เหล่แล้วรีบแก้ (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 27 กุมภาพันธ์ 2564
- Tweet
กรมการแพทย์ โดย รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) แนะพ่อ แม่ ผู้ปกครอง หากมีบุคคลในครอบครัวมีประวัติตาเหล่ ตาเข หรือสังเกตเห็นบุตรหลานมองวัตถุสิ่งของดวงตาทั้ง 2 ข้างไม่สัมพันธ์กัน อย่านิ่งนอนใจเพราะตาเหล่ ตาเขหายเองไม่ได้ แต่รักษาให้หายได้ หากพบตั้งแต่เนิ่น ๆ ควรเข้ารับการตรวจโดยจักษุแพทย์
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคตาเหล่ ตาเข คือ ภาวะที่การมองของตาทั้งสองข้างไม่ได้อยู่ในทิศทางเดียวกันและทำงานไม่ประสานกัน ผู้ป่วยจะใช้เพียงตาข้างที่ปกติจ้องมองวัตถุ ส่วนตาข้างที่เหล่อาจจะเบนเข้าด้านในหรือด้านนอก ขึ้นบนหรือลงล่างก็ได้ แนะนำว่าในเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 1 – 3½ ปี ควรได้รับการตรวจตา หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นตาเข ตาเหล่ หรือผู้ปกครองเห็นว่าบุตรหลานมีภาวะตาเข ตาเหล่ ควรรีบนำมาพบจักษุแพทย์
ทั้งนี้ หลายคนเข้าใจว่าโรคตาเหล่ ตาเขในเด็กสามารถหายได้เองเมื่อเด็กโตขึ้นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะภาวะดังกล่าวอาจไม่สามารถหายได้เอง ในรายที่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องในระยะเวลาที่เหมาะสม อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการมองเห็นอย่างถาวร พัฒนาการในการมองเห็นเกิดภาวะตาขี้เกียจได้ ดังนั้นควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมในการมองเห็นของบุตรหลาน หรือพาไปตรวจเช็กสายตากับจักษุแพทย์ก่อนวัยเข้าเรียนจะช่วยป้องกันปัญหาได้
ด้านนายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะตาเข ตาเหล่อาจเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น เกิดจากพันธุกรรม ความผิดปกติของสายตา กล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาต ประสบอุบัติเหตุ เนื้องอก ต้อกระจกหรือภาวะอื่นๆ ที่ทำให้การมองเห็นเสียไป วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดและสาเหตุของโรค ตาเหล่บางชนิดสามารถรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด บางชนิดรักษาโดยการผ่าตัดเท่านั้น หรืออาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน ดังนี้
1.การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยใช้แว่นสายตา ในผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากสายตาผิดปกติ เช่น สายตายาวที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดตาเหล่เข้า การฝึกกล้ามเนื้อตาการรักษาด้วยยาฉีดที่กล้ามเนื้อตา นอกจากนี้ ตาเหล่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะตาขี้เกียจในเด็กได้ ซึ่งหากตรวจพบต้องรีบรักษาทันที ก่อนที่จะผ่าตัดแก้ไขตาเหล่ หากเด็กอายุมากกว่า 10 ปี ผลการรักษาอาจมีประสิทธิผลลดลง อาจส่งผลให้ตาข้างนั้นมัวอย่างถาวรได้
2.การรักษาโดยการผ่าตัด เป็นการผ่าตัดกล้ามเนื้อตาทำให้ตาตรง เป็นผลดีต่อการทำงานของตาช่วยทำให้การมองเห็นมีประสิทธิภาพดีขึ้น และส่งผลดีต่อพัฒนาการและบุคลิกภาพของเด็กด้วย อย่างไรก็ตามการดูแลหลังผ่าตัดมีความสำคัญ ในช่วงสัปดาห์แรกควรหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำเข้าตา เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้ และควรหมั่นพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจดูอาการอย่างต่อเนื่อง
โรคตาเหล่ ตาเข (Strabismus / Crossed eyes) เป็นสภาวะที่ตาทั้งสองข้างไม่มองไปในทางเดียวกันในเวลาเดียวกัน มักเกิดในผู้ที่มีกล้ามเนื้อตาขี้เกียจหรือมีสายตายาวมาก ส่วนใหญ่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม (ร้อยละ 30 ของเด็กที่เป็นโรคนี้เกิดจากพันธุกรรม)
โรคตาเหล่ตาเขมักเกิดในทารกและเด็กเล็กอายุก่อน 3 ปี ซึ่งอาการจะแย่ลงหากไม่ได้รับการรักษา ดังนั้นหากพบว่าเด็กที่อายุมากกว่า 4 เดือนขึ้นไปมีตาไม่ตรง จึงควรให้แพทย์ทำการตรวจดู
แหล่งข้อมูล:
- ตาเข ตาเหล่ในเด็ก รู้ก่อนรักษาได้. https://www.thaihealth.or.th/Content/53916-ตาเข%20ตาเหล่ในเด็ก%20รู้ก่อนรักษาได้.html,[2021, February 26].
- Strabismus (crossed eyes). https://www.aoa.org/healthy-eyes/eye-and-vision-conditions/strabismus?sso=y [2021, February 26].
- Strabismus (Crossed Eyes). https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15065-strabismus-crossed-eyes [2021, February 26].