เอทโธซักซิไมด์ (Ehtosuxsimide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 ตุลาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาเอทโธซักซิไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาเอทโธซักซิไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเอทโธซักซิไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเอทโธซักซิไมด์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเอทโธซักซิไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเอทโธซักซิไมด์อย่างไร?
- ยาเอทโธซักซิไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเอทโธซักซิไมด์อย่างไร?
- ยาเอทโธซักซิไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยากันชัก ยาต้านชัก (Anticonvulsant drugs)
- ลมชัก (Epilepsy)
- ลมชักชนิดเหม่อ (Absence seizure)
- กรดวาลโปรอิก (Valproic acid: VPA)
- ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) หรือ ยาไดแลนติน (Dilantin)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
บทนำ: คือยาอะไร?
เอทโธซักซิไมด์ (Ehtosuxsimide)คือ ยากันชักชนิดหนึ่งที่ใช้รักษาโรคลมชักชนิด เรียกว่า ‘ลมชักชนิดเหม่อ’
ทั้งนี้ อาการชักจากโรคลมชักเกิดจากความผิดปกติของการนำส่งกระแสประสาทภายในสมอง (Epileptic form) ซึ่งส่งผลต่อการแสดงออกของร่างกาย โรคลมชักนี้มีการแบ่งออกเป็นหลายประเภท ขึ้นกับพยาธิกำเนิดและลักษณะการตอบสนองของร่างกาย โรคลมชักบางประเภทอาจเกิดอาการขึ้นภายในระยะเวลาสั้นๆเป็นวินาทีอย่างเช่น โรคลมชักชนิดเหม่อ (Absence Seizure)
โรคลมชักชนิดเหม่อพบส่วนมากในเด็ก เกิดขึ้นภายในระยะเวลาสั้นๆเป็นวินาที โดยผู้ ป่วยจะสูญเสียความรู้สึกตัว มีอาการเหม่อลอย ไม่มีการเคลื่อนไหว อาจเกิดร่วมกับการขยับริมฝีปากบ่อยๆหรือการแสดงออกเหมือนกำลังเคี้ยวอาหาร ซึ่งอาจแตกต่างจากรูปแบบการชักโดย ทั่วไปที่ผู้คนส่วนมากเข้าใจ
โรคลมชักชนิดเหม่อนี้ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย หากผู้ป่วยกำลังทำกิจกรรมต่อเนื่อง, กิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย, หรือการขับขี่พาหนะ, อาจนำมาซึ่งอุบัติเหตุได้ การรักษาโรคลมชักชนิดนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
การใช้ยากันชักในผู้ป่วยโรคลมชักที่รวมถึง’ลมชักชนิดเหม่อ’ เป็นลักษณะของการควบคุมอาการไม่ให้เกิดมากกว่าการรักษา โดยยากันชักฯมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับชนิดของอาการชักและตัวผู้ป่วยเอง ซึ่ง “ยาเอทโธซักซิไมด์ (Ehtosuxsimide)” เป็นหนึ่งในยากันชักเพื่อควบคุมอาการโรคลมชักชนิดเหม่อ การรับประทานยากันชักฯเหล่านี้ ผู้ป่วยต้องใช้ยาฯอย่างต่อเนื่อง ไม่ปรับระดับยาฯหรือหยุดยาฯด้วยตนเอง แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา/ผลข้างเคียงใดๆจากยาควรรีบมาโรงพยาบาล/แจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ
ยาเอทโธซักซิไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเอทโธซักซิไมด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- สำหรับควบคุมและ/หรือป้องกันโรคลมชักชนิดเหม่อ(Absence Seizure) โดยการควบคุมและลดคลื่นไฟฟ้าภายในสมองที่ผิดปกติขณะเกิดลมชักฯ
ยาเอทโธซักซิไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ที่แน่ชัดของยาเอทโธซักซิไมด์ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ โดยปกตินั้น กระแสประสาทในสมองทำงานโดยผ่านการกระตุ้นจากช่องทาง/แชนแนลต่างๆอาทิ โซเดียมแชน แนล (Sodium Channel), แคลเซียมแชนแนล (Calcium Channel), ซึ่งจากข้อมูลทางการศึก ษาวิจัยพบว่า ยาเอทโธซักซิไมด์ออกฤทธิ์โดยการปิดกั้นแคลเซียมแชนแนลชนิดที (T type Calcium Channel)ที่เซลล์ประสาทในสมองส่วนธาลามัส(Thalamus) ซึ่งเชื่อว่ามีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการชักชนิดเหม่อ และลดคลื่นไฟฟ้าสมองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญเสียการรู้สึกตัว ส่งผลให้คลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติ (Epileptic form)ลดลง และช่วยเพิ่มระดับกั้น(Threshold, ตัวกระตุ้นที่น้อยที่สุด/ขนาดต่ำที่สุดที่จะทำให้เกิดอาการ)ของการเกิดอาการลมชักฯ ทำให้ความเสี่ยงการเกิดอาการลมชักฯลดลงอีกด้วย
ยาเอทโธซักซิไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ปัจจุบันยาเอทโธซักซิไมด์ ไม่ได้เป็นยาในทะเบียนตำรับของไทย แต่มีการจัดจำหน่ายในต่างประเทศ 2 รูปแบบเภสัชภัณฑ์ คือ
- ชนิดแคปซูล ขนาดความแรง 250 มิลลิกรัมต่อเม็ด
- ชนิดยาน้ำเชื่อม ขนาดความแรง 250 มิลลิกรัมต่อยา 5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา)
ยาเอทโธซักซิไมด์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาเอทโธซักซิไมด์มีขนาดรับประทานยาดังต่อไปนี้ เช่น
- ในเด็กอายุ 3 - 6 ปี: เริ่มใช้ยาขนาด 250 มิลลิกรัมต่อวัน แพทย์สามารถปรับระดับยาเพิ่มได้ทุกๆ 4 - 7 วัน โดยทั่วไปแล้ว ขนาดการใช้ยาคือ 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยวินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา
- ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปและในผู้ใหญ่: เริ่มใช้ยาขนาด 500 มิลลิกรัมต่อวัน แพทย์สามารถปรับระดับยาเพิ่มได้ทุกๆ 4 - 7 วัน โดยทั่วไปแล้ว ขนาดการใช้ยาคือ 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยวินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา
- ในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี: ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนในการใช้ยานี้และในขนาดยา ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มอายุนี้จึงอยู่ในดุลวินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกขนิดรวมถึงยาเอทโธซักซิไมด์ ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติการแพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยาทุกชนิด
- ประวัติโรคประจำตัว การใช้ยาต่างๆ, ยาอื่นที่กำลังใช้ร่วมด้วย, ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย หรือยาที่ซื้อรับประทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงสมุนไพร โดยเฉพาะยาต้านเศร้า, ยากันชักอื่นๆอาทิ ยาฟีไนทอยด์ (Phenytoin) ยาโซเดียมวาลโพรเอต (Sodium Valproate), ยาแก้ปวด, ยาแก้อักเสบ (ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ), ยานอนหลับ, เพราะแพทย์ผู้ทำการรักษาอาจต้องติดตามหรือมีการปรับระดับยาที่ใช้ให้เหมาะสม
- ในสตรีตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบก่อนการใช้ยา เนื่องจากยานี้อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
- หากต้องทำการผ่าตัดรวมถึงทันตศัลยกรรม (ทำฟัน) ให้แจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์ทราบ หากคุณกำลังใช้ยาเอทโธซักซิไมด์
- ประวัติโรคตับ โรคไต โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี หรือมีโรคเกี่ยวข้องกับเลือด/โรคในระบบโรคเลือด
- ประวัติโรคที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ/อารมณ์/จิตเวช อาทิ โรคซึมเศร้า รวมถึงหากผู้ป่วยเคยมีความคิดหรือพยายามจะฆ่าตัวตายมาก่อน
