เอซาโพรพาโซน (Azapropazone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเอซาโพรพาโซน(Azapropazone) เป็นยาที่จัดอยู่ในยากลุ่มเอ็นเสด (NSAID) ทางคลินิกนำยานี้มาบำบัดอาการของโรคเกาต์ (Acute gout) โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) ยานี้ถูกวางจำหน่ายครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษโดยใช้ชื่อการค้าว่า “Rheumox” รูปแบบผลิตภัณฑ์ยานี้เป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยานี้อยู่ในร่างกาย/ในกระแสเลือดได้นานประมาณ 4–16.5 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ ทั้งนี้ยาเอซาโพรพาโซนต้องรับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันทีเพื่อลดอาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้

ข้อจำกัดของการใช้ยาเอซาโพรพาโซนที่ผู้บริโภคควรทราบ เช่น

  • ห้ามใช้ยากับผู้ที่มีประวัติเป็นแผลในระบบทางเดินอาหาร(เช่น แผลในกระเพาะอาหาร แผลเปบติค) รวมถึงผู้ที่มีภาวะทางเดินอาหารอักเสบ(เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้อักเสบ) ผู้ที่เป็นโรคเลือด/โรคระบบโลหิตวิทยา ผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาเอซาโพรพาโซน
  • ห้ามใช้รักษาภาวะเกาต์กับผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคไตร่วมด้วย
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ แพทย์อาจปรับลดขนาดการรับประทานตามความเหมาะสมต่อผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • หากพบอาการวิงเวียนระหว่างการใช้ยานี้ ต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • การใช้ยาเอซาโพรพาโซนร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างเช่นยา Coumarin ถือเป็นข้อห้ามและควรหลีกเลี่ยง ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย

ที่สำคัญที่สุด การใช้ยาเอซาโพรพาโซนต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น และโดยทั่วไป ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่องจนกว่าอาการอักเสบจากโรคเกาต์ หรือโรคข้อรูมาตอยด์กลับมาเป็นปกติตามแพทย์แนะนำ และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ อย่างไรก็ตามระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยานี้ จะต้องมาพบ แพทย์/มาโรงพยาบาลเป็นระยะๆตามแพทย์นัดหมาย ทั้งนี้เพื่อแพทย์ได้ประเมินอาการป่วย ประเมินผลกระทบหรืออาการข้างเคียง(ผลข้างเดคียง)จากยานี้ รวมถึงประเมินการทำงานของหัวใจและของไต ผู้ป่วยควรต้องให้ความร่วมมือมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง

อนึ่งหากใช้ยาเอซาโพรพาโซนผิดวิธีตามที่ แพทย์ และ/หรือเภสัชกรแนะนำ อาจก่อให้เกิดผลเสีย/ผลข้างเคียงจากยานี้ต่อร่างกายผู้ป่วยอย่างรุนแรง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ก่อนการใช้ยาใดๆรวมถึงยาเอซาโพรพาโซน ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือจากเภสัชกรจนเข้าใจก่อนการใช้ยาเสมอ

เอซาโพรพาโซนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เอซาโพรพาโซน

ยาเอซาโพรพาโซนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น บำบัดอาการอักเสบจากโรคเกาทต์ โรคข้อรูมาตอยด์ โรคข้อ และโรคกระดูก

เอซาโพรพาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเอซาโพรพาโซนเป็นอนุพันธ์ของกลุ่มยาไพราโซล (Pyrazole derivative, สารเคมีที่นำมาใช้ผลิตยาได้หลายชนิด เช่น ยาแก้ปวด ยาต้านเชื้อรา) โดยยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ยับยั้งการทำงานของสารที่กระตุ้นการอักเสบของร่างกาย ทำให้บรรเทาอาการปวดและการอักเสบของข้อกระดูกต่างๆ นอกจากนี้ยังออกฤทธิ์ ขับกรดยูริค ออกจากกระแสเลือดได้อีกด้วย จากกลไกดังกล่าวจึงส่งผลลดการอักเสบของเนื้อเยื่อของข้อกระดูก และเกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

เอซาโพรพาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเอซาโพรพาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น ยาแคปซูลชนิดรับประทานที่มีตัวยา Azapropazone ขนาด 300 มิลลิกรัม/แคปซูล (0.3 กรัม/แคปซูล)

เอซาโพรพาโซนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเอซาโพรพาโซนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับรักษาโรคเกาต์(Acute gout):

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 1.8 กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานตามแพทย์สั่ง จนกระทั่งอาการเริ่มดีขึ้น จากนั้นแพทย์อาจปรับขนาดรับประทาน ลดลงมาเป็น 1.2 กรัม/วัน จนอาการหายเป็นปกติ
  • ผู้สูงอายุ: รับประทานยาวันแรก 1.8 กรัม/วัน แล้วแพทย์อาจปรับลดขนาดรับประทานในวันต่อๆมาลงเป็น 1.2 กรัม/วัน เมื่ออาการเริ่มทุเลา แพทย์อาจปรับลดขนาดลงมาเป็น 600 มิลลิกรัม/วัน และใช้ขนาดรับประทานนี้ต่อจนกระทั่งอาการดีขึ้น

ข.สำหรับรักษาโรคข้อรูมาตอยด์(Rheumatoid arthritis):

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 1.2 กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็น 2 – 4 ครั้ง/วัน หรือตามแพทย์สั่ง
  • ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี: รับประทานยาครั้งละ 300 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น

อนึ่ง:

  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • ต้องรับประทานยานี้ พร้อมหรือหลังอาหาร ทันที
  • หยุดการใช้ยาทันที หากพบอาการแพ้ยา เช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ตัวบวม แล้วรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเอซาโพรพาโซน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น แผลในกระเพาะอาหาร โรคความดันโลหิตสูง โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอซาโพรพาโซนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเอซาโพรพาโซน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า

เอซาโพรพาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเอซาโพรพาโซนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจางจากภาวะเม็ดเลือดแดงแตก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหารและลำไส้ มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร และ/หรือในลำไส้ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ง่วงนอน หูอื้อ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง ตัวบวม
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ผื่นแพ้แสงแดดได้ง่าย
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึมเศร้า กระสับกระส่าย

มีข้อควรระวังการใช้เอซาโพรพาโซนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอซาโพรพาโซน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น แคปซูลแตกหัก หรือเปียกชื้น
  • ห้ามรับประทานยาเอซาโพรพาโซนพร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันจนกว่าอาการจะดีขึ้น
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอซาโพรพาโซนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และ สมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เอซาโพรพาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเอซาโพรพาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอซาโพรพาโซนร่วมกับยา กลุ่ม ACE inhibitors, Cyclosporin, Tacrolimus, หรือยาขับปัสสาวะ, ด้วยอาจก่อให้เกิดพิษกับไต/ไตอักเสบ
  • การใช้ยาเอซาโพรพาโซนร่วมกับยากลุ่ม Quinolones อาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเอซาโพรพาโซนร่วมกับยากลุ่ม Corticosteroids, SSRIs อาจทำให้เลือดออกในระบบทางเดินอาหารง่ายขึ้น กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • ห้ามใช้ยาเอซาโพรพาโซนร่วมกับยา Zidovudine ด้วยจะก่อให้เกิดความเป็นพิษกับระบบเลือดของผู้ป่วย เช่น โลหิตจาง

ควรเก็บรักษาเอซาโพรพาโซนอย่างไร?

ควรเก็บยาเอซาโพรพาโซน ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ และเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น

เอซาโพรพาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเอซาโพรพาโซนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Rheumox (รูมอกซ์)Goldshield

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Azapropazone [2017,Jan7]
  2. http://home.intekom.com/pharm/cont_eth/rheumox.html#DOSAGE [2017,Jan7]
  3. http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/j.1365-2125.1982.tb04947.x/pdf [2017,Jan7]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/azapropazone/?type=brief&mtype=generic [2017,Jan7]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Pyrazole#Occurrence_and_uses [2017,Jan7]