เลดิพาสเวียร์ (Ledipasvir)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เลดิพาสเวียร์ (Ledipasvir) เป็นยาต้านไวรัสตับอักเสบซี (Anti hepaciviral) โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งสารโปรตีนในตัวไวรัสตับอักเสบซีที่มีชื่อว่า HCV NS5A (Hepatitis C virus nonstructural protein 5A) ซึ่งสารโปรตีนดังกล่าวมีความสำคัญต่อการเพิ่มจำนวนไวรัสตับอักเสบซี ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้รับการรักษาด้วยยาเลดิพาสเวียร์แล้ว ยานี้จะส่งผลยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสตับอักเสบซีในร่างกาย ทำให้ปริมาณเชื้อไวรัสฯลดน้อยลง

ในประเทศไทย ยังไม่มีการจำหน่ายยาเลดิพาสเวียร์เพียงชนิดเดี่ยว แต่มีในรูปแบบยาผสมระหว่างยาเลดิพาสเวียร์ กับ ยาโซฟอสบูเวียร์(Sofosbuvir) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี เพราะยาผสมทั้งสองนี้ ยาแต่ละตัวจะออกฤทธิ์คนละตำแหน่งในการยับยั้งการสร้างโปรตีนเพื่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จึงสามารถควบคุมปริมาณเชื้อไวรัสตับอักเสบซีในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ยาเลดิพาสเวียร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เลดิพาสเวียร์

ยาเลดิพาสเวียร์มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีชนิดเรื้อรัง (Chronic hepatitis C) สายพันธ์ย่อย/จีโนไทป์(Genotype)ที่ 1, 4, 5, 6 ในผู้ใหญ่ แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา จึงมักใช้ยาเลดิพาสเวียร์ร่วมกับยาโซฟอสบูเวียร์เพื่อรักษาไวรัสตับอักเสบซีชนิดเรื้อรัง และแพทย์ยังสามารถพิจารณาใช้ร่วมกับยาไรบาไวริน (Ribavirin)หรือไม่ใช้ร่วมกันก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสภาวะโรคและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยขณะนั้นในแต่ละรายผู้ป่วย

ยาเลดิพาสเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเลดิพาสเวียร์ จะออกฤทธิ์ยับยั้งสารโปรตีนที่มีชื่อว่า HCV NS5A ของเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งสารโปรตีนดังกล่าวมีความสำคัญต่อการเพิ่มจำนวนไวรัสตับอักเสบซี ยานี้จึงส่งผลยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสตับอักเสบซีในร่างกายผู้ป่วย

ยาเลดิพาสเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ของยาเลดิพาสเวียร์ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย คือ ยาเม็ดสูตรผสมระหว่าง ยาเลดิพาสเวียร์ 90 มิลลิกรัม และยาโซฟอสบูเวียร์ (Sofosbuvir) 400 มิลลิกรัม เนื่องจากยังไม่มียาเลดิพาสเวียร์ชนิดยาสูตรเดี่ยว จำหน่ายในประเทศไทย

ยาเลดิพาสเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาเลดิพาสเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยา เช่น

1. การรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังในผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับการรักษามาก่อน หรือในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา Pegylated interferonร่วมกับยา Ribavirin สามารถใช้ยาสูตรผสมระหว่างยาเลดิพาสเวียร์/โซฟอสบูเวียร์ได้ โดยมีขนาดยา ดังนี้

1.1ในผู้ป่วยที่ยังไม่มีภาวะตับแข็ง: ใช้ยาสูตรผสมระหว่างยาเลดิพาสเวียร์ 90 มิลลิกรัม/โซฟอสบูเวียร์ 400 มิลลิกรัม รับประทานวันละ1 ครั้ง เป็นเวลานาน 12 สัปดาห์ สามารถรักษานานเพียง 8 สัปดาห์ในผู้ป่วยไวรัสฯสายพันธุ์ย่อย 1b ที่มีจำนวนไวรัสตับอักเสบซีในเลือด(HCV RNA)ก่อนการรักษา น้อยกว่า 6,000,000 IU/mL