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเอทโธซักซิไมด์ ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้เวลากับมื้อถัดไป ให้ข้ามไปทานมื้อถัดไป โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยาเอทโธซักซิไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเอทโธซักซิไมด์อาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์)บางประการ ซึ่งหากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งและไม่ทุเลาหรืออาการแย่ลง ให้รีบแจ้งให้แพทย์ทราบหรือพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด แต่ถ้าอาการมากควรไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งอาการฯ เช่น
- วิงเวียน
- อาเจียน
- ท้องเสีย
- ปวดเกร็ง/ปวดบีบช่องท้อง
- สูญเสียการรับรสชาติ
- น้ำหนักลด
- เหงือกบวม
- สะอึก
- ง่วงนอน
- เหนื่อยล้า
- มึนงง
- ปวดหัว
*อนึ่ง: อาการไม่พึงประสงค์ฯบางชนิดของยานี้อาจก่อให้เกิดอันตราย ซึ่งอาจรวมถึงอาการแพ้ยาอาทิ เจ็บคอ มีไข้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อหรือเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ, อาจตื่นขึ้นกลางดึกด้วยอาการหวาดกลัว, สมาธิลดลง, ผิวหนังลอก, โรคซีด, มีห้อเลือดขึ้นบริเวณผิวหนัง, เลือดออกบริเวณช่องคลอด, อาการของโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี (เช่น มีผื่นแดงรูปผีเสือขึ้นบริเวณใบหน้า อาการแน่นหน้าอก อาการปวดบวมของข้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ), หรืออาการแพ้ยา (เช่น มีผื่นแดง, ผื่นคันขึ้น, ผื่นลอกทั่วผิวหนังทั้งตัว, หรือมีอาการสตีเวนส์-จอห์นสัน ซินโดรม /Stevens-Johnson Syndrome, อาการบวมที่ตา ที่เปลือกตา/หนังตา ที่ริมฝีปาก ใบหน้า หรือที่คาง) หากมีอาการแพ้ยาดังกล่าวให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ยาเอทโธซักซิไมด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเอทโธซักซิไมด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ไม่ควรใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ วางแผนตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
- ยานี้เป็นยาเพื่อควบคุมอาการมิใช่ยารักษาอาการลมชัก ผู้ป่วยจึงควรรับประทานยานี้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆจากยานี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ/ไปโรงพยาบาลโดยทันที การหยุดยานี้เองอาจทำให้อาการลม ชักรุนแรงมากขึ้น
- การใช้ยานี้ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ปรับระดับยาด้วยตัวเอง
- อนึ่ง อาการง่วงนอนหรือมึนงงอาจมากขึ้น หากรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือยาอื่นที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม ระหว่างการรับประทานยานี้ควรหลีก เลี่ยงการขับรถหรือการควบคุม/ทำงานกับเครื่องจักรกล รวมถึงภารกิจหรืองานที่มีความเสี่ยง เช่น พลัดตก หรืออุบัติเหตุอื่นๆได้ง่าย (เช่น งานก่อสร้าง)
- ผู้ใช้ยานี้ควรดูแลสุขภาพเหงือกและฟันให้ดี เพราะยานี้อาจทำให้เกิดอาการเหงือกบวมหรือบวมตึง จึงควรเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจดูแลทางทันตกรรมเป็นประจำ
- ยานี้อาจทำให้สุขภาพจิตของผู้ป่วยเปลี่ยนไป เมื่อเริ่มใช้ยานี้ผู้ใช้ยาอาจมีความคิดที่จะทำร้ายตัวเองหรือคิดสั้น จากข้อมูลทางการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยจำนวนน้อยรายหลังเริ่มใช้ยานี้ (1 ใน 530 คน) มีอาการคิดสั้นหรืออยากทำร้ายตัวเอง อาการไม่พึงประสงค์นี้อาจพบได้มากขึ้นในผู้ที่เคยมีความคิดหรือความพยายามในการฆ่าตัวตายมาก่อนใช้ยานี้ ดังนั้นก่อนการใช้ยานี้ ผู้ป่วย ครอบครัว หรือญาติของผู้ป่วย รวมถึงผู้อภิบาลผู้ป่วย ควรปรึกษาความเสี่ยงเทียบกับประโยชน์จากการใช้ยานี้ร่วมกับแพทย์ผู้ทำการรักษา หากผู้ป่วยมีอาการตื่นตระหนก วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนหลับยาก ก้าวร้าว โกรธ หรือมีพฤติกรรมที่รุนแรง ผู้ป่วย ครอบครัวของผู้ป่วย หรือผู้อภิบาลผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ/พาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยทันที
