เลโวคาร์นิทีน (Levocarnitine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เลโวคาร์นิทีน(Levocarnitine หรือ L-Carnitine) เป็นสารชีวโมเลกุลในกลุ่มสารคาร์นิทีน(Carnitine)ที่พบได้ทั้งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พืช และแบคทีเรีย ทางด้านเคมี ยังแบ่งคาร์นิทีนออกเป็น ดี-คาร์นิทีน(D-Carnitine หรือ Dextrorotatory carnitine หรือ Dextro carnitine) และแอล-คาร์นิทีน(L-Carnitine หรือ Levocarnitine หรือ Levorotatory carnitine) สิ่งมีชีวิตหลายชนิดสามารถสังเคราะห์เลโวคาร์นิทีนขึ้นได้เองในร่างกาย โดยต้องใช้สารตั้งต้นประเภทกรดอะมิโนที่มีชื่อว่า ไตรเมทิลไลซีน (Trimethylysine) หน้าที่สำคัญของคาร์นิทีนหรือเลโวคาร์นิทีน คือ ตัวมันจะช่วยขนส่งสารประเภทกรดไขมันที่มีลักษณะเป็นสายยาว(Long chain fatty acid) เข้าสู่หน่วยย่อยภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ไมโทคอนเดรีย(Mitochondria) หน่วยย่อยนี้จะคอยสร้างพลังงานให้กับเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ดังนั้นเราอาจสรุปได้แล้วว่า เลโวคาร์นิทีนเป็นสารประกอบที่จำเป็นที่ทำให้เกิดพลังงานของร่างกายเพื่อใช้ดำรงชีวิตนั่นเอง อวัยวะที่ทำงานตลอดเวลาอย่างเช่น หัวใจ หรือเซลล์ของกล้ามเนื้อ ในร่างกายต้องอาศัยแหล่งกำเนิดพลังงานโดยมีคาร์นิทีนเป็นกลไกหลักทั้งสิ้น หากร่างกายขาดคาร์นิทีนจะส่งผลให้เกิดอันตรายกับหัวใจและกล้ามเนื้อให้ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ การตรวจร่างกายโดยแพทย์จะทำให้ทราบว่า ตนเองขาดสารประเภทคาร์นิทีนหรือไม่

อนึ่ง ตัวชี้วัดที่สำคัญที่ยืนยันภาวะขาดสารคาร์นิทีน ได้แก่

  • การตรวจปริมาณสารคาร์นิทีนในพลาสมาแล้วพบว่า ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
  • มีปริมาณกรดอินทรีย์หรือกรดไขมันเกินมาตรฐานของร่างกาย ทั้งนี้ผู้ที่มีระดับสารคาร์นิทีนเป็นปริมาณปกติ จะรักษาสมดุลของกรดอินทรีย์และกรดไขมันไม่ให้มีมากจนเกินไปจนก่อให้เกิดพิษหรือโทษกับร่างกาย

ทั้งนี้ สาเหตุของการขาดสารประเภทคาร์นิทีน/สารคาร์นิทีนเท่าที่พบได้ในปัจจุบันเกิดจาก

  • ความผิดปกติทางพันธุกรรมของบุคคลนั้นที่ทำให้ระบบการสังเคราะห์สารคาร์นิทีนไม่เป็นปกติ และมีความแตกต่างจากคนอื่น ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอาการของโรคหัวใจ มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงตลอดจนกระทั่งมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำร่วมด้วย กรณีนี้ เราเรียกว่าเป็น “ภาวะขาดสารคาร์นิทีนปฐมภูมิ (Primary carnitine deficiency)
  • กรณีถัดมาคือ “ภาวะขาดคาร์นิทีนทุติยภูมิ(Secondary carnitine deficiencies)” คือ การขาดสารคาร์นิทีนด้วยเหตุจากอาการป่วยของร่างกาย เช่น มีภาวะไตล้มเหลวเรื้อรัง ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถกักเก็บกรดอะมิโนซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการสร้างคาร์นิทีนของร่างกาย หรือ จากการใช้ยาปฏิชีวนะบางประเภทที่ทำให้การดูดซึมของคาร์นิทีนจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลงหรือไม่ ก็เพิ่มการขับคาร์นิทีนออกจากร่างกายได้มากขึ้น

สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ที่มีร่างกายเป็นปกติ ไม่มีความจำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริมคาร์นิทีน ด้วยแหล่งสารคาร์นิทีนในธรรมชาติมาจากอาหารประเภท เนื้อสัตว์ ปลา ไก่ นม ข้าวสาลี หน่อไม้ฝรั่งและอื่นๆ แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะขาดสารคาร์นิทีน อาจต้องได้รับสารคาร์นิทีนชดเชยให้กับร่างกายอย่างเหมาะสมและทันเวลา นักวิทยาศาสตร์จึงผลิตสาร/ยาเลโวคาร์นิทีนออกมาเพื่อใช้ประโยชน์ทางคลินิกในรูปแบบของยารับประทานและยาฉีด แต่ในประเทศไทยเรามักจะพบเห็นการใช้คาร์นิทีนในลักษณะของอาหารเสริมและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ผสมสารคาร์นิทีนเข้าไปเพื่อใช้เป็นตัวสนับสนุนกระบวนการสร้างพลังงานและเป็นจุดขายตัวผลิตภัณฑ์

ผู้บริโภคควรใช้ดุลยพินิจและพิจารณาโดยมีข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์มาประกอบ อาจตั้งคำถามกับตัวเองว่า ร่างกายต้องการคาร์นิทีนมากเป็นพิเศษหรือไม่ แพทย์ทางด้านอายุรวัฒน์หรือทางโภชนาการ หรือโภชนากร จะสามารถให้คำปรึกษาผู้บริโภคที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องสารคาร์นิทีนได้เป็นอย่างดี

อนึ่ง คาร์นิทีนมีการผลิตจำหน่ายในหลายตำหรับ ที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน ห้ามนำมาใช้ทดแทนกัน หรือใช้ร่วมกัน เพราะยังไม่มีการศึกษาทางคลินิกที่ยืนยันถึงความปลอดภัยในการใช้แต่ละตำหรับร่วมกัน เช่น Acetyl L carnitine, Glycine propionil L carnitine, Glycine propionil L carnitine

เลโวคาร์นิทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เลโวคาร์นิทีน

สารเลโวคาร์นิทีนในลักษณะของยามีสรรพคุณ/ข้อบ่งชี้ ใช้บำบัดอาการของผู้ที่มีภาวะร่างกายขาดสารคาร์นิทีน

หมายเหตุ มีงานวิจัยที่นำเสนอเป็นบทความด้านสุขภาพได้กล่าวถึงประโยชน์ของสารคาร์นิทีนที่อาจทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยบางกลุ่มดีขึ้น เช่น ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องเข้ารับการทำเคมีบำบัด/ยาเคมีบำบัดหรือต้องรับการฉายรังสีรักษา ผู้ป่วยเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย หรือแม้แต่ผู้สูงวัย/ผู้สูงอายุ และนักกีฬา ก็มีข้อมูลการใช้ยาคาร์นิทีนในรูปแบบอาหารเสริมเพื่อคงสภาพและช่วยรักษาระดับสารคาร์นิทีนในร่างกายให้เป็นปกติอย่างสม่ำเสมอ

เลโวคาร์นิทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของสาร/ยาเลโวคาร์นิทีนคือ เป็นสารจำเป็นต่อกระบวนการสร้างพลังงานให้กับร่างกาย ตัวมันจะทำหน้าที่ลำเลียงกรดไขมันที่มีรูปร่างโมเลกุลยาวๆเข้าสู่หน่วยของเซลล์ที่มีชื่อเรียกว่า Mitochondria ส่งผลทำให้ Mitochondria สามารถผลิตพลังงานให้กับเซลล์ร่างกาย กระบวนการของคาร์นิทีนจะเกิดในเซลล์ต่างๆของร่างกาย และเกิดมากใน เซลล์ของหัวใจ และเซลล์กล้ามเนื้อลาย แต่มีข้อยกเว้นที่เซลล์ของสมองที่เลโวคาร์นิทีนจะไม่มีบทบาทดังกล่าว การได้รับสารคาร์นิทีนอย่างเพียงพอจากสารอาหารในแต่ละวัน จะทำให้กระบวนการเผาผลาญสารอาหารที่ก่อให้เกิดเป็นพลังงานมีเพียงพอที่จะทำให้การดำรงชีวิตเป็นไปอย่างมีสมดุล

เลโวคาร์นิทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

เราสามารถพบเห็นเภสัชภัณฑ์/สารเลโวคาร์นิทีนในรูปแบบต่างๆดังนี้ เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Levocarnitine ขนาด 330 กรัม/เม็ด
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ที่มี Levocarnitine เป็นองค์ประกอบ ที่มีขนาดบรรจุ 118 มิลลิลิตร/ขวด
  • ยาฉีดที่ประกอบด้วยตัวยา/สาร Levocarnitine ขนาด 1 กรัม/5 มิลลิลิตร

