เอมพาโทเจน (Empathogens)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยา/ยากลุ่มเอมพาโทเจน(Empathogens) หรือจะเรียกว่า เอนแทคโตเจน (Entactogens) หมายถึงกลุ่มยาที่สามารถออกฤทธิ์ต่อระบบจิตประสาทที่รวมถึงระบบประสาท อาจเรียกว่าเป็นยารักษาทางจิตเวช(Psychoactive drug)ก็ได้ ตัวยากลุ่มนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง ส่งผลให้มี ความคิด ความเข้าใจ อารมณ์ สติสัมปชัญญะ และ/หรือพฤติกรรม ตลอดจนกระทั่งสภาพจิตใจที่แตกต่างจากเดิม นอกจากจะใช้ยาเอมพาโทเจนมารักษาอาการป่วยทางด้านจิตเวชทางคลินิกแล้ว บางกรณียาเอมพาโทเจนก็ถูกนำมาใช้เป็นยากระตุ้นความบันเทิง (Recreational drug) อย่างไรก็ตามยาเอมพาโทเจนได้ถูกแยกออกจากยากลุ่มที่ก่อให้เกิดอาการหลอนประสาท/ประสาทหลอน หรือ จากกลุ่มยากระตุ้น(Stimulant) อย่างเช่น Amphetamine, Methamphetamine, LSD และ Mescaline ทั้งนี้ อาจเป็นด้วยเหตุผลของโครงสร้างทางเคมีและการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันออกไปของยาแต่ละกลุ่มดังกล่าว

กลุ่มยาเอมพาโทเจนมีชื่อสามัญหรือชื่อวิทยาศาสตร์อะไรบ้าง?

เอมพาโทเจน

กลุ่มยาเอมพาโทเจนที่พบเห็นได้บ่อยและมีความโดดเด่นทางคลินิกประกอบด้วย 3,4-Methylenedioxymethamphetamine (MDMA), 3,4-Methylenedioxyamphetamine (MDA), 3,4-Methylenedioxy-N-ethylamphetamine (MDEA), 3,4-Methylenedioxy-N-hydroxyamphetamine (MDOH, MDH), N-methyl-1,3-benzodioxolylbutanamine(MBDB), 6-(2-aminopropyl)benzofuran(6APB), Methylone, Mephedrone, Alpha-Methyltryptamine, Alpha-Ethyltryptamine, นอกจากนี้ยังมียาตัวอื่นๆอีกเกือบ 70 ชนิดที่มิได้นำมาลงในบทความนี้ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มกล่าวว่ายาเอมพาโทเจนที่มีฤทธิ์แรงมากที่สุดได้แก่ Phenethylamine และ Amphetamine

กลไกการออกฤทธิ์ของเอมพาโทเจนเป็นอย่างไร?

ยาเอมพาโทเจนหรือเอมเทคโตเจน หมายถึง การก่อกำเนิดหรือการสร้างขึ้นซึ่งความรู้สึกร่วมหรือความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น (Generating a state of empathy) อาจกล่าวให้ฟังง่ายๆว่า กลุ่มยาเอมพาโทเจนจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดของสมองตลอดจนอารมณ์และสภาพจิตใจ การใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ จะทำให้ความรู้สึกของการรับรู้การตอบสนองดีขึ้น ส่งผลให้เกิดสมาธิ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเห็นความแตกต่างระหว่างการได้รับยานี้และไม่ได้รับยานี้ ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้จึงอาจเป็นแรงจูงใจให้คนบางกลุ่มอยากทดลองใช้และนำมาซึ่งพฤติกรรมการใช้ยานี้ในทางที่ผิด

อย่างไรก็ตามพฤติกรรมทางความคิด อารมณ์และจิตใจที่เปลี่ยนไปหลังจากได้รับยาเอมพาโทเจน เป็นผลของสารสื่อประสาท ที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสมอง ซึ่งยาเอมพาโทเจนหลายตัวมีกลไกการออกฤทธิ์โดย สามารถกระตุ้นทำให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทในบริเวณเซลล์ประสาทก่อนไซแนปส์(Presynaptic releasing agent) เช่น Serotonin , Norepinephrine, และ Dopamine, การปรับปริมาณสารสื่อประสาทดังกล่าวทำให้การทำงานของสมองและสภาพจิตใจเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้มีอาการเคลิ้มสบายหมดกังวล แต่ก็มีความตื่นตัวของร่างกาย เกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว และมีภาพหลอน การเสพ/การใช้ยานี้บ่อยๆต่อเนื่องจะส่งผลให้ติดยาและจะเกิดอาการถอนยาเมื่อหยุดเสพตามมา

ประโยชน์ทางคลินิกของเอมพาโทเจนมีอะไรบ้าง?