1.2ในผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็ง: ใช้ยาสูตรผสมระหว่างยาเลดิพาสเวียร์ 90 มิลลิกรัม/โซฟอสบูเวียร์ 400 มิลลิกรัม รับประทานวันละ1 ครั้ง ร่วมกับยาไรบาไวริน รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลานาน 12 สัปดาห์ แต่ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาไรบาไวรินได้ ให้รักษานานขึ้นเป็น 24 สัปดาห์

2.การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง สายพันธุ์ย่อยที่ 4, 5, 6:

2.1ในผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะตับแข็ง: ใช้ยาผสมระหว่างยาเลดิพาสเวียร์ 90 มิลลิกรัม/โซฟอสบูเวียร์ 400 มิลลิกรัมรับประทานวันละ1 ครั้ง เป็นเวลานาน 12 สัปดาห์

2.2ในผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็ง: ใช้ยาสูตรผสมระหว่างยาเลดิพาสเวียร์ 90 มิลลิกรัม/โซฟอสบูเวียร์ 400 มิลลิกรัมรับประทานวันละ1 ครั้ง ร่วมกับยาไรบาไวริน รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลานาน 12 สัปดาห์ ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาไรบาไวรินได้ ให้รักษานานขึ้นเป็น 24 สัปดาห์

3.การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี เรื้อรังสายพันธุ์ย่อย1 ที่ไม่ตอบสนองต่อยาโบซิพรีเวียร์(Boceprevir): ใช้ยาสูตรผสมระหว่างยาเลดิพาสเวียร์ 90มิลลิกรัม/โซฟอสบูเวียร์ 400 มิลลิกรัม รับประทานวันละ1 ครั้ง ร่วมกับยาไรบาไวริน รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลานาน 12 สัปดาห์ ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาไรบาไวรินได้ ให้รักษานานขึ้นเป็น 24 สัปดาห์

4.การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี ที่มีตับแข็งเป็นมากแล้ว (Decompensated cirrhosis): ใช้ยาสูตรผสมระหว่างยาเลดิพาสเวียร์ 90มิลลิกรัม/โซฟอสบูเวียร์ 400 มิลลิกรัมรับประทานวันละ1 ครั้ง ร่วมกับยาไรบาไวริน รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลานาน 12 สัปดาห์ ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาไรบาไวรินได้ ให้รักษานานขึ้นเป็น 24 สัปดาห์

5.ขนาดยาในผู้ป่วยไตบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องต้องปรับขนาดยาสูตรผสมนี้

6.ขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาสูตรผสมนี้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องที่มีระดับความรุนแรงน้อย ปานกลาง หรือมาก

ทั้งนี้ วิธีรับประทานยาสูตรผสมต่างๆดังกล่าว ในเรื่อง ขนาดยาและระยะเวลาในการรับประทานยา จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีผู้ป่วยไป โดยแพทย์พิจารณาจากข้อบ่งใช้ของยาต่อโรค ปริมาณเชื้อไวรัสตับอักเสบซีที่ตรวจพบในเลือด การตอบสนองของร่างกายต่อยาที่ใช้ ดังนั้นหากผู้ป่วยที่กำลังได้รับยานี้อยู่ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร อย่างเคร่งครัด ในเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตนระหว่างได้รับยาเหล่านี้ และให้สังเกตอาการผิดปกติต่างๆ หากท่านมีอาการไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง)ที่รุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ท่านควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนกำหนดที่แพทย์นัดได้ เพื่อรับการรักษาอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว

อนึ่ง ยานี้สามารถรับประทานตอนท้องว่าง หรือพร้อมอาหาร ก็ได้

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเลดิพาสเวียร์/โซฟอสบูเวียร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น

  • ประวัติแพ้ยา แพ้อาหาร หรือแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • โรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต
  • ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ถึงประวัติการใช้ยาต่างๆที่กำลังได้รับอยู่ปัจจุบัน เพราะยาเลดิพาสเวียร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาเลดิพาสเวียร์/โซฟอสบูเวียร์กับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือไม่ อย่างไรก็ดี ยาเลดิพาสเวียร์/โซฟอสบูเวียร์เป็นยาที่ศึกษาแล้วไม่พบว่าก่อให้เกิดความผิดปกติในภาวะการเจริญพันธุ์ในสัตว์ทดลอง จึงเชื่อว่า อาจมีความปลอดภัยในหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ในการพิจารณาความจำเป็นของยาเหนือความเสี่ยงที่จะเกิดผิดปกติต่อภาวะตั้งครรภ์
  • สุภาพสตรีที่กำลังให้นมบุตรอยู่และกำลังได้รับยาเลดิพาสเวียร์/โซฟอสบูเวียร์ ควรหลีกเลี่ยงการให้นมแก่บุตร เนื่องจาก มีข้อมูการศึกษาพบว่ายาทั้งสองชนิดสามารถขับผ่านทางน้ำนมได้

หากลืมรับประทานยาเลดิพาสเวียร์ควรทำอย่างไร?

สำหรับการรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังด้วยยาเลดิพาสเวียร์/โซฟอสบูเวียร์นั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยานี้ให้ตรงเวลาทุกวันอย่างเคร่งครัด โดยรับประทานยาวันละ 1ครั้ง สามารถรับประทานยาเวลาใดก็ได้ โดยไม่ขึ้นกับอาหาร สามารถรับประทานตอนท้องว่าง หรือ พร้อมอาหารก็ได้ เพื่อให้ระดับยาในร่างกายคงที่ ที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรรับประทานยาในเวลาเดียวกันของทุกวัน

กรณีลืมรับประทานยาเลดิพาสเวียร์/ โซฟอสบูเวียร์ ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป(เกินกว่า 12 ชั่วโมงของเวลารับประทานยามื้อปกติ) ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า เช่น ปกติรับประทานยาเวลา 7.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 7.00 น. ตอนเวลา 17.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 7.00 น. ทันที แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่า 12 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติ ช่วงเวลาเดิมได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า เช่น ปกติรับประทานยาเวลา 7.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 7.00 น. ตอนเวลา 21.00 น. ให้ข้ามมื้อยา 7.00 น.ที่ลืมไปเลย แล้วจึง รับประทานยามื้อต่อไปตามปกติ คือ 7.00 น. วันถัดไป

ยาเลดิพาสเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ของยาเลดิพาสเวียร์/โซฟอสบูเวียร์ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ปวดศีรษะ, อ่อนเพลีย, อ่อนล้า, ปวดเมื่อยตามตัว, รู้สึกไม่สบายตัว, นอนไม่หลับ, เกิดภาวะซึมเศร้า, คลื่นไส้, อาเจียน, ท้องเสีย, ปวดท้อง

มีข้อควรระวังการใช้ยาเลดิพาสเวียร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเลดิพาสเวียร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยานี้
  • ก่อนแพทย์จะเริ่มให้ผู้ป่วยรับประทานยาผสมระหว่างยาเลดิพาสเวียร์/โซฟอสบูเวียร์ แพทย์จะตรวจสอบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีก่อน หากผู้ป่วยเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมาก่อน ช่วงที่ผู้ป่วยได้รับยาผสมนี้ อาจมีผลทำให้เกิดการกลับมาเป็นซ้ำของไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus reactivation) ดังนั้นแพทย์จะให้การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด
  • สุภาพสตรีที่กำลังให้นมบุตรอยู่และกำลังได้รับยาเลดิพาสเวียร์/โซฟอสบูเวียร์ ควรหลีกเลี่ยงการให้นมแก่บุตร เนื่องจาก มีข้อมูลการศึกษาพบว่ายาทั้งสองชนิดสามารถขับผ่านทางน้ำนมได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเลดิพาสเวียร์/โซฟอสบูเวียร์ คู่กับยาดังที่กล่าวในหัวข้อ”ปฏิกิริยาระหว่างยาฯ” เนื่องจากอาจเกิดอันตรกิริยา/ ปฏิกิริยาระหว่างยารุนแรงได้เมื่อใช้ยาดังกล่าวร่วมกับยาเลดิพาสเวียร์/โซฟอสบูเวียร์
  • ทุกครั้งที่มีการใช้ยาเลดิพาสเวียร์/โซฟอสบูเวียร์ คู่กับยาชนิดอื่นๆ ควรตรวจสอบอันตรกิริยาระหว่างยานี้กับยาอื่นๆก่อนการเริ่มใช้ยาชนิดใหม่ๆเพี่อความปลอดภัยของผู้ป่วย กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาที่มีอันตรกิริยาต่อกัน แพทย์จะพิจารณายาทางเลือกที่มีโอกาสในการเกิดอันตรกิริยาระหว่างกันน้อยที่สุด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเลดิพาสเวียร์) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเลดิพาสเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเลดิพาสเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

