เลโวคาบาสทีน (Levocabastine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

เลโวคาบาสทีน (Levocabastine) คือ ยาแก้แพ้/ ยาต้านฮิสตามีน(Histamine) ในกลุ่มยา เอช 1 แอนตาโกนิสต์ (H1antagonists/ Histamine 1 receptor antagonist), โดยถูกนำมาใช้รักษาอาการแพ้ เช่น เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้, รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ เช่น ยาพ่นจมูก  ยาหยอดตา, แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงรูปแบบของ 'ยาหยอดตา' เท่านั้น   

ยาเลโวคาบาสทีน ถูกค้นพบในปี ค.ศ.1979 (พ.ศ.2522), มีกลไกการออกฤทธิ์โดยป้องกันอาการแพ้ของตาจากสารฮิสตามีน  และการใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้ตรวจรักษาเท่านั้น 

ก่อนการสั่งจ่ายยาหยอดตาเลโวคาบาสทีน แพทย์จะพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ มาประกอบ เช่น

  • ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาเลโวคาบาสทีน หรือแพ้ยาอื่นๆมาก่อนหรือไม่
  • หากเป็นผู้ป่วยเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ที่อายุต่ำกว่า 12ปีลงมา ไม่สมควรที่จะใช้ยานี้ด้วยยัง ไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนความปลอดภัยของการใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้
  • ต้องเพิ่มความระวังอย่างมากหากจะใช้ยาหยอดตาชนิดนี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงผู้สูงอายุ ด้วยยังไม่มีการศึกษาความปลอดภัยทางคลินิกอย่างเพียงพอ 
  • มีการใช้ยาหยอดตาชนิดใดอยู่ก่อนหรือไม่ ด้วยยาบางประเภทอาจรบกวนการออกฤทธิ์ซึ่งกันและกันได้,  และหากผู้ป่วยได้รับยาหยอดตากับยาขี้ผึ้งป้ายตาในเวลาเดียวกัน ให้ใช้ยาหยอดตาก่อนและทิ้งเวลาประมาณ 5 – 10 นาที แล้วจึงใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตา

นอกจากนั้น การใช้ยาหยอดตาเลโวคาบาสทีน ยังต้องคำนึงถึงสุขอนามัย หรือการปฏิบัติตัวก่อนใช้เสมอ  เช่น  ต้องล้างทำความสะอาดมือทุกครั้งก่อนใช้ยา,  ไม่ควรให้ปลายหลอดหยดยาสัมผัสกับตา  เปลือกตา/หนังตา  นิ้วมือ หรือสัมผัสฝุ่นผง, ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนต่างๆซึ่งจะทำให้เกิดสิ่งผิดปกติในตาและมีอาการติดเชื้อติดตามมา 

กรณีมีผู้ป่วยใส่คอนแทคเลนส์  ควรต้องถอดเก็บให้เรียบร้อยแล้วจึงใช้ยาหยอดตา, และควรต้องรอให้ยาออกฤทธิ์ประมาณ 15 นาทีเป็นอย่างต่ำ จึงใส่คอนแทคเลนส์ได้ใหม่  

ห้ามใช้ยาหยอดตาเลโวคาบาสทีนแบบผิดวัตถุประสงค์ เช่น นำไปหยอดจมูก หรือรับประทาน 

ก่อนหยอดตาด้วยยาหยอดตาทุกชนิดรวมยาเลโวคาบาสทีน ต้องเรียนรู้เทคนิคการใช้ยาหยอดตาอย่างถูกต้องจากแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เช่น ดึงเปลือกตาล่างลงอย่างพอเหมาะแล้วค่อยทำการหยอดยา,  หลับตาโดยไม่ต้องกระพริบตาเป็นเวลาประมาณ 1 – 2 นาที, เพื่อช่วยให้ยากระจายไปทั่วลูกตา

หลังใช้ยาหยอดตา ต้องเก็บ โดยปิดปากขวดให้สนิท และเก็บในที่เหมาะสม, โดยทั่วไปยาหยอดตาที่เปิดใช้แล้ว สามารถใช้ต่อเนื่องได้นานไม่เกิน 1 เดือน ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงของประสิทธิภาพการรักษา เพราะการสัมผัสกับอากาศทุกครั้งที่เปิดใช้ยา อาจทำให้ยาเสื่อมคุณภาพลง รวมถึงเพื่อลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสิ่งสกปรกต่างๆ ด้วย 

การใช้ยาเลโวคาบาสทีนเพื่อรักษาอาการแพ้ อาจจะเห็นผลอย่างชัดเจนเมื่อผู้ป่วยใช้ยาต่อเนื่องในขนาดตามแพทย์สั่งไปแล้วเป็นเวลาประมาณ 2 – 3 วัน  

