สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน การปลูกถ่ายเซลล์ต้นแบบ (limbal stem cell transplant)

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-80

      

      สืบเนื่องจากข่าวเมื่อ 4 มิ.ย. 62 จากโรงพยาบาลศิริราช ที่ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่าย stem cell รักษาผิวกระจกตาได้ นับเป็นความก้าวหน้าอันหนึ่งในวงการจักษุวิทยา โดยใช้ stem cell บริเวณ limbus ซึ่งสามารถเอาจากตาผู้ป่วยในตาอีกข้าง หากเป็นโรคข้างเดียว ถ้าเป็นโรค 2 ข้าง ใช้ limbal stem cell จากคนบริจาค ตลอดจนใช้เยื่อเมือกของปาก (oral mucosa) มาแทนได้

      หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่า การปลูกถ่าย stem cell ต่างกับการปลูกถ่ายกระจกตา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า เปลี่ยนตาโดยเอาตาจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตมาทดแทนของผู้ป่วยที่เสื่อมหรือใช้การไม่ได้ อย่างไร การปลูกถ่ายกระจกตาเป็นการเอากระจกตาของผู้บริจาค และกระจกตาของผู้บริจาคที่นำมาใช้ รูปร่างคล้ายคอนแทคเลนส์ มีความหนาไม่ถึง 1 ม.ม. อาจเปลี่ยนทั้งอัน คือทุกชิ้นของกระจกตา ซึ่งทำมาแต่เดิมนานแล้ว ที่เรียกกันว่า penetrating keratoplasty ปัจจุบันอาจแบ่งมาใช้บางส่วนเป็นบางชั้น เรียกว่า lamellar keratoplasty กระจกตาหนึ่งข้าง หากนำมาทำ lamellar keratoplasty จึงอาจนำมาใช้ได้มากกว่าหนึ่งคน

      สำหรับ stem cell transplant นั้น เอาเฉพาะส่วนที่มี stem cell ซึ่งในดวงตาเรามีมากบริเวณที่เรียก limbus (บริเวณตาขาวต่อกับตาดำ) และมีอยู่เฉพาะชั้นผิว (epithelium) เท่านั้น ตัว stem cell มีการพัฒนายังไม่เต็มที่ เรียกกันว่า เซลล์ต้นแบบ หรือเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งสามารถแบ่งตัวเองเปลี่ยนแปลงตัวเองตามต้องการในภาวะต่าง ๆ ตัว limbal stem all มีหน้าที่

      1. เป็นตัวกั้นไม่ให้เยื่อบุผิวของเยื่อตา (conjunctival epithelium) ลุกล้ำเข้าไปในเยื่อบุผิวของกระจกตา (corneal epithelium) (เยื่อบุผิวของเยื่อตามีหลอดเลือด หากลุกเข้าไปในกระจกตา ทำให้กระจกตาเป็นฝ้า บดบังการมองเห็น)

      2. เป็นแหล่งผลิตเซลล์เยื่อบุของกระจกตา ชดเชยเยื่อบุผิวกระจกตาที่ถูกทำลายหรือตายไป หรือหลุดลอกไป คล้ายเซลล์ผิวของผิวหนัง หากเยื่อบุผิวถูกทำลายบางส่วน stem cell จะแบ่งตัวเข้าไปแทนที่ปิดแผลให้หายได้

      ดังนั้น กระจกตาทุกคน จำเป็นต้องมี limbal stem cell กระจกตาจึงจะคงความใสตลอด หากตาผู้ใดเกิดมีความผิดปกติ หรือเกิดภาวะบกพร่องของ stem cell ย่อมนำมาซึ่งตาดำเป็นฝ้า การมองเห็นลดลง

      เหตุใดบ้างที่ทำให้เกิดภาวะบกพร่องของ stem cell

1. เป็นแต่กำเนิด ที่พบบ่อยได้แก่ภาวะไร้ม่านตา (aniridia) พบได้บ้าง

2. มีการอักเสบบริเวณ limbus

      2.1 โรค autoimmune ได้แก่ ภาวะ Stevens-Johnson ทำให้มีการทำลาย limbal stem cell อย่างรุนแรง และภาวะ ocular cicatricial pemphigoid

      2.2 การอักเสบติดเชื้อของกระจกตาที่ลามมาถึง limbus รวมทั้งภาวะ peripheral ulcerative keratitis

3. ได้รับอันตรายบริเวณ limbus เช่น ถูกสารเคมีทำร้ายตา ตลอดจนตาที่ได้รับการผ่าตัดบริเวณ limbus หลาย ๆ คน

4. เนื้องอกบริเวณ limbus

ฯลฯ

      อย่างไรก็ตาม ภาวะที่มีการบกพร่องของ stem cell มากจนต้องทำการปลูกถ่าย stem cell ที่พบเนือง ๆ ได้แก่ ภาวะ Stevens-Johnson และกรณีที่ได้รับอันตรายจากคนปองร้ายสาดสารเคมีเข้ามา ซึ่ง limbul stem cell ถูกทำลายไปมากทั้ง 2 ดวงตา