Temper Tantrums เหวี่ยงอาละวาด (ตอนที่ 1)
- โดย พ.ท.หญิง กุลกานต์ ฤทธิ์ฤๅชัย รัตนวราหะ
- 17 มิถุนายน 2562
- Tweet
ผู้ปกครองหลายท่านคงเคยมีประสบการณ์ที่บุตรหลานไปสะดุดตากับของเล่นที่อยู่นอกเหนือจากรายการซื้อของที่เตรียมไว้ เมื่อเราปฏิเสธไม่ให้ซื้อของเล่นชิ้นนั้นกลับบ้าน ปากเล็ก ๆ นั้นก็เริ่มเบะ และน้ำตาเริ่มคลอเบ้า แต่ปัญหาคือ ปฏิกิริยาไม่ได้หยุดแค่นั้น แต่ไปขั้นสุดคือ ลงไปดิ้นอยู่กับพื้น ร้องไห้ประหนึ่งโลกจะแตกไปต่อหน้า และขั้นสุดของขั้นสุดคือ ทุกคนในห้างหันมามองคุณเป็นตาเดียว สิ่งที่คุณคิดโดยอัตโนมัติคือ จะทำอย่างไรดี จะตอบสนองอย่างไรจึงจะดีที่สุด เพราะอะไรเด็กจึงระเบิดอารมณ์อาละวาดเช่นนั้น และจะมีทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ไหม บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้เพื่อให้ผู้ปกครองเข้าใจและรับมือกับการร้องอาละวาดของบุตรหลานได้ดียิ่งขึ้น
เพราะอะไรเด็กจึงร้องอาละวาด
การร้องอาละวาดเกิดจากการที่เด็กต้องการจะแสดงออกถึงความคับข้องใจที่เขากำลังเผชิญอยู่ เช่น บางทีเด็กอาจกำลังพยายามทำอะไรสักอย่างแต่ทำไม่ได้ หรืออาจพยายามพูดสื่อสารอะไรบางอย่างแต่ไม่มีคลังคำศัพท์ที่มากพอที่จะพูดให้ผู้ใหญ่เข้าใจได้ เป็นต้น ความคับข้องใจเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดความโกรธซึ่งจบลงด้วยการร้องอาละวาดในที่สุด และหาความคับข้องใจเหล่านี้เกิดขึ้นในห้วงที่เด็กกระหายน้ำ หิว หรือเหนื่อย ความอดทนก็จะยิ่งน้อยลง ทำให้การร้องอาละวาดเกิดง่ายขึ้น
เด็ก ๆ จงใจร้องอาละวาดหรือเปล่า
เด็กเล็กไม่ได้วางแผนที่จะโมโหหรือทำให้ผู้ปกครองอับอายแต่อย่างใด สำหรับเด็ก ๆ แล้ว การร้องอาละวาดเป็นวิธีแสดงออกถึงความคับข้องใจเท่านั้น แต่สำหรับเด็กโตขึ้นมาอีกนิด การร้องอาละวาดอาจเกิดจากการเรียนรู้ โดยเฉพาะหากผู้ปกครองตอบสนองต่อการร้องอาละวาดด้วยการให้สิ่งที่ลูกหลานต้องการเมื่อเขาร้องอาละวาด อาการร้องอาละวาดก็จะยิ่งดำเนินต่อไป
เราจะป้องกันไม่ให้เกิดการร้องอาละวาดได้หรือไม่
จริง ๆ แล้วคงไม่มีสูตรสำเร็จในการจัดการกับการร้องอาละวาด แต่มีหลายสิ่งที่ผู้ปกครองสามารถทำได้เพื่อสนับสนุนให้เด็ก ๆ มีพฤติกรรมที่ดีตั้งแต่ยังเล็ก เช่น
- มีความเสมอต้นเสมอปลาย กำหนดกิจวัตรประจำวันให้เด็ก ๆ เขาจะได้ทราบว่าเขาจะต้องทำอะไรบ้าง และทำอย่างไรในแต่ละวัน ให้ยึดตามกิจวัตรที่จัดไว้เท่าที่จะเป็นไปได้ รวมถึงเวลานอนกลางวัน และเวลาเข้านอน ตั้งขอบเขตที่เป็นไปได้และทำตามอย่างเคร่งครัด
- วางแผนล่วงหน้า พาเด็ก ๆ ไปเดินซื้อของด้วยในช่วงที่เขาไม่หิวและไม่ง่วง หากต้องมีการรอคิว ควรนำของเล่นหรือขนมขบเคี้ยวติดไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ รู้สึกเบื่อ
- เสนอตัวเลือกให้เขา อย่าปฏิเสธไปเสียทุกอย่าง ควรให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าเขาเป็นฝ่ายควบคุมบ้าง โดยการเสนอตัวเลือกให้เขา เช่น “วันนี้จะใส่เสื้อสีเขียวหรือสีเหลือง” “อยากจะกินกล้วยหรือส้ม” “อยากอ่านหนังสือหรือต่อเลโก้ เป็นต้น
- ชมเมื่อทำดี ให้ความสนใจเป็นพิเศษเมื่อเด็ก ๆ ทำดี เช่น กอดหรือบอกเขาว่ารู้สึกภูมิใจที่แบ่งปันสิ่งของหรือทำตามคำสั่ง เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดการร้องอาละวาด เช่น อย่าซื้อของเล่นที่ยากเกินวัยของเขา หากเขามักจะร้องขอของเล่นเมื่อไปซื้อของ ก็ไม่ควรจะพาเดินผ่านแผนกของเล่น หรือหากเขามักจะร้องอาละวาดในร้านอาหาร ก็ควรเลือกร้านที่ทำอาหารได้ไว เป็นต้น
โดยปกติแล้ว การร้องอาละวาดมักจะหยุดเมื่อเด็กโตขึ้น อย่างไรก็ตาม การร้องอาละวาดอาจดำเนินต่อไปถึงวัยผู้ใหญ่
ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป
แหล่งข้อมูล:
- Temper tantrums in toddlers: How to keep the peace https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/infant-and-toddler-health/in-depth/tantrum/art-20047845[2019, Jun 12].
- Taming Tempers https://kidshealth.org/en/parents/temper.html [2019, Jun 12].