สามารถใช้ยาเลโวคาบาสทีนหยอดตาได้อย่างต่อเนื่อง และหยุดใช้ยาตามความเหมาะสม แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

เลโวคาบาสทีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

เลโวคาบาสทีน

 

ยาเลโวคาบาสทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • บำบัดรักษาอาการแพ้ของตา (เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้) เช่น  ตาเกิดอาการ คัน ระคายเคือง  มีอาการบวม ตาแดง  และน้ำตาออกมาก

เลโวคาบาสทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเลโวคาบาสทีนมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานของสารฮิสตามีน  ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ตาเกิดอาการแพ้ (เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้), จากกลไกนี้ จะช่วยให้อาการแพ้ต่างๆ เช่น การระคายเคืองตา  อาการคันของตาทุเลา และดีขึ้นเป็นลำดับ

เลโวคาบาสทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเลโวคาบาสทีน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น

  • ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 0.05%
  • ยาพ่นจมูก (ไม่กล่าวในบทความนี้)

เลโวคาบาสทีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเลโวคาบาสทีน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา: เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: เช่น หยอดยาในตาข้างที่มีอาการแพ้ 1 หยด, วันละ 2 – 4 ครั้ง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มนี้อย่างชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*อนึ่ง: อาการแพ้ จะค่อยๆดีขึ้นหลังจากเริ่มใช้ยานี้ กรณีที่ใช้ยานี้ไปแล้วประมาณ 3 วัน แล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือกลับแย่ลง, ให้รีบพาผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม  ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเลโวคาบาสทีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น               

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก  ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเลโวคาบาสทีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน                                                      
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?

หากลืมหยอดยาเลโวคาบาสทีน ให้หยอดยาทันทีที่นึกขึ้นได้  หากเวลาใกล้เคียงกับการหยอดยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดที่ใช้หยอดยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิภาพของการรักษา ควรหยอดยาเลโวคาบาสทีน  ตรงตามเวลา

เลโวคาบาสทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ที่อาจพบได้จากการใช้ยาเลโวคาบาสทีน:  เช่น  

  • ปวดตา
  • แสบคันตา  
  • เยื่อตามีสีแดง/ตาแดง
  • การมองภาพในขณะหยอดยาไม่ชัดเจน

*กรณีเกิดอาการข้างเคียงแบบรุนแรง ผู้ป่วยอาจมีผื่นคันตามผิวหนัง, แน่นอึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก, ปาก-ตา-ใบหน้าบวม,  *หากพบอาการเหล่านี้หลังใช้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้เลโวคาบาสทีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเลโวคาบาสทีน:  เช่น            

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร  เด็ก  และผู้สูงอายุ  โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์     
  • ห้ามรับประทานยานี้ หรือนำไปหยอดหู
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามหยอดยานี้ขณะใส่คอนแทคเลนส์
  • หลังเปิดใช้ยานี้แล้ว ห้ามใช้ยานี้นานเกิน 1 เดือน
  • ห้ามล้างปลายหลอด/ขวดที่ใช้หยอดยานี้ ด้วยจะเกิดการปนเปื้อนจากน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะ และ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร ขณะที่มีการหยอดยานี้ เพราะการมองภาพในขณะหยอดยาจะไม่ชัดเจน จึงอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ขณะหยอดยานี้ ห้ามมิให้ปลายหลอดหยดยาสัมผัสตา เปลือกตา/หนังตา  หรือนิ้วมือ
  • ยาเลโวคาบาสทีน เป็นยาแก้แพ้ ไม่สามารถนำไปบำบัดการติดเชื้อของตาได้
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยานี้ของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเลโวคาบาสทีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เลโวคาบาสทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยังไม่มีรายงานการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาหยอดตาเลโวคาบาสทีน กับยาชนิดรับประทานใดๆ

ควรเก็บรักษาเลโวคาบาสทีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเลโวคาบาสทีน: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส(Celsius)    
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

*อนึ่ง: หากเปิดใช้ยาเลโวคาบาสทีนแล้ว ไม่ควรใช้ยาเกิน 30 วัน

เลโวคาบาสทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเลโวคาบาสทีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Livostin (ลิโวสติน) Janssen

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Levocabastine [2022,Nov5]
  2. https://www.drugs.com/cons/levocabastine-ophthalmic.html  [2022,Nov5]
  3. https://www.medicinenet.com/levocabastine-ophthalmic/article.htm  [2022,Nov5]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/levocabastine?mtype=generic  [2022,Nov5]