สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน ทำไมสีตาจึงแตกต่างกัน
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 30 พฤษภาคม 2562
- Tweet
ตาดำ (ที่จริงคือกระจกตา = cornea) อยู่หน้าต่อม่านตา เป็นส่วนที่ไม่มีสี สีตาดำที่เราเห็นจึงเป็นสีของม่านตา ความที่ม่านตาคนไทยมีเส้นน้ำตาลเข้ม แลดูค่อนไปทางดำ เราจึงเรียกกันว่าตาดำ ซึ่งแสดงถึงสีของม่านตา ไม่ใช่สีของกระจกตา สีของม่านตาแต่ละเชื้อชาติแตกต่างกัน อาจจะมีสีน้ำตาลเข้ม สีฟ้า สีน้ำตาลแดง (hazel) สีเหลืองอำพัน สีเขียว สีเทา สีม่วงแดง เป็นต้น สีต่าง ๆ เกิดจาก 2 ปัจจัย คือ
1. จำนวนของเม็ดสี (melanin) ในม่านตา
2. การกระจาย (scatter) ของแสง เมื่อกระทบม่านตา
ปัจจัยสองอย่างข้างบน โดยเฉพาะจำนวนเม็ดสีกำหนดจาก gene ของคนเราที่ได้จากพ่อแม่ ถ้าจำนวนเม็ดสีมาก ม่านตาจะออกสีเข้ม มีการศึกษาพบว่า คนเรามีม่านตาสีอะไรกันบ้าง
สีน้ำตาล พบได้ถึง 79% ของประชากรโลก อาจจะออกมาในรูปน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาอ่อน น้ำตาลเข้มแสดงว่ามี melanin มาก พบในคนชาวเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) และ Africa ส่วนน้ำตาอ่อนพบในชาวยุโรป ชาวอเมริกัน ซีกโลกตะวันตก
สีฟ้า พบได้ 8-10% ของประชากรโลก ไม่ได้หมายความว่าม่านตามีเม็ดสีสีฟ้า แต่เป็นเพราะมีสี melanin น้อย พบมากในชาวยุโรป (Finland มากที่สุด)
สีน้ำตาลแดง (hazel) พบได้ 5% ของประชากรจากจำนวน melanin ที่น้อย ร่วมกับมีการกระจายของแสง เมื่อแสงไฟกระทบกับม่านตา จึงอาจเห็นสีม่านตาออกเขียวเล็กน้อย ตามด้วยโทนสีน้ำตาลแดง
สีเหลืองอำพัน (amber) พบได้ 5% ของประชาชน จากการที่มีสีเหลืองของ lipochrome ทำให้ม่านตาออกสีเหลืองอำพัน ในคนพบน้อย พบมากในนก ปลา และสุนัข
สีเขียว พบได้ 2% ของประชากร จากการที่ม่านตามี melanin น้อย มีสี lipochrome ร่วมกับมีการกระจายของแสงที่กระทบม่านตา พบในชาวยุโรปกลาง ตะวันตก และยุโรปเหนือ
สีเทา อาจจะสับสนสีคล้ายสีฟ้า จากมี melanin น้อย ร่วมกับการกระจายของแสง อาจเห็นเป็นหย่อม ๆ สีเทา สีเหลือง สีน้ำตาล พบมากในชาวยุโรปตะวันออกและเหนือ
สีแดงไวโอเล็ต พบน้อยมาก มักพบในคนเผือก (albino) ซึ่งมี melanin น้อยทั่วร่างกาย รวมทั้งที่ม่านตา ทำให้เห็นสีแดงของเม็ดเลือดในหลอดเลือดในม่านตา
Multicolor บางคนม่านตาสีแปลก ๆ บางมุมมีสีอย่าง อีกมุมมีสีอีกอย่าง อยู่ที่การกระจายของเม็ดสี melanin ไม่ทั่ว บางแห่งมาก บางแห่งน้อย จึงดูสีตาหลายสี แปลกออกไป
Heterochromia มักจะหมายถึงสีของม่านตาแตกต่างกันในตา 2 ข้าง ซึ่งอาจเป็นแต่กำเนิด หรือจากโรคบางชนิด