เอมิลเมตาครีซอล (Amylmetacresol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 15 กรกฎาคม 2560
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- ยาโบลแนนเซอรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ยาโบลแนนเซอรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาโบลแนนเซอรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาโบลแนนเซอรีนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาโบลแนนเซอรีนควรทำอย่างไร?
- ยาโบลแนนเซอรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาโบลแนนเซอรีนอย่างไร?
- ยาโบลแนนเซอรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาโบลแนนเซอรีนอย่างไร?
- ยาโบลแนนเซอรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาลูกอม (Throat lozenge)
- เจ็บคอ (Sore throat) คออักเสบ คอหอยอักเสบ (Pharyngitis )
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- Dichlorobenzyl alcohol
- วิตามินซี (Vitamin C or Ascorbic acid)
- Lidocaine
บทนำ
ยาเอมิลเมตาครีซอล (Amylmetacresol ย่อว่า AMC) จัดเป็นอนุพันธุ์ของ M-cresol(สารประกอบเคมีในกลุ่ม Phenol กลุ่มที่นำมาใช้เป็นยาฆ่าแมลง และน้ำยาฆ่าเชื้อ) มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อโรค นักวิทยาศาสตร์ได้นำสารประกอบชนิดนี้ไปผสมเป็นสูตรตำรับยาอมแก้เจ็บคอ บรรเทาอาการแผลในช่องปาก โดยมียาฆ่าเชื้อชนิดอื่นผสมอยู่ด้วย อย่างเช่น Dichlorobenzyl alcohol รวมถึงยาชาอย่าง Lignocaine HCl/hydrochloride (Lidocaine) และ Vitamin C
อย่างไรก็ตามยาเอมิลเมตาครีซอลในรูปแบบยาอมมีข้อบ่งใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอที่อาการไม่รุนแรง และใช้ยานี้ในระยะสั้นๆเท่านั้น ไม่แนะนำให้ใช้เป็นยารักษาอาการเจ็บคอแบบรุนแรงหรือใช้เป็นระยะเวลานานๆ
ยาอมเอมิลเมตาครีซอลสามารถใช้กับ ผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย และเด็กตั้งแต่อายุ6-12 ปีขึ้นไป โดยทั่วไป การใช้ยาอมประเภทนี้ให้อมยา 1 เม็ด ทุก 2 ชั่วโมง และวันหนึ่งห้ามอมยาอมชนิดนี้เกิน 8 เม็ด/วัน
*กรณีที่ได้รับยาเอมิลเมตาครีซอลเกินขนาด ต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาตามอาการผู้ป่วย โดยอาจใช้วิธีล้างท้องหรือใช้ยาระบาย และยาถ่านกัมมันต์ เพื่อกำจัดและลดพิษของตัวยาเอมิลเมตาครีซอลที่อยู่ในกระเพาะอาหารและในลำไส้
ข้อจำกัดและข้อห้ามที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนการใช้ยาเอมิลเมตาครีซอล เช่น
- มีประวัติแพ้ยานี้มาก่อน
- สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการใช้ยาทุกประเภทซึ่งรวมยาเอมิลเมตาครีซอลด้วย ที่จะเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากยาได้
คณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยาอมเอมิลเมตาครีซอลอยู่ในหมวดยาอันตราย เราสามารถพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้ในรูปแบบยาอมแก้เจ็บคอ โดยถูกจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Strepsils และ Throatsil”
เอมิลเมตาครีซอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเอมิลเมตาครีซอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้เป็นยาบรรเทาอาการเจ็บคอ มีแผลในช่องปาก โดยต้องมีระยะเวลาการใช้ยาเพียงช่วงสั้นๆ
เอมิลเมตาครีซอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเอมิลเมตาครีซอล มีกลไกการออกฤทธิ์ต้านเชื้อโรคได้เล็กน้อย จึงช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอซึ่งมีสาเหตุจากการติดเชื้อชนิดที่สร้างความรุนแรงน้อยต่อร่างกาย
เอมิลเมตาครีซอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเอมิลเมตาครีซอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดอมที่มีส่วนประกอบของตัวยาดังต่อไปนี้ เช่น
- Amylmetacresol 0.6 + Dichlorobenzyl alcohol 1.2 มิลลิกรัม /เม็ด
- Amylmetacresol 0.6 + Dichlorobenzyl alcohol 1.2 มิลลิกรัม + Vitamin C 100 มิลลิกรัม/เม็ด
- Amylmetacresol 0.6 + Dichlorobenzyl alcohol 1.2 มิลลิกรัม + Lignocaine HCl 10 มิลลิกรัม/เม็ด
เอมิลเมตาครีซอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเอมิลเมตาครีซอลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: อมยาครั้งละ 1 เม็ด ทุกๆ 2–3 ชั่วโมง และผู้ใหญ่ห้ามใช้ยาอมนี้เกิน 8 เม็ด/วัน
- เด็กอายุ 6-12 ปี: อมยาครั้งละ 1 เม็ด ทุกๆ 2–3 ชั่วโมง และเด็กห้ามใช้ยาอมเกิน 4 เม็ด/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ห้ามใช้ยานี้
*อนึ่ง: ควรอมยาเม็ดอมนี้ให้ละลายในปากอย่างช้าๆ และห้ามเคี้ยวยาเม็ดอมนี้ *****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเอมิลเมตาครีซอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอมิลเมตาครีซอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีมีอาการเจ็บคอที่ไม่รุนแรงมากนัก และลืมอมยาเอมิลเมตาครีซอล ก็ไม่น่าส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยมากเท่าใดนัก และสามารถใช้ยาเอมิลเมตาครีซอลทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการอมยาเอมิลเมตาครีซอลในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้อมยาขนาดปกติ
เอมิลเมตาครีซอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเอมิลเมตาครีซอล อาจทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)โดยทำให้เกิด แผลที่ลิ้น หรืออาจทำให้ผู้ป่วยแพ้ยาชนิดนี้ ซึ่งสามารถสังเกตจากหลังใช้ยานี้ จะเกิดอาการหายใจขัด/หายใจลำบาก หรือใบหน้าบวม เป็นต้น
มีข้อควรระวังการใช้เอมิลเมตาครีซอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเอมิลเมตาครีซอล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และใช้ยานี้ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร หรือตามเอกสารกำกับยา
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สีและ/หรือกลิ่นยาเปลี่ยนไป
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และ เด็กเล็ก/เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี
- กรณีที่ใช้ยานี้แล้วอาการเจ็บคอไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือมีอาการเจ็บคอมากขึ้น ควรต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
- การได้รับยานี้เกินขนาด จะทำให้มีอาการ คลื่นไส้ และวิงเวียน หากพบอาการเหล่านี้หลังใช้ยานี้ ต้องรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
- ห้ามใช้ยาหมดายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเอมิลเมตาครีซอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เอมิลเมตาครีซอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยยาเอมิลเมตาครีซอลที่อยู่ในรูปแบบของยาเม็ดอมแก้เจ็บคอ มีระยะเวลาของการใช้ยาเพียงช่วงสั้นๆ ข้อมูลการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานตัวอื่นๆจึงมีน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม กรณีใช้ยาอมเอมิลเมตาครีซอลร่วมกับยาอื่นใดแล้วเกิดอาการผิดปกติ หรือมีอาการข้างเคียงมากขึ้น ให้หยุดการใช้ยาเอมิลเมตาครีซอล แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ทันที
ควรเก็บรักษาเอมิลเมตาครีซอลอย่างไร?
ควรเก็บยาเอมิลเมตาครีซอลภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
เอมิลเมตาครีซอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเอมิลเมตาครีซอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Strepsils (สเตร็ปซิล) | Reckitt Benckiser |
Strepsils Maxipluzz (สเตร็ปซิล แมกซิพลัส) | Reckitt Benckiser |
Strepsils War Ginger (สเตร็ปซิล วาร์ จินเจอร์) | Reckitt Benckiser |
Throatsil (โทรทซิล) | Millimed |
Throatsil Herbaline (โทรทซิล เฮอร์บาไลน์) | Millimed |
Throatsil Plus (โทรทซิล พลัส) | Millimed |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Cepacol, Gorpils, Lorsept
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Amylmetacresol[2017,July15]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/amylmetacresol/?type=brief&mtype=generic[2017,July15]
- http://www.netdoctor.co.uk/medicines/aches-and-pains/a7574/strepsils-original-lozenges/[2017,July15]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/strepsils[2017,July15]