ประโยชน์ทางคลินิกของยาเอมพาโทเจน เช่น

  • ใช้เป็นยารักษาอาการทางจิตประสาท/ยารักษาทางจิตเวช
  • ใช้เป็น ยาต้านเศร้า โดยการออกฤทธิ์กระตุ้นสมอง
  • ใช้เป็นยากระตุ้นความบันเทิง (Recreational drug)
  • ใช้เป็นยากระตุ้นสมองบริเวณศูนย์อิ่ม จึงถูกนำมาบำบัดผู้ที่มีน้ำหนักร่างกาย มากเกินไป/ยาลดความอ้วน
  • เป็นยาบำบัดอาการสมาธิสั้น โรคลมหลับ

รูปแบบการจัดจำหน่ายเอมพาโทเจนมีอะไรบ้าง?

รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาเอมพาโทเจน เช่น

  • เป็นยาชนิดรับประทาน
  • ยาฉีด
  • ยาเหน็บทวาร
  • ยาสูดพ่นเข้าทางจมูก

เอมพาโทเจนมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

ยาเอมพาโทเจนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อตา: เช่น รูม่านตาขยาย
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ฟันผุง่าย เบื่ออาหาร ขากรรไกรแข็ง/ค้าง คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ความจำแย่ลง อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น เห็นภาพหลอน ติดยา เกิดอาการถอนยาเมื่อหยุดยาทันที
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล มีอาการหวาดระแวง ซึม กระสับกระส่าย เฉื่อยชา หมดความรู้สึกที่จะดำรงชีวิต ขาดความยับยั้งชั่งใจ นอนไม่หลับ

อันตรายจากการใช้ยากลุ่มเอมพาโทเจนผิดวิธีมีอะไรบ้าง?

การใช้ยาเอมพาโทเจนที่ไม่ตรงตามคำสั่งแพทย์ หรือการลักลอบซื้อหายาเหล่านี้มาใช้เอง อาจทำให้ได้รับยานี้เกินขนาด เกิดอันตรายจากผลข้างเคียงของตัวยา ตลอดจนกระทั่งมีอาการถอนยาตามมา ซึ่งอาจสรุปอันตรายร้ายแรงที่เกิดต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายได้ดังนี้ เช่น

  • อันตรายต่อระบบประสาทและสภาพจิตใจ: เช่น สูญเสียความทรงจำ มีอาการชัก เกิดประสาทหลอน สูญเสียการควบคุมสติสัมปชัญญะ เกิดภาวะ Serotonin syndrome มีภาวะสมองบวม เกิดไข้สูง
  • อันตรายต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งตัว/เป็นตะคริว เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย
  • อันตรายต่อระบบการหายใจ: เช่น กดการหายใจทำให้หายใจลำบาก
  • อันตรายต่อระบบทางเดินปัสสาวะ : เช่น เป็นพิษกับไต/สามารถสร้างความเสียหายต่อเซลล์ไต/ไตอักเสบ
  • อันตรายต่อตับ: เช่น เกิดภาวะตับอักเสบ

เอมพาโทเจนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเอมพาโทเจนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ยาเอมพาโทเจนจัดเป็นกลุ่มยาที่ทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทในสมองอย่างเช่น Serotonin, Norepinephrine, และ Dopamine, เพิ่มมากขึ้น การใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับกลุ่มยา MAOIs เป็นเรื่องที่ต้องหลีกเลี่ยง ด้วยจะทำให้สารสื่อประสาทในสมองดังที่กล่าวมาเพิ่มปริมาณมากขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดภาวะSerotonin syndrome เกิดภาวะโคม่า และทำให้เสียชีวิตในที่สุด

เราสามารถเลือกใช้เอมพาโทเจนอย่างปลอดภัยและเหมาะสมได้อย่างไร?

ยาเอมพาโทเจนหลายรายการถูกจัดให้เป็นยาควบคุมพิเศษ บางตัวก็จัดอยู่ในประเภทยาเสพติด จึงเป็นการยากที่ผู้บริโภคทั่วไปจะเข้าถึงยากลุ่มนี้ได้ ตัวยาเอมพาโทเจนที่มีการใช้ทางคลินิก จะพบเห็นแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น การจะใช้ยาเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องปลอดภัยจึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น

บรรณานุกรม

  1. https://ipfs.io/ipfs/QmXoypizjW3WknFiJnKLwHCnL72vedxjQkDDP1mXWo6uco/wiki/Empathogen-entactogen.html [2018,Feb3]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Empathogen%E2%80%93entactogen [2018,Feb3]
  3. https://psychonautwiki.org/wiki/Entactogen [2018,Feb3]
  4. http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635627 [2018,Feb3]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/MDMA#Overdose [2018,Feb3]