เมโปรบาเมท (Meprobamate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมโปรบาเมท (Meprobamate) เป็นสารประกอบประเภท คาร์บาเมต (Carbamate) ทางคลินิกใช้เป็นยาบรรเทาอาการวิตกกังวล (Anxiolytic) และอาการนอนไม่หลับ(Insomnia) โดยมีระยะเวลาของการใช้ยานี้พียงสั้นๆ รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้เป็นยาชนิดรับประทาน ยาเมโปรบาเมทถูกดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร ภายหลังการดูดซึม ตัวยาจะเข้าสู่กระแสเลือดและมีความเข้มข้นสูงสุดในกระแสเลือดโดยใช้เวลาประมาณ 1–3 ชั่วโมงหลังรับประทาน ยาเมโปรบาเมทสามารถกระจายตัวไปได้ทั่วร่างกาย และจะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนในกระแสเลือดได้ประมาณ 20% ตัวยานี้สามารถผ่านเข้ารก และผ่านเข้าสู่น้ำนมของมารดาได้ ตับจะคอยทำลายโครงสร้างของยาเมโปรบาเมทอย่างต่อเนื่องก่อนที่ จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ

นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในเอมริกา ชื่อ Frank Milan Berger กับคณะ ได้สังเคราะห์ยาเมโปรบาเมท ขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1950(พ.ศ.2493) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นยากล่อมประสาท/ยาคลายเครียด และถูกใช้ต่อเนื่องเป็น เวลาอีก 15 ปีต่อมา นักวิทยาศาสตร์จึงได้แจ้งเปลี่ยนสรรพคุณให้เป็นยารักษาทางจิตเวช(Psychotropic drug) จนกระทั่งปี ค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) ยานี้ได้ถูกจัดให้เป็นยาควบคุมพิเศษ ด้วยพบว่ามีฤทธิ์ก่อให้เกิดการเสพติดขึ้นได้

ข้อจำกัดการใช้ยาเมโปรบาเมทบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาเมโปรบาเมท
  • ห้ามใช้ยาเมโปรบาเมทกับผู้ป่วยโรคทางโลหิตวิทยา/โรคเลือด อย่าง Porphyria(โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อย ที่มีการผิดปกติในการทำงานของเม็ดเลือดแดง)
  • ห้ามใช้ยาเมโปรบาเมทร่วมกับยา Sodium oxybate ด้วยจะทำให้มีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยาเมโปรบาเมทมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น ง่วงนอนมาก และทำให้นอนหลับไม่รู้สึกตัวได้ยาวนาน
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี
  • การใช้ยาเมโปรบาเมทกับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางประเภท อาทิเช่น โรคตับ โรคไต โรคเส้นประสาท รวมถึงผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก อาจทำให้อาการของโรคเหล่านั้นกำเริบและรุนแรงขึ้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้ป่วยต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งว่า ตนเองมีโรคประจำตัวใดบ้าง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติติดสุราหรือติดสาร/ยาเสพติด

ทั้งนี้ ระหว่างการใช้ยาเมโปรบาเมท ยังมีข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ป่วยเอง อาทิ เช่น

  • กรณีที่มีอาการวิงเวียนศีรษะเมื่อใช้ยานี้ ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะทุกชนิดรวมถึงการควบคุมเครื่องจักรต่างๆ ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้ ด้วยจะทำให้มีอาการง่วงนอนมากยิ่งขึ้นจนอาจเกิดอันตรายกับชีวิต
  • ห้ามหยุดการใช้ยานี้ทันที เพราะจะเกิดภาวะถอนยา โดยในการจะหยุดยานี้ แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ค่อยๆปรับลดขนาดการใช้ยานี้ภายในช่วง 1–2 อาทิตย์ ได้อย่างเหมาะสม
  • หากพบอาการแพ้ยานี้ชนิดที่เรียกว่า Stevens-Johnson syndrome ควรรีบมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ด้วยเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงจากยานี้ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • อาการข้างเคียงที่พบเห็นบ่อยจากการใช้ยานี้ ได้แก่ เกิดการผิดปกติทางผิวหนัง(เช่น เกิดผื่น ที่อาจรุนแรงได้) ท้องเสีย วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และอ่อนเพลีย
  • *กรณีที่ได้รับยานี้เกินขนาด อาจสังเกตได้จากอาการ เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ง่วงนอนและวิงเวียนอย่างรุนแรง พูดไม่ชัด อยากทำร้ายตนเอง อาการช็อก เกิดภาวะโคม่า ซึ่งหากพบอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

