เมโทลาโซน (Metolazone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 4 เมษายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- เมโทลาโซนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เมโทลาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เมโทลาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เมโทลาโซนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เมโทลาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เมโทลาโซนอย่างไร?
- เมโทลาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเมโทลาโซนอย่างไร?
- เมโทลาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- ไทอะไซด์ (Thiazide)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- เกาต์ (Gout)
บทนำ
ยาเมโทลาโซน (Metolazone) เป็นยาขับปัสสาวะที่มีฤทธิ์คล้ายยาไทอะไซด์ (Thiazide) ทางคลินิกได้ใช้ยาเมโทลาโซนมาบำบัดรักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว รวมถึง อาการบวมน้ำของร่างกาย ยานี้จะออกฤทธิ์ที่ไต โดยยับยั้งการดูด น้ำ และเกลือโซเดียม(Sodium) จากไต กลับเข้าสู่กระแสเลือด
ยาเมโทลาโซนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน โดยตัวยาสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 65% หลังการรับประทานประมาณ 60 นาที ยานี้ก็จะเริ่มออกฤทธิ์ ยานี้จะถูกไตกำจัดออกไปกับปัสสาวะโดยใช้เวลาประมาณ 14 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
โดยทั่วไป แพทย์มักจะให้ผู้ป่วยรับประทานยาเมโทลาโซนวันละ1ครั้ง หลังอาหารเช้า ก็เพียงพอต่อการรักษาอาการโรคแล้ว ยาเมโทลาโซนอาจถูกใช้เป็นยาเดี่ยว หรือจะใช้ร่วมกับยารักษาโรคหัวใจ หรือโรคความดันโลหิตสูงก็ได้ แต่จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาเมโทลาโซนห้ามมิให้ผู้ป่วยใช้ยาอื่นใดร่วมในการรักษาโรคโดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ ผู้ป่วยต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่าตนเองมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง เพราะโรคต่างๆเหล่านั้นอาจเกิดผลกระทบเมื่อมีการใช้ยาเมโทลาโซนโดยเฉพาะ โรคลูปัส(Lupus) โรคไต โรคตับ โรคเกาต์ และอาจมีภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ และ/หรือมีเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ รวมถึงการอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของตนเองที่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรง นอกจากนั้น การใช้ยาชนิดอื่นใดอยู่ก่อนเป็นสิ่งที่ต้องพึงระวัง และผู้ป่วยต้องเข้าใจว่า ยาต่างๆที่ใช้อยู่นั้น อาจทำให้เกิดผลกระทบ/ผลข้างเคียงกับร่างกายเพิ่มสูงขึ้น เมื่อใช้ร่วมกับยาเมโทลาโซน เช่น ยากลุ่มNSAIDs สามารถทำให้ประสิทธิภาพของยาเมโทลาโซนลดลงได้ หรือยากลุ่ม ACE inhibitors ยาขับปัสสาวะ อย่างเช่น Furosemide ก็อาจสร้างความเสียหายให้กับไตของผู้ป่วยได้มากขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยาเมโทลาโซน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังต้องใช้ยาเมโทลาโซน ตรงตามคำสั่งแพทย์ การลืมรับประทานยานี้ สามารถทำให้อาการโรคกลับมากำเริบ เช่น เกิดความดันโลหิตสูงหรืออาการบวมน้ำของร่างกายไม่ดีขึ้น ดังนั้นเป็นหน้าที่ที่ผู้ป่วยต้องรับประทานยาตรงขนาดและเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
ในบางครั้งยาเมโทลาโซน ก็อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆได้เช่นเดียวกับยาอื่นๆ เช่น วิงเวียนศีรษะ ทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดดง่ายหรือมีอาการ ท้องผูกหรือท้องเสีย กรณีมีอาการข้างเคียงที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น เกิดผื่นคันตามร่างกาย หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก แน่นหน้าอก/ เจ็บหน้าอก ให้สันนิษฐานว่า อาจเกิดอาการแพ้ยานี้ ผู้ป่วยควรต้องรีบมาพบแพทย์ทันที/ฉุกเฉิน
สำหรับผู้ที่เผลอรับประทานยาเมโทลาโซนเกินขนาด สามารถสังเกตได้จากอาการ วิงเวียน ง่วงนอน ปากแห้ง ปัสสาวะมาก และตามมาด้วยอาการปัสสาวะน้อยลง อาจพบเห็นอาการเป็นลมร่วมกับเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากพบอาการดังกล่าว ควรรีบนำตัวผู้ป่วยมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
ประเทศไทย อาจยังไม่พบเห็นการใช้ยาเมโทลาโซน แต่ในต่างประเทศเมโทลาโซนถูกจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Zytanix , Zaroxdyn และ Mykrox
เมโทลาโซนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเมโทลาโซนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง
- ลดอาการบวมน้ำของร่างกาย
อนึ่ง ยาเมโทลาโซน ถูกออกแบบมาใช้รักษาอาการป่วยของผู้ใหญ่เท่านั้นและยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในผู้ป่วยเด็ก
เมโทลาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเมโทลาโซนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ไต โดยส่งผลยับยั้งการดูดกลับของเกลือโซเดียม มีผลให้เกลือโซเดียมถูกขับออกจากร่างกาย และเป็นเหตุให้เกิดการเหนี่ยวนำให้ขับออกน้ำตามมาด้วย จากกลไกเหล่านี้ จึงส่งผลลดความดันโลหิต และทำให้อาการบวมน้ำของร่างกายทุเลาลง
เมโทลาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเมโทลาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของตัวยา Metolazone ขนาด 0.5, 2.5, 5, และ10 มิลลิกรัม/เม็ด
เมโทลาโซนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเมโทลาโซนมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับรักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาเริ่มต้นที่ 1.25 มิลลิกรัม/วัน หลังจากนั้นอีก 3–4 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 2.5–5 มิลลิกรัม โดยอาจใช้เป็นยาเดี่ยว หรือ อาจใช้ ร่วมกับยารักษาความดันโลหิตสูงชนิดอื่น ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
ข. สำหรับบำบัดอาการบวมน้ำของร่างกาย:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 5–10 มิลลิกรัม/วัน หากจำเป็น แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 20 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน
อนึ่ง:
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
- ควรรับประทานยานี้หลังอาหารเช้า ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร-ลำไส้ ประกอบกับช่วยลดภาวะตื่นกลางดึกเพื่อมาเข้าห้องน้ำปัสสาวะ
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด ผู้ป่วยโรคตับขั้นรุนแรง
- ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเมโทลาโซน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ มีภาวะพร่อง/ขาดเกลือแร่ของร่างกาย รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมโทลาโซนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาเมโทลาโซน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ
การหยุดรับประทานยาเมโทลาโซนทันที อาจทำให้อาการผู้ป่วยกำเริบขึ้นได้เช่น ความดันโลหิตสูง
เมโทลาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเมโทลาโซนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง มีภาวะLeukopenia(เม็ดเลือดขาวต่ำ)
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ตับอ่อนอักเสบ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องอืด
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ อ่อนแรง
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ เจ็บหน้าอก
- ผลต่อตับ: เช่น เกิดดีซ่าน
- ผลต่อไต: เช่น ไตวาย ค่าครีเอตินิน(Creatinine)ในเลือดเพิ่มขึ้น
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกลือ โซเดียม โปแตสเซียม/โพแทสเซียม และแมกนีเซียม ในเลือดลดต่ำ ขณะที่แคลเซียม และกรดยูริคเพิ่มสูง
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ
มีข้อควรระวังการใช้เมโทลาโซนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเมโทลาโซน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีและกลิ่นยาเปลี่ยนไป
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วน ประกอบ ด้วยจะส่งผลใหเกิดผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรงขึ้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือผู้ที่เริ่มมีอาการของโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเกาต์ โรคเอสแอลอี (SLE หรือ โรค Lupus) โรคไต โรคไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
- ระวังการยาใช้เมโทลาโซนกับผู้ที่มีประวัติแพ้ยา Sulfonamide, Sulfonylureas, ยากลุ่ม Carbonic anhydrase inhibitor, และยาThiazides
- หากพบภาวะแพ้ยานี้ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นขึ้นตามตัว ให้หยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- รับประทานยานี้ต่อเนื่อง ตรงตามขนาด และเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
- กรณีรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพาผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมเมโทลาโซนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เมโทลาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเมโทลาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเมโทลาโซนร่วมกับยาบางกลุ่ม อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียง จากยากลุ่มดังกล่าวมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน ยากลุ่มดังกล่าว เช่น ACE inhibitors , Allopurinol , Amantadine, Diazoxide, Cyclophosphamide, Digitalis , Ketanserin, Lithium, Furosemide, Vecuronium
- ห้ามใช้ยาเมโทลาโซนร่วมกับยาCisapride ด้วยจะทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมโทลาโซนร่วมกับยาLithium ด้วยจะทำให้เกิดอาการ ท้องเสีย อาเจียน ง่วงนอน ตัวสั่น และกระหายน้ำตามมา กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- ห้ามรับประทานยาเมโทลาโซนร่วมกับเครื่องดื่มประเภทสุรา ด้วยจะทำให้เกิดอาการ ความดันโลหิตต่ำ วิงเวียน ปวดศีรษะ และเป็นลม ตามมา
ควรเก็บรักษาเมโทลาโซนอย่างไร?
ควรเก็บยาเมโทลาโซนภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) หรือเก็บยาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์
เมโทลาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเมโทลาโซน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Mykrox (ไมคร็อก) | Celltech |
Zytanix (ไซทานิก) | Zydus Cadila Healthcare Ltd |
Zaroxolyn (ซาร็อกโซลิน) | UCB Pharma, Inc. |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Diurem, Lazon, Mela, Memtoz, Metadur, Metolaz, Metoral, Metoz, Zytanix
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/cdi/metolazone.html[2017,March18]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/metolazone/?type=brief&mtype=generic[2017,March18]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Metolazone[2017,March18]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/metolazone-index.html?filter=3&generic_only=[2017,March18]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00524[2017,March18]