เลวาเซติลเมทาดอล (Levacetylmethadol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 ตุลาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- เลวาเซติลเมทาดอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- เลวาเซติลเมทาดอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เลวาเซติลเมทาดอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เลวาเซติลเมทาดอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เลวาเซติลเมทาดอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เลวาเซติลเมทาดอลอย่างไร?
- เลวาเซติลเมทาดอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเลวาเซติลเมทาดอลอย่างไร?
- เลวาเซติลเมทาดอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ประเภทยาเสพติดให้โทษ ยาเสพติด (Illegal drugs)
- โอปิออยด์ (Opioid)
- เมทาโดน (Methadone)
- ต่อมลูกหมากโต หรือ บีพีเอช (Benign prostatic hypertrophy or BPH)
- โรคแอดดิสัน (Addison disease)
บทนำ: คือยาอะไร?
เลวาเซติลเมทาดอล (Levacetylmethadol คือ ยา/สารสังเคราะห์ประเภทโอปิออยด์ ถูกนำมาใช้บำบัดผู้ติดยาเสพติด ชื่อการค้าที่รู้จักคือ ‘ORLAAM’ ในประเทศอเมริกาจัดให้ยานี้เป็นยาควบคุมพิเศษ แต่ประเทศออสเตรเลียและแคนาดาไม่อนุมัติการใช้ยานี้ในทางคลินิก ส่วนประเทศไทย จัดยานี้อยู่ในหมวดยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 และไม่มีการนำยานี้เข้ามาใช้ในประเทศไทย
อนึ่ง: ชื่ออื่นของยานี้ เช่น หรือ Levo-alpha-acetylmethadol หรือชื่อที่คนทัวไปเรียกคือ “Laam หรือ Lam”
ลักษณะการออกฤทธิ์ของยาเลวาเซติลเมทาดอลจะทำให้ผู้ที่ติดยาเสพติดหยุดความรู้สึกที่ต้องการเสพยาอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่มีอาการถอนยา/ลงแดงแสดงออกมาหรือมีแต่น้อย ซึ่งเพียงพอ ที่ผู้ติดยาเสพติดสามารถทนได้ ในการดำเนินการรักษาอาจต้องใช้ยาอื่นหรือวิธีทางการแพทย์ที่นอกเหนือจากการใช้ยานี้ร่วมด้วย ด้วยความจำเพาะเจาะจงในตัวสรรพคุณอีกทั้งเป็นยาประเภทควบ คุม/เสพติด จึงมีการใช้ยาเลวาเซติลเมทาดอลในสถานพยาบาลที่รับรักษาผู้ที่ติดยาเสพติดเท่านั้น โดยแพทย์จะเป็นผู้กำกับดูแลการใช้ยากับผู้ติดยาเสพติด จนกระทั่งสามารถฟื้นฟูสภาพร่างกาย และจิตใจก่อนที่จะให้ผู้ป่วยออกจากสถานพยาบาล
เลวาเซติลเมทาดอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเลวาเซติลเมทาดอลมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ใช้บำบัดอาการของผู้ที่ติดยาเสพติด
เลวาเซติลเมทาดอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเลวาเซติลเมทาดอลจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ (Receptor)ในสมองที่มีชื่อว่า Mu-opioid receptor โดยตัวยาจะออกฤทธิ์เป็น Opioid agonist (ช่วยการออกฤทธิ์ของสาร Opioid) ทำให้ผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด ลดอาการอยากหรือลดความต้องการเสพยาเสพติดลดน้อยลง โดยก่อให้เกิดอาการถอนยา(ลงแดง)จากยาเสพติดน้อยที่สุด
เลวาเซติลเมทาดอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเลวาเซติลเมทาดอล มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาน้ำชนิดรับประทานขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร บรรจุขวด 120 และ 500 มิลลิลิตร
***อนึ่ง: ยังไม่มียานี้นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย
เลวาเซติลเมทาดอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเลวาเซติลเมทาดอลมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่และผู้ที่อายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป: เช่น รับประทานยาครั้งละ 20 - 40 มิลลิกรัมทุกๆ 48 ชั่ว โมงหรือเฉลี่ยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง การปรับขนาดรับประทานจะขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษา หากผู้ป่วยได้รับยานี้น้อยเกินไปก็อาจจะแสดงอาการถอนยา/ลงแดงออกมา โดยมีอาการ กล้ามเนื้ออ่อนแรง, ปวดหลัง, ตัวสั่น, ตัวบวม, ใบหน้าร้อนผ่าว, ปากคอแห้ง, ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย, คลื่นไส้-อาเจียน, ปวดตามข้อ, ฝันร้าย, หงุดหงิด, กระสับกระส่าย, ปวดหัว, ความรู้สึกสัมผัสแย่ลง, ง่วงนอน, ผื่นคัน, เหงื่อออกมาก, ความดันโลหิตต่ำ, ปวดกล้ามเนื้อ, มีอาการน้ำตาไหล, การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี (ECG)พบผิดปกติ, และมี หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้อายุต่ำกว่า 15 ปี: ยังไม่มีการศึกษาแน่ชัดถึงการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเลวาเซติลเมทาดอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเลวาเซติลเมทาดอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเลวาเซติลเมทาดอล สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
เลวาเซติลเมทาดอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเลวาเซติลเมทาดอลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น
- ชีพจรเต้นผิดปกติ
- เกิดอาการถอนยา(ลงแดง)
- น้ำมูกไหล
- จาม
- มีไข้
- หนาวสั่น
- นอนไม่หลับ
- วิตกกังวล
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้อาเจียน
- ท้องเสีย
- หัวใจเต้นเร็ว
- น้ำหนักลด
- ก้าวร้าว
*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดอาจเกิดอาการ อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก และอาการหายใจแย่ลง จนอาจถึงขั้นโคม่า, รูม่านตาหดตัว, ผิวหนังเย็น, ความดันโลหิตต่ำ, หัวใจเต้นช้า, หยุดหายใจ, ระบบการไหลเวียนเลือดล้มเหลว, หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์อาจใช้วิธีล้างท้องเข้าช่วยเหลือ และอาจใช้ยา Sodium sulphate (Swiff) เป็นยาช่วยระบาย/ ยาถ่าย รวมถึงการใช้ยาถ่านกัมมันต์มาช่วยลดพิษของยานี้
มีข้อควรระวังการใช้เลวาเซติลเมทาดอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเลวาเซติลเมทาดอล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีระบบทางเดินหายใจขัดข้องตั้งแต่ระดับกลางไปจนถึงขั้นรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับการดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ในระดับกลางจนถึงขั้นรุนแรง
- ห้ามใช้ร่วมกับยาต้านโรคซึมเศร้า
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ เช่น หัวใจเต้นช้า
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
- ระวังการถอนยา(ลงแดง)ที่อาจเกิดขึ้นได้หากผู้ป่วยได้รับปริมาณยานี้น้อยเกินไป
- ระหว่างการใช้ยานี้ควรเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรจาก ยาทำให้เกิดอาการง่วงนอนจนเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- หากใช้ยานี้โดยไม่มีความระมัดระวังจะทำให้ผู้ป่วยเสพติดยาเลวาเซติลเมทาดอล
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหืด ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยโรคแอดดิสัน(Addison’s disease), ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต, ผู้ป่วยเบาหวาน, และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินปัสสาวะ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเลวาเซติลเมทาดอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เลวาเซติลเมทาดอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
การใช้ยาเลวาเซติลเมทาดอลร่วมกับยาหลายกลุ่มจะรบกวนฤทธิ์ของการรักษาซึ่งกันและกัน(เกิดปฏิกิริยาระหว่างยา) ซึ่งยากลุ่มดังกล่าว เช่น
- Calcium channel blocker: เช่นยา Bepridil, Lidoflazine, Phenylamine, Terodiline
- ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine): เช่นยา Astemizole และ Terfenadine
- ยาต้านเศร้า: เช่นยา Amitriptyline, Doxepin, Imipramine, Maprotiline
- ยาอื่นๆ: เช่นยา Cisapride, Erythromycin ชนิดฉีด, Sparfloxacin/ยาปฏิชีวนะ, Spiramycin/ยาปฏิชีวนะ
ควรเก็บรักษาเลวาเซติลเมทาดอลอย่างไร?
สามารถเก็บยาเลวาเซติลเมทาดอล: เช่น
- เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น
- อายุของยาหลังการผลิตอยู่ที่ 2 ปีโดยประมาณ หลังเปิดขวดใช้แล้วจะมีอายุการใช้งานไม่เกิน 6 เดือน
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ห้ามไม่ให้ผู้ป่วยนำยากลับบ้าน
เลวาเซติลเมทาดอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเลวาเซติลเมทาดอล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
ORLAAM (ออร์แลม) | SIPACO international Lda. |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Levacetylmethadol[2021,Oct23]
- https://www.projectknow.com/prescription-drugs/levacetylmethadol/levacetylmethadol-laam-detox-and-withdrawal/ [2021,Oct23]
- http://narcotic.fda.moph.go.th/welcome/?p=202 [2021,Oct23]
- https://www.rxlist.com/orlaam-side-effects-drug-center.htm [2021,Oct23]
- https://www.ema.europa.eu/en/documents/public-statement/public-statement-levacetylmethadol-orlaam-life-threatening-ventricular-rhythm-disorders_en.pdf [2021,Oct23]