เลโวคาร์นิทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

สาร/ยาเลโวคาร์นิทีนมีขนาดรับประทานสำหรับผู้ที่มีภาวะร่างกายพร่อง/ขาดสารคาร์นิทีน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 990 มิลลิกรัม วันละ 2–3 ครั้ง
  • เด็กทารก เด็กเล็ก และเด็กโต: ให้ใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์ อาจใช้เกณฑ์การรับประทานที่ 50 และ 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน ขนาดรับประทานเริ่มต้นอยู่ที่ 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3 กรัม/วัน

อนึ่ง:

  • ระหว่างที่ได้รับสาร/ยาเลโวคาร์นิทีน แพทย์อาจต้องตรวจเลือดเพื่อดูระดับสารคาร์นิทีนว่าเหมาะสมหรือไม่ ผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือและมารับการตรวจเลือด/มาโรงพยาบาล ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ระยะเวลาการใช้ยาเลโวคาร์นิทีนให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • การจะเลือกใช้ยาเลโวคาร์นิทีนในรูปแบบ ยาเม็ด ยาน้ำ หรือยาฉีด ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • การได้รับยาเลโวคาร์นิทีนเกินขนาด อาจทำให้มีอาการท้องเสียตามมา

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเลโวคาร์นิทีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา/อาหารเสริม/ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอะไรอยู่ เพราะยาเลโวคาร์นิทีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ/อาหารเสริม/ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเลโวคาร์นิทีน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็ 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

เลโวคาร์นิทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเลโวคาร์นิทีน สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสียหรือท้องผูก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เป็นตะคริวที่ท้อง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ :เช่น เกิดภาวะกล้ามเนื้อตึงตัว/หดตัว
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น แคลเซียมในเลือดสูง โปแตสเซียมในเลือดสูง
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจมีอาการผื่นคัน
  • ผลต่อไต: เช่น อาจเกิดภาวะไตวาย
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเกล็ดเลือดรวมตัว/ลิ่มเลือดง่ายขึ้น เกิดภาวะโลหิตจาง
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น คออักเสบ ไอ หายใจขัด เยื่อจมูกอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ
  • ผลต่อตา: เช่น มีอาการตาพร่า มองเห็นภาพไม่ชัดเจน
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิดการติดเชื้อ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่าย
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึม วิตกกังวล นอนไม่หลับ อาจรู้สึกติดการใช้ยา/สารคาร์นิทีน
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น มีการติดเชื้อต่างๆง่ายขึ้น

มีข้อควรระวังการใช้เลโวคาร์นิทีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเลโวคาร์นิทีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา/แพ้สารนี้ หรือแพ้สารประกอบต่างๆในสูตรตำรับยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามรับประทานยาปฏิชีวนะใดๆร่วมกับยา/สารเลโวคาร์นิทีนโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะพร่อง/ขาดเลโวคาร์นิทีนตามมา
  • การใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • รับประทานยาเลโวคาร์นิทีนต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์
  • กรณีพบอาการแพ้ยานี้ เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยา ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเลโวคาร์นิทีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เลโวคาร์นิทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเลโวคาร์นิทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้เลโวคาร์นิทีนร่วมกับยา Warfarin และ Dicumarol ด้วยเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่ายตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้เลโวคาร์นิทีนร่วมกับยาปฏิชีวนะอย่างเช่น Pivampicillin ด้วย Pivampicillin จะเพิ่มการขับทิ้งของยาเลโวคาร์นิทีนทางปัสสาวะ จนทำให้ประสิทธิผลการรักษาของยาเลโวคาร์นิทีนด้อยลง

ควรเก็บรักษาเลโวคาร์นิทีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเลโวคาร์นิทีนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เลโวคาร์นิทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเลโวคาร์นิทีน มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Carnitor (คาร์นิเตอร์)Hi-Tech Pharmacal Co., Inc
CARNITOR SF (คาร์นิเตอร์ เอสเอฟ)Hi-Tech Pharmacal Co., Inc

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/mtm/l-carnitine.html [2018,Jan6]
  2. https://www.drugs.com/imprints/cor-160-8228.html [2018,Jan6]
  3. https://www.drugs.com/sfx/carnitor-sf-side-effects.html [2018,Jan6]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Carnitine [2018,Jan6]
  5. https://ods.od.nih.gov/factsheets/Carnitine-HealthProfessional/ [2018,Jan6]
  6. http://www.eatright.org/resource/food/vitamins-and-supplements/dietary-supplements/supplements-and-ergogenic-aids-for-athletes [2018,Jan6]
  7. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2007/018948s024,019257s011lbl.pdf [2018,Jan6]
  8. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/levocarnitine-oral-route-intravenous-route/description/drg-20064527 [2018,Jan6]
  9. https://www.nutritionexpress.com/article+index/vitamins+supplements+a-z/l-carnitine/showarticle.aspx?id=89 [2018,Jan6]