เม็กซิลีทีน (Mexiletine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเม็กซิลีทีน(Maxiletine หรือ Maxiletine hydrochloride หรือ Maxiletine HCl) เป็นยาในกลุ่มโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Sodium channel blocker) ทางคลินิกได้นำยาเม็กซิลีทีนมาบำบัดรักษาอาการ หัวใจเต้นเร็ว และหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยยานี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งและรบกวนการขนส่งเกลือโซเดียมในบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้ศักย์ไฟฟ้าของกล้ามเนื้อหัวใจมีความสมดุลได้มากขึ้น จึงส่งผลต่อการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเม็กซิลีทีน มีทั้งยาฉีดและยาชนิดรับประทาน ตัวยามีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารอย่างรวดเร็ว ยาเม็กซิลีทีนในกระแสเลือดยังสามารถผ่านรกหรือผ่านน้ำนมของมารดาได้เป็นอย่างดี ยานี้จะถูกทำลายโดยตับ และร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาเม็กซิลีทีนทิ้งผ่านไปกับปัสสาวะ ซึ่งขนาดการใช้ยาเม็กซิลีทีนจะมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของอาการผู้ป่วย กรณีใช้ยาเม็กซิลีทีนแบบรับประทาน ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาทุก 8 ชั่วโมง เมื่ออาการดีขึ้นแพทย์จึงจะค่อยๆปรับลดขนาดการใช้ยานี้ลงมา และสั่งหยุดยานี้ในที่สุด

การใช้ยาเม็กซิลีทีนมีข้อควรระวังและข้อกำหนดบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังนี้ เช่น

  • ห้ามใชกับผู้แพ้ยานี้
  • ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วโดยเฉพาะห้องล่างซ้าย(Ventricular tachycardia) จะมีอาการชีพจรเต้นผิดปกติหรือไม่ก็เจ็บหน้าอกเป็นอาการสำคัญ หากปล่อยปละละเลยไม่ดูแลรักษาอาการดังกล่าว อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นตามมา กรณีพบเห็นอาการเหล่านี้ห้ามสรรหายาใดๆรวมถึงยาเม็กซิลีทีนมารับประทานเอง ควรต้องได้รับการตรวจคัดกรองจากแพทย์ก่อนใช้ต่างๆรวมถึงยาเม็กซิลีทีนทุกครั้ง
  • ผู้ป่วย โรคตับ โรคไต แพทย์อาจต้องปรับลดขนาดการใช้ยาเม็กซิลีทีนลงอย่างเหมาะสม ด้วยอวัยวทั้งสอง จะคอยทำหน้าที่กำจัดยาเม็กซิลีทีนออกจากร่างกาย กรณีที่ตับและ/หรือ ไตของผู้ป่วยบกพร่อง อาจทำให้เกิดการสะสมยานี้ในร่างกายเพิ่มมากขึ้น จนเกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อร่างกายตามมา
  • ระหว่างใช้ยานี้ หากเกิดภาวะการสูบฉีดโลหิตของหัวใจห้องต่างๆไม่ประสานกัน (Heart block) ผู้ป่วยจะสามารถสังเกตได้จากอาการต่อไปนี้ เช่น วิงเวียนศีรษะ เป็นลม เหนื่อยง่าย หายใจขัด/หายใจลำบาก และเจ็บหน้าอก ซึ่งควรรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ที่สถานพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เพราะอาการดังกล่าวอาจเกิดจากผลข้างเคียงของยาเม็กซิลีทีน ซึ่งควรต้องได้รับการดูแลแก้ไขจากแพทย์ เช่น ปรับขนาดรับประทานยานี้ ลงหรืออาจต้องเปลี่ยนเป็นยาตัวใหม่ทดแทน
  • *กรณีที่มีอาการแพ้ยานี้ ให้สังเกตจากอาการต่างๆดังต่อไปนี้ เช่น เกิดผื่นคัน ผื่นแดง ผิวหนังลอก มีไข้ หายใจมีเสียงวี๊ด ริมฝีปาก-ใบหน้า-ช่องปาก -ลิ้น-คอมีอาการบวม แน่นหน้าอก หายใจขัด ไม่ว่าจะพบเห็นอาการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • การรับประทานยาชนิดใดๆร่วมกับยาเม็กซิลีทีนจะต้องได้รับอนุญาตจากแพทย์ก่อน เสมอ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันและหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
  • ขณะที่ผู้ป่วยมี ความดันโลหิตต่ำ หรือมีอาการหัวใจล้มเหลวอย่างรุนแรง ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาเม็กซิลีทีน ด้วยจะทำให้อาการของโรคดังกล่าวรุนแรงขึ้น
  • สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดนี้ ด้วยยังมีข้อมูลทางคลินิกด้านความปลอดภัยต่อการใช้ยานี้น้อยมาก
  • *กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาด สามารถสังเกตอาการต่างๆดังต่อไปนี้ เช่น ง่วงนอน รู้สึกสับสน คลื่นไส้ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า มีอาการชัก ความรู้สึก สัมผัสเพี้ยน การสูบฉีดโลหิตของหัวใจไม่ประสานงานกัน/หัวใจเต้นผิดปกติหัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะ มีภาวะโคม่า กรณีพบว่าผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาด ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

