สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน การใช้เครื่องสำอางกับตาแห้ง

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-84

      

      น้ำตาเป็นสิ่งจำเป็นต่อผิวตา (ocular surface) อย่างยิ่ง มีความหนาประมาณ 40 ไมครอน และมีค่า pH 7.0-7.4 แบ่งเป็น 3 ชั้น ที่ขอบแต่ละชั้นผสมผสานกับชั้นใกล้เคียง

      ชั้นในสุด (mucin) อยู่ติดเซลล์ผิวกระจกตาและเยื่อบุตา โดยเซลล์ผิวจะมี villi ยื่นแทรกเข้าไปในชั้น mucin ทำหน้าที่หล่อลื่น ลดแรงเสียดทานเวลาเรากระพริบตา

      ชั้นกลางเป็นชั้นน้ำ (aqueous) ชั้นนี้นอกจากน้ำยังมี protein ต่าง ๆ ออกซิเจน เกลือแร่หลายชนิด รวมทั้ง growth factor ช่วยให้แผลกระจกตาหาย อีกทั้งมี immunoglobulin ป้องกันและต่อต้านเชื้อโรค

      ชั้นนอกสุด เป็นชั้นไขมัน ทำหน้าที่ป้องกันมิให้น้ำตาระเหยออกมากเกินไป

      จำนวน ตลอดจนส่วนประกอบต่าง ๆ ของน้ำตาทุกชั้นที่สมดุล นำมาซึ่งการทำงานปกติของผิวตา หากมีความผิดปกติ เกิดภาวะตาแห้ง นำมาซึ่งความผิดปกติของผิวตาได้ อันหนึ่งซึ่งมักจะถูกมองข้ามไปคือ การใช้เครื่องสำอางผิวหน้าบริเวณรอบ ๆ ดวงตา ทั้งแป้งผัดหน้า ดินสอเขียนขอบตา อายไลเนอร์ มาสคาร่าทาขนตาและขนคิ้ว เครื่องสำอางเหล่านี้มีอนูเล็กๆของเม็ดสี ตลอดจนผงแป้งปะปนอยู่บนผิวตา น้ำตา เห็นได้จากการตรวจตาด้วยเครื่องตรวจ slit lamp เสมอ ๆ อนูเหล่านี้ก่อให้เกิดระคายเคืองอักเสบของเปลือกตาบริเวณขอบ ๆ เป็นแบบเรื้อรัง อีกทั้งอนูเล็ก ๆ เหล่านี้ปนอยู่ในน้ำตา ทำให้น้ำตาเปลี่ยนแปลงไป มีความเข้มข้น osmolarity เพิ่มขึ้นทำให้น้ำตาไม่คงตัว (instability) เกิดภาวะตาแห้งและอาการของตาแห้งต่าง ๆ ตามมา

      การฉีด botox เพื่อรักษาโรคหนังตากระตุก (blepharospasm) หรือการฉีดขอบ ๆ ดวงตาเพื่อลดรอยย่นบริเวณใบหน้า อาจทำให้เกิดภาวะตาแห้งได้จากการซึมของยาไปยังต่อมน้ำตา และต่อม meibomian ส่งผลให้การสร้างน้ำตาลดลง หรืออาจเกิดจากยา ซึ่งเข้าไปถึงกล้ามเนื้อรอบดวงตา (orbicularis) อ่อนตัวทำงานได้น้อยลง เป็นเหตุให้กระพริบตาน้อยลง ตลอดจนหลับตาไม่สนิท มีการระเหยของน้ำตามากขึ้น ก ารไหลเวียนของน้ำตาช้าลง

      การสักเปลือกตาบริเวณโคนขนตาเป็นเหตุให้อนูสีติดที่น้ำตา ผิวตา จำนวนต่อม meibomian ลดลง ส่งเสริมให้อาการตาแห้งมากขึ้น

      เพื่อความปลอดภัย หลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาที่ดวงตา ตลอดจนการเกิดภาวะตาแห้ง ขอแนะนำทำดังนี้

      1. เลือกเครื่องสำอางที่มีฉลากบอกส่วนประกอบชัดเจน สีในเครื่องสำอางบางชนิดเป็นสารเคมีบางอย่างที่ไม่ควรใช้บริเวณรอบดวงตา

      2. หลีกเลี่ยงเครื่องสำอางที่มีลักษณะเป็นเกล็ดหรือเป็นผงแวววาว เพราะเกล็ดเหล่านั้นหลุดเข้าไปในตาปนกับน้ำตาได้ง่าย

      3. ล้างมือให้สะอาดก่อน การใช้นิ้วทาอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนจากเชื้อโรคที่บริเวณนี้

      4. การเขียนขอบตา ควรเขียนที่ขอบนอกบริเวณขนตา เพื่อป้องกันการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณขอบตา อีกทั้งอาจมีอนูสีล่วงเข้าตาได้ง่าย

      5. ไม่ควรใช้เครื่องสำอางผิดประเภท เช่น ใช้ที่เขียนขอบปากมาเขียนขอบตา สีบางชนิดที่มีในลิปสติกใช้กับตาไม่ได้

      6. ก่อนนอนควรล้างเครื่องสำอาจให้หมด ห้ามใช้วัตถุปลายแหลมเขี่ยมาสคาร่าที่มักจะติดที่ขนตา ควรใช้ไม้พันสำลีเช็ดบริเวณโดนขนตาจะปลอดภัยกว่า

      7. ไม่ควรเก็บเครื่องสำอางในที่ร้อน เพราะทำให้สารกันเสียที่ป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่มีอยู่ในเครื่องสำอางเสื่อมสมรรถภาพ ทำให้เครื่องสำอางเสียเร็วขึ้น

      8. เครื่องสำอางที่ใช้กับตา มักมีอายุการใช้งานไม่เกิน 3 เดือน หลังเปิดใช้ หรือดูรายละเอียดบนผลิตภัณฑ์ว่าใช้งานได้นานเท่าใดหลังเปิดใช้ เมื่อหมดอายุควรทิ้งไป