Temper Tantrums เหวี่ยงอาละวาด (ตอนที่ 2 และเป็นตอนจบ)

เหวี่ยงอาละวาด-2

      

      การร้องอาละวาดนับเป็นพฤติกรรมรบกวนจิตใจด้วยการโยนตัวหรือร้องเอ็ดตะโร ตอนที่แล้วกล่าวว่า การร้องอาละวาดเป็นปฏิกิริยาต่อความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง โดยปกติแล้ว มักเกิดในเด็กที่ยังไม่สามารถพูดสื่อสารถึงความต้องการหรือควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดีเมื่อมีเรื่องคับข้องใจ แต่เด็กบางกลุ่มก็ไม่สามารถจะจัดการกับการร้องอาละวาดได้ เพราะอาจไม่ได้รับการตอบสนองที่เหมาะสมในวัยเด็ก ทำให้การอาละวาดนี้ดำเนินต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ ตัวอย่างการร้องอาละวาดในผู้ใหญ่ที่เห็นได้ชัดเจนคือ การบันดาลโทสะขณะขับรถ

      ศาสตราจารย์เกียรติคุณ Roberta Satow แห่ง Brooklyn College ซึ่งเป็นนักเขียนคอลัมน์ในเว็บไซต์ Psychology Today กล่าวว่า มีผู้อ่านหลายคนสอบถามว่าจะจัดการกับการร้องอาละวาดของคู่สมรส พี่น้อง และเด็กโตได้อย่างไร

      กลยุทธในการจัดการการร้องอาละวาดในผู้ใหญ่เป็นสิ่งสำคัญ ต่อไปนี้คือข้อแนะนำในการรับมือกับการร้องอาละวาดในผู้ใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านตอบสนองต่อการร้องอาละวาดของคนที่รักได้ดีขึ้น

      1) ให้ใจเย็นเข้าไว้ กฎข้อแรกของการรับมือกับการร้องอาละวาดในผู้ใหญ่คือ ให้ใจเย็นเข้าไว้ และพยายามไม่เข้าไปมีส่วนร่วม เพราะคนที่กำลังร้องอาละวาดจะไม่สามารถพูดคุยด้วยเหตุผลได้

      2) ประเมินความเสี่ยงของการเกิดอันตราย หากผู้ที่กำลังร้องอาละวาดมีพฤติกรรมเสพยาเสพติด ดื่มสุรา หรือขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย ควรออกจากสถานที่นั้น และแจ้งเจ้าหน้าที่

      หากผู้ที่กำลังร้องอาละวาดไม่มีท่าทีใช้ความรุนแรง ให้รับมือด้วยวิธีดังต่อไปนี้

      3) ให้แสดงว่าคุณเข้าใจ โดยการพูดอย่างใจเย็นว่าคุณเข้าใจว่าเพราะอะไรเขาถึงเสียใจ เช่น “ฉันเข้าใจว่าเธออยากให้ฉันจ่ายค่าจัดงานแต่งงานให้เพราะมันเป็นงานสำคัญของเธอแต่ไม่มีเงินพอ” “ฉันเข้าใจว่า เธอโกรธเพราะฉันไปวิจารณ์เธอว่าทำตัวเหมือนเด็ก” หรือ “ฉันเข้าใจว่าเธอต้องการให้ฉันช่วยทำงานบ้าน” เป็นต้น

      4) สร้างขอบเขต หลังจากที่แสดงออกว่าคุณเข้าใจเขาแล้ว ให้สร้างขอบเขตโดยใช้น้ำเสียงนิ่ง ๆ ว่าพฤติกรรมใดที่คุณไม่ยอมรับ เช่น “ฉันเข้าใจว่าเธออยากให้ฉันช่วยทำงานบ้าน และไม่ยุติธรรมที่ฉันไม่ช่วยเธอ แต่เธอจะปาข้าวของใส่ฉันแบบนี้ไม่ได้นะ”

      ถ้าเขายังร้องอาละวาดอยู่อีกละก็

      5) รักษาระยะห่าง การร้องอาละวาดเป็นผลของการมีปฏิสัมพันธ์ ให้บอกว่าคุณจะออกไปก่อน และจะกลับมาพูดด้วยอีกครั้งเมื่อเขาอารมณ์ดีขึ้นและพร้อมจะคุย ที่ต้องออกไปจากสถานที่นั้นเพราะการร้องอาละวาดจะหายเร็วขึ้นหากคุณไม่เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ต่อไป เขาก็จะไม่มีคนให้ปะทะ หากเขาตามคุณมา คุณอาจต้องออกไปจากบ้านเลยทีเดียว

      โดยสรุปแล้ว การร้องอาละวาดในผู้ใหญ่นั้นรับมือได้ยากกว่าในเด็ก ไม่ว่าคุณจะรับมือกับการร้องอาละวาดของคู่สมรส พี่น้อง หรือเด็กโต ทางที่ดีคือต้องสร้างข้อจำกัดที่จะทำให้คุณปลอดภัย หากคุณทั้งคู่ต้องการหยุดพฤติกรรมทำลายล้างเช่นนี้ก็สามารถสร้างข้อตกลงร่วมกันได้ แต่โดยปกติแล้ว ผู้ที่เป็นฝ่ายร้องอาละวาดมักไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ถ้าเป็นอย่างนั้น คุณต้องเป็นฝ่ายหาวิธีที่จะปกป้องตัวคุณเอง และต้องยอมรับสภาพว่าอีกฝ่ายอาจไม่ชอบใจนัก

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Adult Temper Tantrums: How to become a more resilient adult https://www.psychologytoday.com/us/blog/life-after-50/201805/adult-temper-tantrums [2019, Jun 12].
  2. A Strategy to Deal with Adult Temper Tantrums: How do you cope with tantrums of spouses, adult children or siblings? https://www.psychologytoday.com/intl/blog/life-after-50/201902/strategy-deal-adult-temper-tantrums [2019, Jun 12].