เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (ตอนที่ 3)

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ-3

      

      สาเหตุของโรคเกิดได้ทั้งจากการติด 1)เชื้อไวรัส 2)เชื้อแบคทีเรีย 3)เชื้อรา 4)เชื้อปาราสิต 5)เชื้อบิด และ 6) ที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ (Non–infectious meningitis)

      เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial meningitis) เป็นชนิดที่รุนแรงมาก สามารถทำให้เสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่นาน คนส่วนใหญ่สามารถฟื้นจากโรคนี้ได้ แต่อาจต้องพิการเพราะสมองถูกทำลาย เช่น สูญเสียการได้ยิน (Hearing loss) และ บกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning disabilities)

      โดยเชื้อแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น

  • Streptococcus pneumoniae (Pneumococcus)เป็นเชื้อที่พบมากที่สุด (พบมากกว่าร้อยละ 50) มักเกิดในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเด็กมากกว่าร้อยละ 8 และผู้ใหญ่มากกว่าร้อยละ 22 ของผู้ที่ติดเชื้อนี้มักเสียชีวิต
  • Group B Streptococcus เป็นเชื้อที่ติดจากแม่ไปสู่ลูกขณะคลอด
  • Neisseria meningitidis (Meningococcus) มักเกิดในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี และวัยรุ่นอายุระหว่าง 16-23 ปีโดยมากกว่าร้อยละ 15 ของผู้ติดเชื้อนี้มักเสียชีวิต และมากกว่าร้อยละ 19 มักทำให้มีอาการแทรกซ้อนในระยะยาว เช่น หูหนวก หรือ สมองถูกทำลาย
  • Haemophilus influenzae (Haemophilus) เป็นชนิดที่พบได้น้อย มักเกิดในเด็กแรกเกิด
  • Listeria monocytogenes (Listeria) เป็นชนิดที่พบยาก แต่รุนแรง มักพบในหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี หรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องภูมิต้านทาน และถึงแม้แม่จะได้รับเชื้อเพียงเล็กน้อยแต่จะอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงในทารกได้

      ทั้งนี้ ในระหว่างปี พ.ศ.2546-2550 มีชาวอเมริกันที่ป่วยด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย 4,100 รายต่อปี และมีผู้เสียชีวิต 500 รายต่อปี ซึ่งอาจเกิดร่วมกับภาวะติดเชื้อ (Sepsis) โดยมีปัจจัยเสี่ยง ซึ่งได้แก่

  • อายุ – เด็กจะมีโอกาสติดเชื้อสูง
  • ชุมชนที่อยู่อาศัย (Community setting) – ที่ที่มีคนอยู่มากมีแนวโน้มในการแพร่ระบาดมากกว่า
  • สภาพทางการแพทย์ – การใช้ยา การผ่าตัด
  • การทำงานที่เกี่ยวกับเชื้อโรค เช่น นักจุลชีววิทยา (Microbiologists)
  • การเดินทางไปยังสถานที่ที่มีเชื้อ เช่น บริเวณพื้นที่ของประเทศในทวีปแอฟริกาที่ตั้งอยู่ใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub- Saharan Africa) โดยเฉพาะในหน้าแล้ง หรือ นครเมกกะช่วงที่มีพิธีฮัจญ์

      ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรียอาจเกิดได้จาก

  • ลูกติดเชื้อ Group B Streptococcus และ Escherichia coli ระหว่างคลอดจากแม่
  • การไอหรือจามอาจทำให้เชื้อ Hib และ Streptococcus pneumonia แพร่กระจายได้
  • ติดเชื้อ Neisseria meningitides ได้จากการหายใจหรือสารคัดหลั่งจากคอ เช่น น้ำลาย
  • ติดเชื้อ Escherichia coli ได้จากการกินอาหารที่ทำโดยคนที่ไม่ได้ล้างมือให้สะอาด

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Meningitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/meningitis/symptoms-causes/syc-20350508 [2019, Jun 1].
  2. Meningitis. https://www.cdc.gov/meningitis/index.html [2019, Jun 1].
  3. Meningitis. https://www.medicinenet.com/meningitis/article.htm#what_are_the_types_of_meningitis [2019, Jun 1].