1. เมื่อใช้ยาเลดิพาสเวียร์/โซฟอสบูเวียร์แล้ว ห้ามใช้คู่กับยาดังต่อไปนี้ เช่น อะมิโอดาโลน(Amiodarone: ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ), คาร์บามาซีปิน(Carbamazepine: ยากันชัก),ฟีนีทอย (Phenytoin:ยากันชัก),ไรแฟมปิซิน (Rifampicin: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยาวัณโรค), ไรฟาบูติน (Rifambutin:ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย), โรซูวาสตาติน (Rosuvastatin: ยาลดไขมัน), วินคริสติน (Vincristine:ยาเคมีบำบัด), ทิพล่านาเวียร์ (Tipranavir: ยาต้านไวรัส) เนื่องจาก การใช้ยาทั้งสองชนิดร่วมกันจะส่งผลต่อระดับยาเลดิพาสเวียร์/โซฟอสบูเวียร์ในเลือดที่อาจจะสูงจนเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง หรืออาจจะต่ำจนลดประสิทธิภาพการรักษา

2. เมื่อใช้ยาเลดิพาสเวียร์/โซฟอสบูเวียร์คู่กับยาวาร์ฟาริน (Warfarin: ยาต้านการแข็งตัวของเลือด) จะส่งผลทำให้ความสามารถในการยับยั้งการแข็งตัวของเลือดของยาWarfarin ลดลง ดังนั้นหากใช้ยาทั้งสองร่วมกัน แพทย์จะพิจาณาตรวจเลือดติดตามค่าไอเอ็นอาร์ (INR, International Normalised Ratio, ค่าการแข็งตัวของเลือด) อย่างใกล้ชิด ซึ่งแพทย์อาจจำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาวาร์ฟาริน ในช่วงที่ใช้ยาทั้งสองร่วมกัน

3 . นอกจากนี้ ยังมียาอื่นๆอีกหลายชนิดที่อาจจะทำให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างยาได้ เมื่อใช้คู่กับยาเลดิพาสเวียร์/โซฟอสบูเวียร์ ดังนั้นขณะใช้ยาเลดิพาสเวียร์/โซฟอสบูเวียร์ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร ก่อนใช้ยาอื่นๆร่วมกัน เพื่อให้แพทย์และเภสัชกรตรวจเช็คคู่ยาที่ได้รับร่วม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยจากการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากอันตรกิริยาระหว่างยาที่ได้รับ

ควรเก็บรักษายาเลดิพาสเวียร์อย่างไร?

ประเทศไทย ยังไม่มียาเลดิพาสเวียร์เป็นยาเดี่ยวจำหน่าย มีเฉพาะยาเม็ดสูตรผสมระหว่างยาเลดิพาสเวียร์ และยาโซฟอสบูเวียร์ ผู้ป่วยสามารถเก็บรักษายาผสมนี้ที่อุณหภูมิห้องได้ โดยอุณหภูมิห้องต้องไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ทั้งนี้ควรเก็บยานี้ให้พ้นจากแสงแดดส่องถึงโดยตรง และหลีกเลี่ยงการเก็บยานี้ไว้ในรถ หรือในห้องครัว ห้องน้ำ ที่อาจมีความชื้นมากระทบกับยาได้

ยาเลดิพาสเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ไม่มียาชื่อการค้าของยาเลดิพาสเวียร์ที่เป็นยาเดี่ยวจำหน่ายในประเทศไทย มีแต่เฉพาะยาเม็ดสูตรผสมระหว่างยาเลดิพาสเวียร์ 90 มิลลิกรัม และยาโซฟอสบูเวียร์ 400 มิลลิกรัม ซึ่งมียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Havoni (ฮาโวนี)Gilead

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยาสูตรผสมนี้ในต่างประเทศ เช่น Ledifos

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 24th ed. Ohio: Lexi-Comp; 2016-17.
  2. Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado.
  3. TIMS (Thailand). MIMS. 140th ed. Bangkok: UBM Medica ;2015.
  4. สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย. แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ ซี เรื้อรัง ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559.ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์: กรุงเทพฯ; 2559