เมไทราโพน (Metyrapone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 4 ตุลาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- เมไทราโพนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เมไทราโพนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เมไทราโพนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เมไทราโพนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เมไทราโพนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เมไทราโพนอย่างไร?
- เมไทราโพนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเมไทราโพนอย่างไร?
- เมไทราโพนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing syndrome)
- โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบต่อมไร้ท่อ (Anatomy and physiology of endocrine system)
- กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing syndrome)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
บทนำ
ยาเมไทราโพน(Metyrapone) เป็นยาที่แพทย์ใช้สำหรับวินิจฉัยสภาพของต่อมหมวกไตทำงานไม่เพียงพอหรือผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล(Cortisol)ได้น้อยเกินไป ทางคลินิกยังนำยาเมไทราโพนมาบำบัดอาการของโรคคุชชิง (Cushing disease) ซึ่งเป็นภาวะ/โรคที่ร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลมากจนเกินไป รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเมไทราโพนเป็นยาชนิดรับประทาน หลังจากตัวยานี้ถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด จะมีระยะเวลาอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 1.2–2.6 ชั่วโมง ตัวยาเมไทราโพนมีกลไกการออกฤทธิ์ ยับยั้ง การทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า “Steroid 11 beta-hydroxylase, เอนไซม์ที่ช่วยในการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล)” ส่งทำให้การผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลจากต่อมหมวกไตลดลง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ไม่เหมาะต่อการใช้ยาเมไทราโพน อาจแบ่งเป็นกลุ่มๆ ดังนี้
- เป็นผู้ที่แพ้ยาเมไทราโพน
- เป็นผู้ที่มีสภาพต่อมหมวกไตทำงานต่ำ
- เป็นผู้ที่ได้รับยาประเภท Corticosteroid อย่างเชานยา Prednisone
นอกจากนี้การใช้ยาเมไทราโพนกับผู้ป่วยบางกลุ่มต้องอาศัยประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยเป็นปัจจัยสำคัญที่แพทย์จะใช้ยานี้หรือไม่ เช่น กลุ่มสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ด้วยตัวยาหลายชนิดที่รวมถึงยาเมไทราโพนสามารถส่งผลกระทบต่อทารกได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือในผู้ป่วยที่มีการใช้ยาชนิดอื่นใดอยู่ก่อนจะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งเมื่อต้องการเข้ารับการรักษา ด้วยตัวยาหลายประเภทสามารถก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาเมไทราโพน อย่างเช่น การใช้ยาเมไทราโพนร่วมกับยา Paracetamol ก็เสี่ยงต่อการเกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)กับตับหรือการใช้ยาเมไทราโพนร่วมกับยาอินซูลิน ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาเมไทราโพนมากขึ้น
สำหรับการใช้ยา เมไทราโพน ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด ด้วยยาเมไทราโพนเป็นยาที่ใช้ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอลของมนุษย์ การรับประทานยานี้มากเกินไป หรือรับประทานไม่ตรงเวลา จะส่งผลกระทบ(ผลเสีย) ต่อการวินิจฉัยและการรักษาโรคต่างๆของแพทย์โดยตรง
อนึ่ง ยังมีข้อปฏิบัติในด้านความปลอดภัยของการใช้ยาที่ผู้ป่วยสามารถยึดเป็นแนวปฏิบัติเมื่อต้องใช้ยาเมไทราโพน เช่น
- รับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามลืมรับประทานยาหรือ รับประทานยาผิดขนาด ผิดเวลา
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะส่งผลให้เกิด อาการวิงเวียนรุนแรง
- ในกรณีพบเห็นอาการแพ้ยานี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งสามารถสังเกอาการแพ้ยานี้ได้จาก อาการมีผื่นคันขึ้นเต็มตัว อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม
- *กรณีหลงลืมรับประทานยานี้เกินขนาดจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการวิงเวียน และง่วงนอนอย่างรุนแรง คลื่นไส้และ/หรืออาเจียนอย่างมาก อาจมีอาการท้องเสีย ปวดท้อง ปากแห้ง เกิดอาการชัก อ่อนเพลีย หากพบเห็นอาการเหล่านี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่ง โรงพยาบาลทันที
- สำหรับอาการของโรคคุชชิง หากผู้ป่วยรับประทานยานี้ตรงตามคำสั่งแพทย์และเป็นระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ แต่อาการไม่ดีขึ้นเลย ต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล โยไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