จะเห็นว่าเม็กซิลีทีนเป็นยาที่มีอันตราย และมีข้อควรระวังมากมาย การใช้ยานี้ได้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยในการรักษาโรค จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

เม็กซิลีทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เม็กซิลีทีน

ยาเม็กซิลีทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • สำหรับผู้ใหญ่: ใช้บำบัดรักษาอาการหัวใจเต้นเร็ว โดยเฉพาะห้องล่างเต้นเร็ว(Ventricular tachycardia)
  • สำหรับเด็ก: ใช้บำบัดรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmias)

เม็กซิลีทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเม็กซิลีทีนเป็นยาในกลุ่ม Sodium channel blocker มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการขนส่งเกลือแร่ โซเดียมในกล้ามเนื้อหัวใจ จนทำให้เกิดมีการปรับสมดุลประจุไฟฟ้าต่างๆของเกลือแร่ในกล้ามเนื้อหัวใจอย่างเหมาะสมมากขึ้น สมดุลไฟฟ้าดังกล่าว สามารถส่งผลกระตุ้นการเต้นและการบีบตัวของหัวใจให้กลับมาเป็นปกติและก่อให้เกิดที่มาของสรรพคุณ

เม็กซิลีทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเม็กซิลีทีน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Mexiletine HCl ขนาด 150, 200, และ 250 มิลลิกรัม/แคปซูล

เม็กซิลีทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเม็กซิลีทีนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับรักษาหัวใจเต้นเร็วโดยเฉพาะห้องล่างซ้าย:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา 200 มิลลิกรัม ทุกๆ 8 ชั่วโมง แพทย์อาจต้องใช้เวลา 2–3 วัน เพื่อทบทวนอาการและมีคำสั่งปรับขนาดรับประทานลดหรือเพิ่มขนาดการใช้ยาในช่วง 50–100 มิลลิกรัมตามความเหมาะสมของผู้ป่วย
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกของขนาดยานี้ในเด็ก

ข. สำหรับรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ:

  • เด็ก: รับประทานยาขนาด 1.4–5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ครั้ง ทุก 8 ชั่วโมง
  • ผู้ใหญ่: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกของขนาดยานี้ในผู้ใหญ่

อนึ่ง:

  • ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ตรงตามขนาดและเวลาตามคำสั่งแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเม็กซิลีทีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเม็กซิลีทีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเม็กซิลีทีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเดิม

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิภาพในการรักษา ควรรับประทานยาเม็กซิลีทีน ตรงตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรลืมรับประทานบ่อยครั้ง

เม็กซิลีทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเม็กซิลีทีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องผูกหรือท้องเสีย เบื่ออาหาร กลืนลำบาก สะอึก เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ตัวสั่น วิงเวียน เดินเซ พูดไม่ชัด ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ง่วงนอน กระสับกระส่าย ซึม ความจำสั้น เกิดอาการชัก ขาดสติ
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบ Stevens-Johnson Syndrome มีภาวะหลั่งเหงื่อมาก
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ เจ็บหน้าอก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ ตัวบวม หัวใจล้มเหลว
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น มีอาการประสาทหลอน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อตา: เช่น การเห็นภาพซ้อน อาการหนังตากระตุก ตาพร่า

มีข้อควรระวังการใช้เม็กซิลีทีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเม็กซิลีทีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนไป
  • หากมีอาการแพ้ยานี้ ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที และรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเม็กซิลีทีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เม็กซิลีทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเม็กซิลีทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเม็กซิลีทีนร่วมกับ ยาTramadol เพราะอาจทำให้เกิดอาการชักตามมา
  • การใช้ยาเม็กซิลีทีนร่วมกับ ยาTheophylline จะทำใหระดับยาTheophylline ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนเสี่ยงต่ออาการข้างเคียงที่สูงขึ้นจากยา Theophylline ตามมา
  • ห้ามใช้ยาเม็กซิลีทีนร่วมกับ ยาDroperidol ด้วยจะทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิด จังหวะตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเม็กซิลีทีนร่วมกับ ยาGolimumab เพราะจะทำให้ระดับของยา เม็กซิลีทีนในกระแสเลือดลดต่ำลง จนส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาเม็กซิลีทีน ด้อยลง

ควรเก็บรักษาเม็กซิลีทีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเม็กซิลีทีน ตามคำแนะนำที่ระบุในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เม็กซิลีทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเม็กซิลีทีนมียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Mexitil (เม็กซิทิล)Boehringer Ingelheim

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/mexiletine/?type=brief&mtype=generic[2017,Nov18]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Mexiletine[2017,Nov18]
  3. http://docs.boehringer-ingelheim.com/Prescr[2017,Nov18]ibing%20Information/PIs/Mexitil%20Caps/Mexitil.pdf[2017,Nov18]
  4. https://www.drugs.com/cdi/mexiletine.html[2017,Nov18]
  5. https://www.drugs.com/dosage/mexiletine.html#Usual_Adult_Dose_for_Ventricular_Tachycardia[2017,Nov18]
  6. https://www.drugs.com/sfx/mexiletine-side-effects.html[2017,Nov18]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/mexiletine.html[2017,Nov18]