2561
- Tweet
- บทนำ
- เอลทรอมโบแพกมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เอลทรอมโบแพกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เอลทรอมโบแพกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เอลทรอมโบแพกมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เอลทรอมโบแพกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เอลทรอมโบแพกอย่างไร?
- เอลทรอมโบแพกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเอลทรอมโบแพกอย่างไร?
- เอลทรอมโบแพกมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- โลหิตจาง เลือดจาง ซีด (Anemia)
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)
- โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia)
- ตับอักเสบ โรคพิษต่อตับ (Toxic hepatitis หรือ Hepatotoxicity)
บทนำ
ยาเอลทรอมโบแพก(Eltrombopag) เป็นยาที่ถูกพัฒนามาเพื่อบำบัดภาวะเลือดออกง่าย ด้วยเหตุร่างกายมีปริมาณเกล็ดเลือดต่ำ(Thrombocytopenia) ยานี้ได้รับการขึ้นทะเบียนและเป็นที่ยอมรับทางคลินิกเมื่อปี ค.ศ.2008 (พ.ศ.2551) อีก 6 ปีต่อมา ยาเอลทรอมโบแพกได้ถูกรับรองทางคลินิกว่าสามารถใช้รักษาภาวะโลหิตจางเพราะไขกระดูกทำงานบกพร่อง(Aplastic anemia/โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ)
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเอลทรอมโบแพกเป็นแบบรับประทาน การดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารทำได้ 52% โดยประมาณ การทำลายโครงสร้างทางเคมีของยาเอลทรอมโบแพกจะเกิดที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 21–35 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาเอลทรอมโบแพกออกจากระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ
อย่างไรก็ตาม ยาเอลทรอมโบแพก อาจก่อให้เกิดความเป็นพิษกับตับของผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับยาเอลทรอมโบแพก จะต้องได้รับการตรวจระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือด เช่น Alanine aminotransferase (ALT) และ Aspartate aminotransterase (AST) รวมถึงระดับ Bilirubin ทุกๆ 2 สัปดาห์ขณะที่มีการปรับขนาดการใช้ยา นอกจากนี้ยังต้องระวังการเกิดเส้นใยที่มีลักษณะเป็นร่างแหก่อตัวภายในไขกระดูกซึ่งแพทย์จะคอยตรวจสอบความผิดปกตินี้อย่างสม่ำเสมอ
สำหรับตัวชี้วัดและบ่งบอกประสิทธิผลของการใช้ยาเอลทรอมโบแพก คือ ระดับของเกล็ดเลือด แพทย์จะพยายามรักษาดุลยภาพระหว่างขนาดรับประทานที่ต่ำที่สุดเพื่อป้องกันการเกิดพิษต่อตับ และผลเสียต่อไขกระดูก แต่ต้องสามารถกระตุ้นให้มีปริมาณเกล็ดเลือดมากพอที่จะป้องกันภาวะเลือดออกง่ายของร่างกายตามมา
ในทางคลินิก มีสถิติอยู่ข้อหนึ่งที่ระบุขนาดรับประทานยาเอลทรอมโบแพกเริ่มต้น อยู่ที่ 50 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง แต่ประชากรในแถบเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ควรเริ่มรับประทานยานี้ที่ 25 มิลลิกรัม/วัน ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าประชากรในแถบเอเชียตะวันออกมีความเสี่ยงต่อภาวะตับเป็นพิษ/ตับอักเสบรุนแรงจากการใช้ยานี้มากกว่าประชากรส่วนอื่นของโลก การปรับขนาดยานี้เพิ่มขึ้นหรือลดลงจนถึงขั้นให้หยุดการใช้ยานี้ จะขึ้นกับปริมาณการเปลี่ยนแปลงของเกล็ดเลือด
กรณีที่หยุดใช้ยาเอลทรอมโบแพกแล้ว แพทย์ยังต้องตรวจติดตามปริมาณเกล็ดเลือดอีกเช่นกัน หากพบว่าผู้ป่วยคนใดมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำลงอีก หลังหยุดใช้ยาเอลทรอมโบแพก แพทย์จะรีบทำการบำบัดรักษาโดยเร็ว
*กรณีเกิดข้อผิดพลาดที่ผู้ป่วยได้รับยาเอลทรอมโบแพกเกินขนาด อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดก่อตัวในเส้นเลือด/หลอดเลือดซึ่งก็เป็นอันตรายอีกเช่นกัน ดังนั้นการใช้ยาเอลทรอมโบแพกได้อย่างเหมาะสมปลอดภัย จึงต้องอาศัยดุลยพินิจของแพทย์ร่วมกับข้อมูลของระดับเกล็ดเลือดที่ตรวจได้จากห้องปฏิบัติการของสถาน พยาบาลที่ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจรักษามาประกอบกัน
ปัจจุบันประเทศไทย อาจยังไม่พบเห็นการใช้ยาเอลทรอมโบแพก แต่ในต่างประเทศ มีการจัดจำหน่ายยาเอลทรอมโบแพกภายใต้ชื่อการค้าว่า Promacta
เอลทรอมโบแพกมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเอลทรอมโบแพกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)
- รักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากโรคภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง (Idiopathic Thrombocytopenic Purpura)
- รักษาอาการโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic Anemia)
เอลทรอมโบแพกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเอลทรอมโบแพกมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าจับกับเซลล์ต้นกำเนิดของเกล็ดเลือดซึ่งเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ เราเรียกกันว่าเมกาแคริโอซัยต์(Megakaryocytes) โดยจะรวมตัวกับตัวรับ(Receptor)ที่ชื่อ Thrombopoietin-receptor ที่อยู่บนเซลล์ Megakaryocytes ส่งผลให้มีการพัฒนาของ Megakaryocytes ไปเป็นเกล็ดเลือด
เอลทรอมโบแพกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเอลทรอมโบแพกมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่มีส่วนประกอบของ Eltrombopag ขนาด 12.5, 25, 50, และ 75 มิลลิกรัม/เม็ด
เอลทรอมโบแพกมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเอลทรอมโบแพก มีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับรักษาโรคโลหิตจาง:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา 50 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานได้ในทุก 2 สัปดาห์ แต่ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 150 มิลลิกรัม/วัน
ข. สำหรับรักษาเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกันเล่นงานตนเอง:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา 50 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ประชากรในแถบเอเชียตะวันออก แพทย์อาจให้รับประทาน 25 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง และแพทย์อาจมีการปรับขนาดรับประทานสูงขึ้น โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 75 มิลลิกรัม/วัน
ค. สำหรับรักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำ:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา 25 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานสูงขึ้น โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 100 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง
อนึ่ง:
- การปรับขนาดรับประทานยานี้ต้องอาศัยข้อมูลจำนวนเกล็ดเลือดในร่างกาประกอบกันกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- เด็ก: ขนาดการใช้ยานี้ในเด็ก ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเอลทรอมโบแพก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอลทรอมโบแพกอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเอลทรอมโบแพก สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
เอลทรอมโบแพกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเอลทรอมโบแพกสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น อาจทำให้หลอดเลือดดำอุดตันจากลิ่มเลือด บวมตามร่างกาย ชีพจรเต้นผิดปกติ มือบวม-เท้าบวม คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ เจ็บหน้าอก
- ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ เกิดตับวาย ระดับบิลิรูบินในเลือดสูง เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูง
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง กระเพาะอาหารอักเสบ กรดไหลย้อน เกิดริดสีดวงทวาร ปวดฟัน อาเจียน
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผมร่วง อาจมีอาการผื่นคัน ผิวแห้ง
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ง่าย
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดน้ำตาลในเลือดสูง
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความจำแย่ลง
- ผลต่อตา: เช่น เกิดต้อกระจก ตาแห้ง ปวดตา ตาพร่า
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล รู้สึกสับสน ซึม นอนไม่หลับ
- ผลต่อไต: เช่น ปัสสาวะเป็นด่างมากขึ้น เกิดภาวะไตวาย
มีข้อควรระวังการใช้เอลทรอมโบแพกอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเอลทรอมโบแพก เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยาเอลทรอมโบแพกโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยา
- ต้องมารับการตรวจร่างกาย และการตรวจเลือดดู การทำงานของตับ ระดับของเกล็ดเลือด ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็กต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- รับประทานยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ห้ามหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเอลทรอมโบแพกด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เอลทรอมโบแพกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเอลทรอมโบแพกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาเอลทรอมโบแพกร่วมกับ ยาLeflunomide ด้วยจะทำให้เสี่ยงต่อการ เกิดพิษกับตับ
- ห้ามใช้ยาเอลทรอมโบแพกร่วมกับ ยาGrazoprevir เพราะจะทำให้ได้รับอาการข้างเคียงจาก Grazoprevir มากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอลทรอมโบแพกร่วมกับ ยาEluxadoline เพราะจะทำให้มีอาการง่วงนอน คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก ปวดท้อง ตามมา
- ห้ามใช้ยาเอลทรอมโบแพกร่วมกับ ยาCarfilzomib ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะลิ่มเลือดเกิดเร็วเกินไป
ควรเก็บรักษาเอลทรอมโบแพกอย่างไร?
ควรเก็บยาเอลทรอมโบแพก ภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เอลทรอมโบแพกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเอลทรอมโบแพก มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Promacta(โปรแมกต้า) | GlaxoSmithKline |
บรรณานุกรม
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/022291lbl.pdf [2018,Jan20]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Eltrombopag [2018,Jan20]
- https://www.drugs.com/pro/promacta.html [2018,Jan20]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/eltrombopag-index.html?filter=3&generic_only= [2018,Jan20]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3658154/ [2018,Jan20]