เหงื่อ (Perspiration)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 29 พฤษภาคม 2564
- Tweet
นิยามคำว่าเหงื่อ
เหงื่อ(Perspiration หรือ Sweating) คือ ของเหลวที่สร้างจากต่อมเหงื่อซึ่งกระจายอยู่ในผิวหนังส่วนต่างๆทั่วร่างกาย โดยมีทั้งหมดประมาณ 2-4 ล้านต่อม
เหงื่อ จัดเป็นสารละลายชีวสาร(Biofluid)/ชีววัตถุ(Biological product) มีลักษณะใสเหมือนน้ำ และเป็นกรดอ่อนๆ มีค่าความเป็นกรดด่าง(pH)ประมาณ 6.3
ส่วนประกอบหลักของเหงื่อ คือ น้ำ คิดเป็นประมาณ 99% และอีกประมาณ 1%เป็นสารเคมีต่างที่มีอยู่ในเลือดที่รวมถึง สารอาหาร, ยาต่างๆ, แร่ธาตุต่างๆ เช่น โซเดียม(ส่งผลให้เหงื่อมีรสเค็มเล็กน้อย), แคลเซียม, กรดแลคติค(Lactic acid) ซึ่งเมื่อเหงื่อถูกสันดาปโดยแบคทีเรียบนผิวหนังจะทำให้เกิดกลิ่นซึ่งคือ ‘กลิ่นตัว’
ในผู้ใหญ่ปกติ ต่อมเหงื่อทั่วร่างกายจะสร้างเหงื่อสูงสุดได้ประมาณ 2-4ลิตร/ชั่วโมง, หรือ 10-14ลิตร/วัน, หรือคิดเป็นน้ำหนัก 10-15 กรัม/ต่อนาที/พื้นที่ 1 ตารางเมตร
ปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างเหงื่อ: ได้แก่
- อุณหภูมิภายในร่างกาย
- อุณหภูมิในสิ่งแวดล้อม
- อารมณ์ เช่น เครียด ตื่นเต้น โกรธ กลัว วิตกกังวล อาการปวดมาก
- รสชาติอาหาร และเครื่องดื่ม เช่น เผ็ด แอลกอฮอล์
- โรคต่างๆ เช่น อาการไข้, โรคติดเชื้อ, เบาหวาน, ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ, โรคมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งระบบโรคเลือด, ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน, โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาโรคไทรอยด์, ยาเบาหวาน, ยามอร์ฟีน
- การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศในร่างกาย เช่น ภาวะหมดประจำเดือน,
ภาวะการตั้งครรภ์
ประโยชน์ของเหงื่อ:
เหงื่อ เป็นของเหลวที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อช่วยควบคุมรักษาอุณหภูมิภายในของร่างกายให้คงที่เป็นปกติ ซึ่งความร้อนภายในร่างกายจะถูกขับออกมากับเหงื่อและเมื่อเหงื่ออกมาที่ผิวหนัง การระเหยของเหงื่อก็จะนำพาความร้อนออกนอกร่างกาย จึงช่วยให้ร่างกายเย็นลง
ดังนั้น เมื่ออุณหภูมิภายในร่างกายสูง ร่างกาย/ต่อมเหงื่อก็จะสร้างเหงื่อมากขึ้น ในขณะที่เมื่ออุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ ต่อมเหงื่อก็จะสร้างเหงื่อน้อยลง
ทั้งนี้ การควบคุมอุณหภูมิในร่างกายที่ผ่านกระบวนการสร้างเหงื่อของต่อมเหงื่อจะถูกควบคุมโดย ‘ระบบประสาทอัตโนมัติ’ ร่วมกับสมองส่วนที่เรียกว่า ‘ไฮโปธาลามัส’
เนื่องจาก เหงื่อ จัดเป็นสารคัดหลั่งชนิดหนึ่ง และในเหงื่อมีสารเคมีต่างๆที่อยู่ในเลือด ทางการแพทย์จึงสามารถตรวจหาสารเคมีต่างๆเหล่านั้นได้จากเหงื่อด้วย การตรวจทางห้องปฏิการ ที่รวมถึง ยาต่างๆ, ยาเสพติด, สารอาหาร, ฯลฯ ซึ่งใช้ช่วยในการวินิจฉัยหาสาเหตุ/โรคต่างๆ เช่น โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis), รวมถึงตรวจหาชนิดและความเข็มข้นของยาบางชนิดที่ผู้ป่วยได้รับที่รวมถึงชนิดของยาเสพติด
นอกจากนั้น ความเป็นกรดอ่อนๆของเหงื่อ ยังช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ผิวหนังไม่ให้เจริญมากเกินไปจนสามารถก่อโรคต่อผิวหนังและ/หรือต่อร่างกาย
บรรณานุกรม
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4369929/ [2021,May22]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Perspiration [2021,May22]