เยื่อบุมดลูกโตผิดที่ (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

เยื่อบุมดลูกโตผิดที่-4

      

สำหรับการรักษา แพทย์อาจรักษาด้วยการ

• ให้ยา ซึ่งในกรณีที่ไม่ได้ต้องการตั้งครรภ์ แพทย์จะจ่ายฮอร์โมนคุมกำเนิดเป็นอันดับแรก เพื่อขยายรอบของการมีประจำเดือนออกไป ทำให้ในแต่ละปีมีประจำเดือนไม่กี่ครั้งหรือไม่มีเลย หรือใส่ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device = IUD) เพื่อลดอาการปวดและเลือดออก

ส่วนกรณีที่ต้องการตั้งครรภ์ แพทย์อาจจ่าย โกนาโดโทรปิน รีลิสซิ ฮอร์โมน (Gonadotropin releasing hormone GnRH) เพื่อหยุดยั้งการสร้างฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นการเจริญของไข่และเนื้อเยื่อในรังไข่ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้หมดประจำเดือนชั่วคราว เมื่อหยุดยาจะกลับมามีรอบเดือนตามปกติและตั้งครรภ์ได้

• การผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopy) ซึ่งมักใช้ในกรณีที่ก้อนเนื้อโตมากว่า 1.5 นิ้ว หรือมีอาการปวดรุนแรง โดยแพทย์อาจแนะนำให้ทำการตัดรังไข่ออก (Oophorectomy)

การรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น

• การให้ยาแก้ปวด เช่น ยา Ibuprofen หรือ ยา Naproxen

• การแพทย์ทางเลือก เช่น ฝั่งเข็ม ไคโรแพคติค เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้หญิงบางคนภายหลังที่หมดประจำเดือน อาการปวดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดที่อาจลดน้อยลงเพราะร่างกายหยุดสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงทำให้ก้อนซีสต์หดเล็กลง อย่างไรก็ดี ผู้หญิงบางคนก็ยังคงมีอาการปวดอยู่

เราไม่สามารถป้องกันการเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดที่ได้ แต่เราสามารถลดโอกาสในการพัฒนาของโรคได้ด้วยการลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายที่จะทำให้เยื่อบุหนาตัวขึ้นระหว่างการมีประจำเดือนโดย

• ปรึกษาแพทย์เพื่อใช้วิธีการใช้ยาคุมกำเนิด

• ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (มากกว่า 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) เพื่อลดระดับของไขมันในร่างกายซึ่งจะช่วยลดระดับเอสโตรเจนที่ไหลเวียนในร่างกายไปด้วย

• หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน ในปริมาณที่มาก เพราะจะไปช่วยเพิ่มระดับเอสโตรเจนในร่างกาย

อนึ่ง มีงานวิจัยที่ระบุว่า เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดที่มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพอื่นของผู้หญิง เช่น

• อาการแพ้ หอบหืด และไวต่อสารเคมี

• เป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง (Autoimmune diseases) เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อม (Multiple sclerosis) โรคเอสแอลอี (SLE / lupus) และ ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) บางชนิด

• กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome = CFS) กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ หรือ ภาวะไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia เป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อร่วมกับมีอาการอ่อนเพลีย มีปัญหาด้านความจำและสมาธิ รวมทั้งอาจนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท)

• โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งรังไข่ และ มะเร็งเต้านม

      

แหล่งข้อมูล:

  1. What is a chocolate cyst? https://www.medicalnewstoday.com/articles/325014.php[2019, July 3].
  2. .
  3. What Are Endometrial Cysts? https://www.webmd.com/women/endometriosis/endometrial-cysts#1[2019, July 3].
  4. Endometriosis. https://www.womenshealth.gov/a-z-topics/endometriosis[2019, July 3].