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเอตโธซักซิไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเอทโธซักซิไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเอตโธซักซิไมด์อาจมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น เช่น
- หากใช้ยานี้ ร่วมกับ ยากันชักอื่นๆ อาทิ ยาฟีไนทอยด์ (Phenytoin), ยาโซเดียมวัลโพรเอต (Sodium valproate) อาจส่งผลให้เพิ่มระดับยาฟีไนทอยด์หรือยาโซเดียมวัลโพรเอต และยาสองชนิดนี้อาจเพิ่มหรือลดระดับยาเอทโธซักซิไมด์ ในการใช้ยาร่วมกันจึงอาจส่งผลต่อการรักษาและ/หรือต่อผลข้างเคียงจากยาเหล่านี้ก็ได้ จึงไม่ควรใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาเอทโธซักซิไมด์อย่างไร?
ควรเก็บรักษายาเอทโธซักซิไมด์ เช่น
- ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุดั้งเดิมของบริษัทผู้ผลิต
- เก็บยานี้ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บรักษายานี้ในอุณหภูมิห้อง (15 - 30 องศาเซลเซียส/Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- หลีกเลี่ยงบริเวณที่ถูกแสงแดดหรือความร้อนโดยตรง และบริเวณที่อับชื้นอาทิ บริเวณห้องน้ำหรือใกล้ห้องน้ำ
- ยารูปแบบชนิดน้ำเชื่อม ไม่ควรเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ให้ทิ้งยาหากยาหมดอายุ หรือแพทย์แจ้งว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้อีก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง วิธีทิ้งยาหมดอายุ)
ยาเอทโธซักซิไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเอทโธซักซิไมด์ มียาต้นตำรับ (Original drug)เป็นของบริษัท ไฟเซอร์ (Pfizer) ในชื่อการค้า ซารอนทิน (Zarontin®) ปัจจุบันในต่างประเทศมีการผลิตยาตำรับสำมัญ(Generic Drug) ของยานี้ด้วยแล้วที่ชื่อการค้า เช่น Emeside และ Ehtosuxsimide
บรรณานุกรม
- U.S. Food and Drug Administration. Zarontin®: Ethosuximide Capsules, USP Patient Medication Information. April 2009.
- Zarontin® Ethosuximide Patient Medication Leaflet. University of Michigan: Hospitals and Health Centers. November 11, 2011.
- Pharmaceutical Associates, Incorporated. Ethosuximide Approval Label. Label and Approval History. Food and Drug Administration Center for Drug Evaluation and Research. 2000.
- American Pharmacists Association. Ethoxusimide, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;2014:810-811.
- Australian Medicines Handbook (AMH). Antiepileptics: Ehoxusimide. 2014:677-678.
- Huguenard JR. Block of T-type Ca(2+) channels is an important action of succinimide antiabsence drugs. Epilepsy Curr. 2002;2:49–52.
- Panayiotopoulos CP. Typical absence seizures and related epileptic syndromes: assessment of current state and direction for future research. Epilepsia. 2008;49:2131–2149.
- สมศักดิ์ เทียมเก่า. ลมชักชนิดเหม่อ (Absence seizure). haamor.com/th/ลมชักชนิดเหม่อ/ [2021,Oct16]
- https://patient.info/medicine/ethosuximide-for-epilepsy [2021,Oct16]