เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (ตอนที่ 5)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 4 มิถุนายน 2562
- Tweet
เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส (Viral meningitis) เป็นชนิดที่พบมากที่สุด มีอันตรายน้อยกว่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย และผู้ป่วยสามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน โดยเชื้อไวรัสที่สามารถก่อให้เกิดโรคนี้ ได้แก่
- เชื้อเอนเทอโรไวรัสที่ไม่ใช่โปลิโอ Non-polio enteroviruses
- เชื้อไวรัสคางทูม Mumps virus
- เชื้อไวรัสเริม Herpes viruses โดยรวมถึง เชื้อ Herpes simplex viruses, (HSV) และ เชื้อ varicella-zoster virus (ที่เป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัด)
- เชื้อไวรัสหัด Measles virus
- เชื้อไวรัสหวัด Influenza virus
- เชื้อไวรัสกลุ่มอาร์โบไวรัส Arboviruses ที่มีแมลงเป็นพาหะ เช่น เชื้อ West Nile virus
- เชื้อไวรัส Lymphocytic choriomeningitis virus (LCMV)
เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าปกติ ได้แก่ เด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 เดือน และผู้ที่มีระบบภูมิต้านทานในร่างกายอ่อนแอ ซึ่งจะมีอาการที่รุนแรงมากกว่า
และเนื่องจากอาการในระยะแรกของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสจะมีลักษณะคล้ายเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นเมื่อมีอาการจึงควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อให้แน่ใจว่าเกิดจากเชื้อชนิดใด จะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงที
ทั้งนี้ ยังไม่มีการรักษาที่เฉพาะสำหรับโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส และยาปฏิชีวนะจะใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อไวรัส อย่างไรก็ดี หากเกิดจากเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เชื้อไวรัสเริมและเชื้อไวรัสหวัด ก็อาจใช้ยาต้านไวรัสช่วยได้
สำหรับการฉีดวัคซีนอาจทำได้เพียงการป้องกันโรคที่อาจเป็นต้นเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส เช่น วัคซีนป้องกันโรคหัด โรคคางทูม โรคอีสุกอีใส และ โรคหวัด ส่วนการป้องกันทั่วไปที่ทำได้ คือ
- การล้างมือให้บ่อยด้วยน้ำสบู่ โดยเฉพาะหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อม การเข้าห้องน้ำ หรือ ไอ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับใบหน้าด้วยมือที่ไม่ได้ล้าง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัส เช่น การจูบ กอด หรือใช้ภาชนะอาหารร่วมกับผู้ป่วย
- ปิดปากจมูกเมื่อไอหรือจามด้วยทิชชู ไม่ใช่มือ
- ทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสบ่อยๆ เช่น ของเล่น กลอนประตู โดยเฉพาะตอนที่มีคนป่วย
- พักผ่อนอยู่บ้านหากมีอาการป่วย
- อย่าให้ยุงหรือแมลงกัดเพราะอาจติดเชื้อได้
เเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา (Fungal meningitis)เป็นโรคที่พบยากและมักจะเกิดจากการที่เชื้อราในอวัยวะส่วนอื่นกระจายผ่านทางเลือดไปยังสมองหรือไขสันหลัง ซึ่งเชื้อราแต่ละชนิดจะพบในที่ต่างกันไป เช่น
- Cryptococcus - เป็นเชื้อที่แพร่กระจายผ่านการสูดเอาดินที่มีเชื้อจากขี้นก ถือเป็นเชื้อราที่พบมากที่สุด
- Histoplasma - พบในสภาพแวดล้อมที่มีขี้นกหรือค้างคาวมาก
- Blastomyces - พบในดินที่อุดมไปด้วยการย่อยสลายของสารอินทรีย์
- Coccidioides - พบในดินเฉพาะที่ เช่น บริเวณอเมริกาตะวันตกเฉียงใต้
เมื่อบริเวณเหล่านี้ถูกรบกวน ทำให้สปอร์ของเชื้อราแพร่กระจายในอากาศ สูดเข้าสู่ร่างกายไปยังปอดและแพร่กระจายไปยังไขสันหลัง
แหล่งข้อมูล:
- Meningitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/meningitis/symptoms-causes/syc-20350508 [2019, Jun 3].
- Meningitis. https://www.cdc.gov/meningitis/index.html [2019, Jun 3].
- Meningitis. https://www.medicinenet.com/meningitis/article.htm#what_are_the_types_of_meningitis [2019, Jun 3].