เหล่แล้วรีบแก้ (ตอนที่ 2)

เหล่แล้วรีบแก้-2

      

โดยปกติลูกตาจะเคลื่อนไหวไปด้วยกัน การเคลื่อนไหวของลูกตาถูกควบคุมโดยกล้ามเนื้อ 6 ส่วน ที่ได้รับคำสั่งจากสมองให้ทำการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน หากกล้ามเนื้อของลูกตาแต่ละข้างไม่สามารถทำงานเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวให้ไปในทิศทางเดียวกันได้ ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะตาเหล่ตาเข

โดยโรคตาเหล่ตาเขสามารถแบ่งออกได้หลายชนิดตามทิศทางการมองของตา ได้แก่

  • ตาเขเข้าใน (Esotropia)
  • ตาเขออกนอก (Exotropia)
  • ตาเขขึ้นบน (Hypertropia)
  • ตาเขลงล่าง (Hypotropia)

และยังแบ่งตามประเภทอื่น เช่น

  • ความบ่อยของการเกิดตาเข เช่น ตาเขถาวรหรือตาเขเป็นครั้งคราว (Constant or intermittent)
  • ตาเขข้างเดียว (Unilateral)
  • ตาเขสลับข้าง (Alternating)

นอกจากนี้ ยังมีตาเขชนิดหลอกหรือภาวะที่ดูเหมือนมีตาเข (Pseudostrabismus) ซึ่งลักษณะของตาที่ดูเผินๆ คล้ายตาเข แต่เมื่อตรวจจริงๆ จะไม่เข มักพบในเด็กที่มีเปลือกตาค่อนข้างเล็กหรือเฉียงขึ้นบนเล็กน้อย หรือขอบเปลือกตาบนด้านหัวตาโค้งต่ำกว่าปกติทำให้ดูเหมือนลูกตาอยู่ชิดหัวตา เหมือนตาเขเข้าใน เมื่อเด็กโตขึ้นและมีพัฒนาการของรูปหน้า ภาวะที่ดูเหมือนมีตาเขจะหายไป

สำหรับปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคตาเหล่ตาเข ได้แก่

  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นตาเข
  • กำลังหักเหแสงของตาผิดปกติ (Refractive error)
  • มีโรคประจำตัว (Medical conditions) เช่น ดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) ภาวะสมองพิการ (Cerebral palsy) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคเกรฟส์ (Graves' Disease ที่มีฮอร์โมนไทรอยด์ที่มากผิดปกติ) เป็นต้น

โดยอาการของโรคตาเหล่ตาเข ได้แก่

1. ตามองไม่ตรง

2. ตาไม่เคลื่อนไหวไปด้วยกัน

3. กระพริบตาหรือหยีตาบ่อย โดยเฉพาะเมื่อเจอแสงจ้า

4. ชอบเอียงศีรษะเมื่อมองสิ่งของ

5. มองเห็นภาพซ้อน

แหล่งข้อมูล:

  1. Crossed Eyes (Strabismus). https://www.health.harvard.edu/a_to_z/crossed-eyes-strabismus-a-to-z [2021, March 5].
  2. Strabismus (crossed eyes). https://www.aoa.org/healthy-eyes/eye-and-vision-conditions/strabismus?sso=y [2021, March 5].
  3. Strabismus (Crossed Eyes). https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15065-strabismus-crossed-eyes [2021, March 5].