หากผู้บริโภค/ผู้ป่วยมีข้อสงสัยการใช้ยาเมไทราโพนเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ หรือเภสัชกร ในสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาได้ และในตลาดการค้ายาแผนปัจจุบัน เราจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยาเมไทราโพนภายใต้ยาชื่อการค้า ว่า “Metopirone”
เมไทราโพนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเมไทราโพนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษาโรคคุชชิง (Cushing disease)
- ใช้วินิจฉัยการทำงานของต่อมหมวกไตว่าผิดปกติหรือไม่
เมไทราโพนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ในบทความนี้จะขอกล่าวกลไกการออกฤทธิ์ของยาเมไทราโพนเฉพาะที่ใช้รักษาโรคคุชชิงเท่านั้น โดยตัวยาเมไทราโพนจะ ยับยั้ง การทำงานของเอนไซน์ Steroid 11 beta-hydroxylase ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในกระบวนการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล(Cortisol) ส่งผลให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลกลับสู่ภาวะปกติ อาการของโรคคุชชิงที่เกิดจากภาวะมีฮอร์โมนคอร์ติซอลในเลือด/ในร่างกายสูงผิดปกติจึงดีขึ้น จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ
เมไทราโพนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเมไทราโพนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาแคปซูลนิ่มชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Metyrapone 250 มิลลิกรัม/แคปซูล
เมไทราโพนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเมไทราโพน มีขนาดรับประทานที่ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะสำหรับการรักษาโรคคุชชิง เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 250 มิลลิกรัม ทุกๆ 4 ชั่วโมง ห้ามรับประทานยาเกิน 6 กรัม/วัน โดยระยะเวลาในการใช้ยาให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ และรับประทานยานี้หลังอาหารทันที
- เด็ก: การใช้ยา และขนาดยานี้ ในเด็ก ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเมไทราโพน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคมะเร็ง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาเมไทราโพน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเมไทราโพน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
เมไทราโพนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเมไทราโพนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น กรณีใช้ยานี้เป็นเวลานานๆ จะทำให้มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ เท้า-ขามีอาการบวม
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจเกิดผื่นคันได้บ้าง ผมยาวเร็วผิดปกติ เกิดสิว
- ผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น เกิดตะคริว ปวดกล้ามเนื้อ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น มีอาการกระสับกระส่าย
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
มีข้อควรระวังการใช้เมไทราโพนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเมไทราโพน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง ต้องรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ก่อนการใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องแจ้งให้ แพทย์/ พยาบาล/ เภสัชกร ทราบทุกครั้งว่า ตนเองมียาอื่นใดที่ใช้อยู่ก่อน
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเมไทราโพนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เมไทราโพนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเมไทราโพนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การรับประทานยาเมไทราโพนร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิด อย่างเช่น Estradiol อาจทำให้เกิดรบกวนการทำงานของยาเมไทราโพน ซึ่งจะส่งผลต่อการวินิจฉัยอาการป่วยจากต่อมหมวกไต หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมไทราโพนร่วมกับยา Cypoheptadine ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพของเมไทราโพนลดลง
ควรเก็บรักษาเมไทราโพนอย่างไร?
ควรเก็บยาเมไทราโพน ภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
เมไทราโพนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเมไทราโพน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Metopirone (เมโทพิโรน) | Novartis Pharmaceuticals Corporation |
บรรณานุกรม
- https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/26460[2017,Sept16]
- http://www.webmd.com/drugs/2/drug-4764/metopirone-oral/details[2017,Sept16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Metyrapone[2017,Sept16]
- https://www.drugs.com/imprints/ciba-ln-20489.html[2017,Sept16]