เมแมนทีน (Memantine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

เมแมนทีน (Memantine) คือ ยาในกลุ่ม เอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (NMDA receptor antagonist หรือ N-Methyl-D-aspartate receptor antagonist) ทางคลินิกได้นำยานี้มารักษาอาการความจำเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ (Alzeime-type dementia) การออกฤทธิ์ของยานี้เกิดในสมอง โดยตัวยาจะทำให้เกิดกลไกปิดกั้นไม่ให้สารสื่อประสาทที่เรียกว่า Glutamate ทำงานได้เต็มที่ ส่งผลให้อาการความจำเสื่อมดีขึ้น อย่างไรก็ตามยานี้ไม่ได้รักษาโรคอัลไซเมอร์ เพียงแต่ช่วยบำบัดและชะลอมิให้อาการแย่ลงกว่าเดิม

ยาเมแมนทีนที่จำหน่ายในต่างประเทศมียาชื่อการค้า เช่น Axura, Akatinol, Namenda, Memox

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมยาเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะถูกทำลายโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลาในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดนานถึงประมาณ 60 - 100 ชั่วโมงโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

มีสิ่งที่ต้องพึงระวังก่อนการใช้ยานี้กับผู้ป่วยคือ        

  • ผู้ป่วยเคยแพ้ยานี้หรือไม่
  • มีภาวะโรคตับ โรคไต โรคลมชัก หรือปัสสาวะขัดอยู่หรือเปล่าด้วยมีความเกี่ยวข้องของการ ใช้ยานี้กับอาการของโรค
  • มีการใช้ยาอื่นอยู่ก่อนหน้านี้หรือไม่ เช่น ยา Amantadine (ยาโรคพาร์กินสัน), Acetazola mide, Dextromethorphan, Ketamine, Sodium bicarbonate ด้วยยาเหล่านี้มีผลให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จากยาเมแมนทีนได้มากขึ้น

 ระหว่างการใช้ยานี้ แพทย์อาจย้ำเตือนมิให้ผู้ป่วยขับขี่ยวดยานพาหนะด้วยตนเอง ด้วยยานี้ส่งผลให้เกิดอาการวิงเวียนและง่วงนอน ห้ามมิให้ปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง อาการข้างเคียงอื่นที่สามารถพบได้ขณะใช้ยานี้เช่น ท้องผูกและปวดหัว หากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาหลังใช้ยานี้ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน

สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้จัดให้ยาเมแมนทีนอยู่ในกลุ่มยาควบคุมพิเศษ การใช้ยาต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น เราจึงพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

เมแมนทีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

เมแมนทีน

 ยาเมแมนทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ใช้บำบัดการสูญเสียความทรงจำในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ตั้งแต่ระดับปานกลางจนถึงขั้นรุนแรง

เมแมนทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเมแมนทีนมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาเข้าจับกับตัวรับ (Receptor) ที่เรียกว่า NMDA receptor จึงยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทที่เรียกว่า Glutamate การมี Glutamate สูงจะเกิดการกระตุ้นเซลล์ประสาท/เซลล์สมองมากจนทำให้เกิดการตายของเซลล์สมอง ยานี้จึงช่วยชะลอการตายของเซลล์สมอง ซึ่งจากกลไกนี้ทำให้ชะลอภาวะความจำเสื่อมได้ตามสรรพคุณ

เมแมนทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

 ยาเมแมนทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10 และ 20 มิลลิกรัม/ เม็ด

เมแมนทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเมแมนทีนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานได้สูงสุด 20 มิลลิกรัม/วัน ตัวอย่างขนาดยา เช่น                                       
    • สัปดาห์แรกรับประทาน 5 มิลลิกรัมวันละครั้ง                               
    • สัปดาห์ที่ 2 รับประทาน 10 มิลลิกรัมวันละครั้ง                                
    • สัปดาห์ที่ 3 รับประทาน 15 มิลลิกรัมวันละครั้ง                                
    • สัปดาห์ที่ 4 รับประทาน 20 มิลลิกรัมวันละครั้ง                                      
    • ทั้งนี้ขนาดยา การปรับขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยานี้ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

อนึ่ง สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): อัลไซเมอร์เป็นโรคของผู้สูงอายุ ปัจจุบันยานี้จึงยังไม่มีการนำมาใช้ทางคลินิกในเด็ก อย่างไรก็ตามขณะนี้กำลังมีการศึกษานำยานี้มาใช้รักษาโรคสมองชนิดอื่นของเด็ก เช่น โรคสมาธิสั้น

*****หมายเหตุ:  ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ     

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเมแมนทีน ผู้ป่วยควรแจ้ง  แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมแมนทีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

 หากลืมรับประทานยาเมแมนทีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

 * เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาทุกชนิดรวมถึงยาเมแมนทีนให้ตรงเวลา

เมแมนทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยาเมแมนทีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

ก. อาการข้างเคียงที่พบเห็นได้บ่อย: เช่น เกิดอาการจิตหลอน/ประสาทหลอน รู้สึกสับสน วิงเวียน  ปวดหัว   และอ่อนแรง

ข. อาการข้างเคียงที่พบได้ไม่บ่อยนัก: เช่น มีอาการวิตกกังวล กล้ามเนื้อเกร็งตัวเพิ่มขึ้น/ตะคริว และอาเจียน

มีข้อควรระวังการใช้เมแมนทีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้เมแมนทีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • รับประทานยานี้ตรงตามเวลาอย่างเคร่งครัด
  • ระหว่างการใช้ยานี้อาจมีอาการวิงเวียน มึนงง จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะด้วยตนเอง หรือทำงานกับเครื่องจักรเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • การใช้ยาในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ผู้ รักษาเท่านั้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวม ยาเมแมนทีนด้วย) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เมแมนทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมแมนทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมแมนทีน ร่วมกับยา Trihexyphenidyl (ยาโรคพาร์กินสัน) ด้วยจะทำให้มีอาการปากคอแห้ง รูม่านตาขยาย  วิงเวียน ง่วงนอน ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด  ท้องผูก เหงื่อออกน้อย ปั่นป่วนในกระเพาะอาหาร หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาเมแมนทีน ร่วมกับยา Hydrochlorothiazide จะทำให้ร่างกายขับยา Hydrochloro thiazide ออกจากร่างกายได้น้อยลง และส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆจากยา Hydrochlorothiazide ติดตามมามากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมแมนทีน ร่วมกับยา Amantadine ด้วยจะเกิดความเสี่ยงของอาการทาง จิตประสาทติดตามมา เช่น ประสาทหลอน

ควรเก็บรักษาเมแมนทีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเมแมนทีน:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เมแมนทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมแมนทีน  มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Ebixa (อีบิซา) Lundbeck
Memxa (เมมซา) Unison
Neumantine (นิวแมนทีน) Millimed

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Memantine  [2022,May28]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/memantine?mtype=generic   [2022,May28]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Ebixa/?type=full#Indications   [2022,May28]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Ebixa/?type=full#Indications  [2022,May28]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/memantine-index.html?filter=2&generic_only=  [2022,May28]