อนึ่ง กรณีที่มีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยาเมโปรบาเมท สามารถสอบถามข้อมูลได้จากแพทย์และจากเภสัชกรโดยทั่วไป

เมโปรบาเมทมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เมโปรบาเมท

ยาเมโปรบาเมทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดรักษาอาการวิตกกังวล และอาการนอนไม่หลับ

เมโปรบาเมทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเมโปรบาเมทมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์กดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง (ยากดระบบประสาทส่วนกลาง) คล้ายกับการออกฤทธิ์ของยา Barbiturates มีผลทำให้ความวิตกกังวล ลดน้อยลง ช่วยสงบประสาท ช่วยให้นอนหลับ และทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย จากกลไกเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ

เมโปรบาเมทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมโปรบาเมทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายในประเทศไทยเป็น ยาเม็ดรับประทานที่ประกอบ ด้วยตัวยา Meprobamate ขนาด 200 และ 400มิลลิกรัม/เม็ด

เมโปรบาเมทมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเมโปรบาเมท มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 3–4 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้สูงอายุ: รับประทานยาครั้งละ 200 มิลลิกรัม วันละ 3–4 ครั้ง ตามคำสั่งแพทย์
  • เด็กอายุ 6–12 ปี: รับประทานยาวันละ 200–600 มิลลิกรัม โดยแบ่งการรับประทานออกเป็น 2–3 ครั้ง ตามคำสั่งแพทย์
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ห้ามใช้ยานี้

อนึ่ง: ยานี้สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเมโปรบาเมท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคลมชัก รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมโปรบาเมท อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเมโปรบาเมท สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

เมโปรบาเมทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมโปรบาเมทสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อหัวใจ: เช่นชีพจรผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว ค่า ECG เปลี่ยนไป ความดันโลหิตต่ำ มือ-เท้าบวม
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะ Stevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย พูดไม่ชัด
  • ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นภาพแย่ลง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ประสาทหลอน เกิดอาการถอนยา
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น Leukopenia(เม็ดเลือดขาวต่ำ) โลหิตจาง กระตุ้นให้อาการของโรค Prophyria กำเริบ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด

มีข้อควรระวังการใช้เมโปรบาเมทอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมโปรบาเมท เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็กทีมีอายุต่ำกว่า 6 ปีลงมา
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ระยะรุนแรง
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมเมโปรบาเมทด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เมโปรบาเมทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมโปรบาเมทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • กรณีใช้ยาเมโปรบาเมทร่วมกับยา Bupranorphrine (ยาแก้ปวด) จะก่อให้เกิดการกดระบบประสาท หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานเป็นกรณีไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมโปรบาเมทร่วมกับยา Captopril ด้วยจะทำให้เกิด ความดันโลหิตต่ำ ปวดศีรษะ วิงเวียน เป็นลม ตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้เมโปรบาเมทร่วมกับยา Methocarbamol(ยาคลายกล้ามเนื้อ), Carbinoxamine, Codeine, ด้วยจะทำให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน ขาดสมาธิ ตามมา

ควรเก็บรักษาเมโปรบาเมทอย่างไร?

ควรเก็บยาเมโปรบาเมทภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลล์เซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เมโปรบาเมทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมโปรบาเมทที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Reinbamate (รีนบาเมต)Chew Brothers

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Miltown, Equanil, MB tab, Trancot, ยาเมโปรบาเมท (Meprobamate)

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Meprobamate [2017,Jan21]
  2. https://www.drugs.com/cdi/meprobamate.html [2017,Jan21]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/meprobamate?mtype=generic [2017,Jan21]
  4. https://www.drugs.com/sfx/meprobamate-side-effects.html [2017,Jan21]