สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน มาใช้แว่นกันแสง UV กันเถอะ

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-104

      

แว่นตา นอกจากใช้เพื่อแก้ไขสายตาผิดปกติแล้ว ยังมีแว่นตาอีกชนิดหนึ่งที่ใช้กันแสงจ้า โดยเฉพาะแสงอาทิตย์ที่เรียกกันว่าแว่นกันแดด (sun glass) ถ้าจะให้ดีต้องกันแสงจ้าและกัน UV ด้วย

ดวงอาทิตย์เป็นต้นกำเนิดของพลังงานแสงที่ส่องมายังโลกที่สำคัญ แสงอาทิตย์ประกอบด้วยแสงที่มองด้วยตา (visible light) เป็นแสงที่มีขนาดความยาวคลื่น 400-700 nm คลื่นแสงที่ต่ำกว่า 400 nm หรือสูงกว่า 700 nm ตาคนเรามองไม่เห็น คลื่นแสงที่ต่ำกว่า 400 nm เรียกกันว่า ultraviolet หรือเรียกย่อ ๆ ว่าแสง UV คำว่า ultra แปลว่าพ้นหรือเลยหรือเหนือ ultraviolet จึงแปลว่ารังสีเหนือม่วง สีม่วงมีความยาวคลื่น 400 nm ดังนั้นแสง uv จึงมีความยาวคลื่นน้อยกว่า 400 ลงมาถึง 320 nm โดย UVA มีความยาวคลื่น 400-320 nm UVB มีความยาวคลื่น 320-290 nm และ UVC มีความยาวคลื่น 290-100 nm กล่าวกันว่าแสงอาทิตย์มี UV เพียง 5% โดยที่เป็น UVA 90% และ UVB10% ส่วน UVC จะถูกดูดซึมโดยโอโซนในชั้นบรรยากาศหมด หากมนุษย์เรายังช่วยกันทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้ชั้นต่าง ๆ ของบรรยากาศเสียไป UVC อาจจะผ่านมาถึงผิวโลกทำลายมุนษย์ได้มากขึ้น สำหรับ UVA และ UVB จะกระจายทั่วท้องฟ้า ถ้าวันไหนมีเมฆทึบอาจจะกันแสง UV ออกไปได้บ้าง แต่มีบางส่วนผ่านมายังผิวเราได้ โดยเฉพาะเวลาเที่ยงเป็นเวลาที่มีแสง UV ผ่านมาผิวโลกมากที่สุด หากเป็นที่สูงจะมี UV เพิ่มขึ้น 20% ต่อที่สูงที่เพิ่มขึ้น 1,000 ฟุต อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงแสง UV กระทบกับผิวอะไร เช่น กระทบพื้นถนนจะสะท้อนเข้าตาเราประมาณ 1% พื้นริมหาดจะสะท้อนเข้าตา 10% ถ้าเป็นพื้นผิวน้ำจะสะท้อนเข้าตานักตกปลาได้ถึง 20% ถ้าเป็นพื้นหิมะที่นักสกีเล่นกันจะสะท้อนได้ถึง 80% ดังนั้นผู้ขับรถ แสงสะท้อนจากพื้นถนน นักตกปลา นักเล่นสกี มีโอกาสได้รับ UV ที่ต่างกัน

นอกจากนี้แสง UV อาจมาจากที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง เช่น เครื่องผลิตแสง UV ที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคในโรงพยาบาล โรงงานอุตสาหกรรม หลอดไฟบางอย่างที่มีไส้ เครื่องเชื่อมโลหะ แสงที่เกิดจากเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าผ่านไอของแก๊ซหรือโลหะ บางครั้งเพียงแก้วที่หุ้มหลอดไฟชำรุด ทำให้แสง UV เล็ดลอดออกมาได้มาก ช่างเชื่อมโลหะที่ไม่สวมแว่นป้องกันอาจเกิดอันตรายจากแสง UV ทึ่เรียกกันว่า UV keratitis ทำให้เจ็บปวดมากได้

บุคคลที่ควรใช้แว่นกันแดดชนิดกันแสง UV เป็นอย่างยิ่ง ได้แก่

1. ผู้ที่อยู่หรือทำงานกลางแจ้งที่มีแสงแดด อยู่ในประเทศแถบเส้นศูนย์สูตร อยู่บนที่สูง นักตกปลา นักล่องเรือ นักเล่นสกี

2. ผู้ทำงานที่มีเครื่องที่ให้แสง UV จากตะเกียง เครื่องเลเซอร์ หลอดไฟที่มีไส้ ควรจะมีแว่นป้องกัน UV พิเศษ

3. ผู้ที่ผ่าตัดต้อกระจกไปแล้ว แก้วตาปกติของเราดูดแสง UV ได้มาก แก้วตาเทียมบางรุ่นอาจจะไม่ได้เคลือบสารกัน UV ไว้ (รุ่นหลัง ๆ ส่วนใหญ่เคลือบไว้) ควรจะใส่แวนกัน UV เมื่อออกกลางแจ้ง

4. ผู้มีโรคประจำตัวบางอย่างแต่กำเนิด เช่น โรค xeroderma pigmentosum ผิวหนังจะอ่อนไหว เกิดมะเร็งผิวหนังได้ง่ายหากสัมผัสแสง UV ควรจะต้องใส่เสื้อผ้าแขนยาวมิดชิด สวมหมวก ใช้แว่นกัน UV ร่วมด้วย

5. ผู้ที่เป็นโรคจอตาเสื่อมชนิด retinitis pigmentosa (มักเรียกกันว่าโรค RP) เซลล์รับรู้การเห็นในจอตาจะเสื่อมเร็วขึ้นหากสัมผัสแสง UV

6. ผ้าป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่างทำให้ต้องใช้ยาประจำที่อาจทำให้ร่างกายตอบสนองต่อแสง UV มากกว่าปกติ ได้แก่ยา psoralen, allopurinol, phenothiazine, ยาคุมกำเนิดบางตัว, retinoid เป็นต้น