เลือดข้นคนจาง (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 31 ตุลาคม 2563
- Tweet
ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณีโควิด-19 ว่า เริ่มทราบกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ไวรัสตัวนี้ไม่ได้แสดงอาการทางไข้ เพลียและอาการทางระบบหายใจเท่านั้น แต่มีอาการที่ระบบอื่นได้ด้วย โดยแสดงอาการก่อนเพื่อน ก่อนที่จะมีอาการ ไอ ทางปอด ด้วยซ้ำหรือแม้ไม่มีอาการทางปอดเลยก็ตาม
ศ.นพ. ธีระวัฒน์ กล่าวว่า อาการในระบบอื่นที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงจากการติดเชื้อ เช่น สมองอักเสบ ซึม และพบไวรัสในน้ำไขสันหลัง และอาจรวมถึงเส้นประสาทเส้นที่หนึ่งที่มีหน้าที่ในการรับกลิ่นและเส้นประสาทที่ควบคุมการรับรส และที่สำคัญยังมีผลเนื่องจากที่มี “มรสุมภูมิวิกฤติ cytokine storm” ที่ทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกายและส่งผลทำให้เกิดเลือดข้น กระทบเส้นเลือดดำและแดงขนาดฝอย เล็ก กลาง ตัน รวมทั้งเกิดลิ่มเลือดหลุดลอยไปอุดที่ต่างๆ เช่น ลิ่มเลือดดำจากขาไปอุดที่ปอด และแม้แต่ทำให้โรคประจำตัวที่มีอยู่แล้วกำเริบมากขึ้น
ภาวะเลือดข้นหรือเลือดหนืด (Polycythemia) คือ ภาวะที่มีเซลล์เม็ดเลือดในจำนวนที่มากผิดปกติในร่างกาย เป็นสาเหตุทำให้เลือดข้นขึ้น ซึ่งมีผลทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น เกิดการแข็งตัวของเลือด (Blood clots)
ผู้ที่มีภาวะเลือดข้นจะมีความเข้มข้นเลือด (Hematocrit) หรือ ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ที่มากกว่าปกติ โดยมี
- ความเข้มข้นเลือด (Hematocrit = HCT) ที่มากกว่าร้อยละ 48 ในเพศหญิง และมากกว่าร้อยละ 52 ในเพศชาย
[ความเข้มข้นเลือด เป็นอัตราส่วนของเซลล์เม็ดเลือดแดงต่อปริมาณเลือดทั้งหมด ซึ่งระดับปกติจะอยู่ที่ร้อยละ 37-48 ในเพศหญิง และ ร้อยละ 45-52 ในเพศชาย]
- ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ที่มากกว่า 16.5g/dL ในเพศหญิง และมากกว่า 18.5 g/dL ในเพศชาย
[ฮีโมโกลบินเป็นโปรตีนในเซลล์เม็ดเลือดแดงที่นำพาออกซิเจนไปทั่วร่างกายและทำให้เลือดมีสีแดง ซึ่งระดับปกติจะอยู่ที่ 12-16g/dL ในเพศหญิง และอยู่ที่ 13-18g/dLในเพศชาย]
ภาวะเลือดข้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุและมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป มีจุดประสงค์เพื่อทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงมีจำนวนน้อยลง โดยภาวะเลือดข้นมี 2 ประเภท คือ
1. ภาวะเลือดข้นปฐมภูมิ (Primary polycythemia) หรือที่เรียกกันว่า โรคเลือดข้น (Polycythemia vera = PV) ที่ค่อยๆ กลายเป็นโรคมะเร็งเกี่ยวกับเลือดที่เรียกว่า โรคเม็ดเลือดสูง (Myeloproliferative neoplasm = MPN) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของไขกระดูก ทำให้มีการผลิตเม็ดเลือดเพิ่มขึ้นทั้งเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว (Leukocytosis) และเกล็ดเลือด (Thrombocytosis)
2. ภาวะเลือดข้นทุติยภูมิ (Secondary polycythemia) เป็นกรณีที่มีเซลล์เม็ดเลือดแดงสูงเพียงอย่างเดียว ไม่ได้เกิดจาก MPN แต่มีสาเหตุจากอื่น เช่น
- การอยู่ในที่สูง (High altitude)
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive sleep apnea = OSA)
- เนื้องอก (Tumor) บางชนิด
- โรคหัวใจหรือโรคปอดที่ทำให้มีระดับออกซิเจนในร่างกายต่ำ หรือที่เรียกว่า ภาวะพร่องออกซิเจน (Hypoxia)
แหล่งข้อมูล:
- หมอจุฬาฯ เผยปริศนาอาการ “โควิด-19”. https://www.hfocus.org/content/2020/05/19328 [2020, October 31].
- Polycythemia: Everything you need to know. https://www.medicalnewstoday.com/articles/polycythemia#causes [2020, October 31].
- Polycythemia (high red blood cell count) definition and facts. https://www.medicinenet.com/polycythemia_high_red_blood_cell_count/article.htm [2020, October 31].