สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน OCT วินิจฉัย Alzheimer

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-71

      

      เส้นใยประสาทตาจากจอตา (nerve fibre) มารวมกันที่หลังสุดที่ขั้วประสาทตา (optic disc) และกลายเป็นเส้นประสาทตาต่อกับสมองโดยตรง ดวงตาจึงเป็นส่วนที่ต่อจากสมอง หลาย ๆ สภาวะที่เกิดที่สมอง จึงอาจสะท้อนออกมาที่ขั้วประสาทตา ทำให้เราสามารถตรวจพบสิ่งผิดปกติได้ กล่าวคือ ถ้ามีสิ่งผิดปกติบางอย่างในสมอง อาจตรวจพบความผิดปกติที่ขั้วประสาทตาได้ ตัวอย่าง เช่น หลอดเลือด การตรวจในจอประสาทตา ซึ่งตรวจได้ง่ายด้วยเครื่องมือ ophthalmoscope คล้ายไฟฉายธรรมดา ซึ่งแพทย์สามารถส่องเข้าไปดูหลอดเลือดโดยตรงได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ ไม่มีการฉีดสีหรือร่วมกับ X-ray จึงถือว่าเป็นการตรวจแบบ Noninvasive คือไม่ให้โทษหรือทำร้ายผู้ถูกตรวจ ทำให้ได้ข้อมูลว่าหลอดเลือดที่สมองคงมีสภาพคล้ายหลอดเลือดที่จอตา

      ล่าสุดใน Eye wire news คัดมาจาก AAO meeting 2018 กล่าวถึงวิธีการตรวจทางตา วิธี optical coherence tomography (OCT) ซึ่งสามารถตรวจจอตาอย่างละเอียดแบบการทำ histology เลยทีเดียวนั้น สามารถนำมาใช้ช่วยวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม Alzheimer โดยจาก OCT จะพบว่าชั้นในของจอตา (inner retina) บางลดกว่าปกติ กล่าวคือ เนื่องจากภาวะ Alzheimer มักจะมีกรรมพันธุ์ อาการเริ่มจากหลงลืม (cognitive) ผิดปกติ การมีประวัติครอบครัว ผู้นั้นเริ่มมีภาวะหลงลืม ตรวจพบจอตาชั้นในบางลง (จาก OCT) การ X-ray สมองพบ hippocampus เหี่ยวลง ช่วยวินิจฉัยภาวะ Alzheimer ได้เร็วขึ้น แม้ว่าภาวะนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หาย แต่หากวินิจฉัยได้รวดเร็ว ทำให้การให้ยาน่าจะได้ผลดีกว่า อีกทั้งมีประโยชน์สำหรับญาติในการดูแล

      อนึ่ง แม้การวินิจฉัยภาวะ Alzheimer ทำได้โดย brain scan ซึ่งมีราคาแพงที่จะทำในคนเป็นล้าน การเจาะน้ำไขสันหลัง (Spinal tap) เพื่อการวินิจฉัยก็มีอันตรายกว่า หากการใช้ OCT ช่วยได้น่าจะสะดวกปลอดภัย

      คงต้องมีผลการศึกษาประเด็นนี้มากขึ้นในอนาคตถึงประโยชน์ของ OCT ในการวินิจฉัย Alzheimer