สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน การวินิจฉัยภาวะตาแห้ง
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 15 สิงหาคม 2562
- Tweet
ที่กล่าวกันว่า ตาแห้ง แล้วหมอวินิจฉัยหรือตรวจปริมาตรของน้ำตากันอย่างไร การวินิจฉัยหรือภาวะตาแห้ง เริ่มจากผู้ป่วยมีอาการต่าง ๆ ดังนี้
1. ไม่สบายตา ตาฝืด ๆ ขัด ๆ เคือง ๆ แสบตา น้ำตาไหล ตาสู้แสงไม่ได้ เหมือนมีผงอยู่ในตา ตาแดง ตาเมื่อยล้า อาการเหล่านี้เกิดจากน้ำตามีความเข้มข้นสูง (hyperosmolarity) มีการเสียดสีที่ผิวหน้าที่มีน้ำตาหล่อลื่นลดลง มีการสูญเสีย goblet cell ทำให้น้ำตาชั้น mucous ลดลง ผิวกระจกตาถลอกไม่สม่ำเสมอ ตลอดจนเกิดจากการมีสารอักเสบต่างๆ เช่น cytokine, neurokinin ที่ทำให้เส้นประสาทที่ผิวตาถูกกระตุ้น
2. การมองเห็นลดลง ตามัวลง อาจเกิดจากการไม่คงตัวของน้ำตา (tear instability) หรือผิวกระจกตาไม่เรียบ
ร่วมกับอาการแสดงต่าง ๆ ดังนี้
1. สายตา ระดับการมองเห็นไม่แน่นอน ไม่คงที่ บางครั้งต้องกระพริบตา การมองเห็นจึงดีขึ้น
2. การวัดปริมาตรน้ำตา ในทางปฏิบัติที่ทำกัน ส่วนมาก คาดกันคร่าว ๆ ได้แก่
2.1 ดู Tear meniscus ซึ่งเป็นแอ่งที่เกิดจากเยื่อบุตาที่หุ้มตาขาว (bulbar conjunctiva) กับขอบเปลือกตาบนและล่าง น้ำตาที่อยู่ในแอ่งนี้จะกระจายไปเคลือบผิวตา หลังการกระพริบตาแต่ละครั้ง การวัด tear meniscus จึงเป็นการวัดปริมาตรน้ำตาโดยตรง มักนิยมวัด tear meniscus ล่าง เพราะเห็นชัดและวัดได้ง่าย โดยวัดความสูงของ tear meniscus ค่าปกติประมาณ 0.7-1 มม ถ้าได้ค่าตั้งแต่ 0.3 มม ลงไป ถือว่าผิดปกติ หากสังเกต tear meniscus มีน้ำตาเป็นฟอง บ่งบอกว่ามีความผิดปกติของน้ำตา ชั้นไขมัน (meibomian gland dysfunction, MGD)
2.2 Schirmer’s test เป็นวิธีวัดปริมาตรน้ำตาที่เก่าแก่ใช้กันมานาน ใช้กระดาษกรองมาตรฐานของ whatman no 40 ที่มีขนาดกว้าง 5 มม ยาว 35 มม พับกระดาษกรองยาว 5 มม วางห้อยที่เปลือกตาด้านล่าง จับเวลา 5 นาที ที่นิยมทำกัน
2.2.1 เรียกกันว่า Schirmer I เป็นการตรวจโดยไม่ได้หยอดยาชา จึงวัดทั้งน้ำตาที่สร้างตามมาตรฐาน (basic tear) และน้ำตาที่ถูกกระตุ้นจากกระดาษกรอง (reflex tear) ใช้เวลา 5 นาที เอากระดาษกรองออกวัดความยาวกระดาษกรองที่เปียก ค่าปกติ 8-33 มม ค่าที่น้อยกว่า 10 มม ถือว่าผิดปกติ และน้อยกว่า 5 มม ถือว่ามีพยาธิสภาพชัดเจน
2.2.2 Schirmer’s test II โดยการหยอดยาชาก่อน จะได้ค่าน้ำตามาตรฐานอย่างเดียว ตัด reflex tear ออก ใช้เวลา 5 นาที ค่าที่ถือว่าก้ำกึ่งคือ 3-10 มม ถ้าน้อยกว่า 3 มม ถือว่าผิดปกติ
3. วัดความคงตัวของน้ำตา (tear stability) เป็นการวัด tear beak up time (TBUT) โดยการนับช่วงเวลาหลังกระพริบตาแล้วจับเวลาว่าที่เริ่มเห็นจุดที่แห้งที่ผิวตา โดยมากมักใช้สี flouresein จะได้สังเกตได้ง่ายขึ้น ค่าปกติอยู่ที่ 20-30 วินาที ถ้าน้อยกว่า 10 วินาที เริ่มผิดปกติ ถ้าเหลือ 5 วินาที มีความผิดปกติชัดเจน
4. การทำลายของผิวหน้าดวงตา ภาวะตาแห้งนำมาซึ่งการทำลายผิวเยื่อบุตา และกระจกตาได้ การตรวจใช้สีย้อม (dye) ที่ใช้กันแพร่หลายคือสี fluorescein โดยประเมินความรุนแรงจาก
4.1 รูปแบบการติดสี อาจเป็นบางจุด (focal), กระจาย (diffuse), เป็นหย่อม ๆ (punctate)
4.2 ตำแหน่งของการติดสี เช่น ด้านบนทั้งที่เยื่อบุตา และกระจกตาด้านบน มักพบในภาวะ superior limbic keratoconjunctivitis (SLK) ซึ่งอาจเป็นทั้งโรคร่วม หรือผลจากตาแห้งก็ได้
4.3 ความลึกของการติดสี ว่าเป็น superficial หรือ deep
4.4 ความหนาแน่นของการติดสี
5. การวัดองค์ประกอบของน้ำตา เป็นการวัดในห้องทดลอง มักไม่ทำกันในภาคปฏิบัติ ได้แก่ การวัดความเข้มข้นของสารที่อยู่ในน้ำตา (osmolarity) การวัดสารเคมี (biochemical substance) ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในภาวะตาแห้ง เช่น lipiclome, proteome เป็นต้น
6. ตรวจการอักเสบและความแดงของเยื่อบุตา ซึ่งพบได้หลายสาเหตุ รวมทั้งจากตาแห้งด้วย
7. ตรวจเปลือกตาว่าแดง มีคราบสะสม ขอบตาม้วนเข้าหรือออกนอก ตลอดจนการกระพริบตาและการหลับตา รวมทั้งประเมินเปลือกตาส่วนหลัง เน้นไปที่ต่อม meibomian หาภาวะ meibomian gland dysfunction (MGD)