เมเพอริดีน (Meperidine) หรือ เพทิดีน (Pethidine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือยาอะไร?

ยาเมเพอริดีน (Meperidine) หรือ ยาเพทิดีน (Pethidine) คือ ยาแก้ปวดที่สังเคราะห์โดยมีโครงสร้างเหมือนสารโอปิออยด์ (Synthetic opioid analgesic)/สารในกลุ่มฝิ่น ถูกพัฒนา และสังเคราะห์ขึ้นในปี ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482) โดยนักเคมีชาวเยอรมัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปรักษาอาการปวดระดับกลางจนถึงอาการปวดแบบรุนแรง รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ จะเป็นลักษณะยาเม็ดและยาน้ำสำหรับรับประทานรวมไปจนถึงยาฉีด หากนำยานี้มาเปรียบเทียบกับ Morphine พบว่าเมเพอริดีนจะทำให้เกิดอาการติดยาน้อยกว่า

ด้านการกระจายตัวของเมเพอริดีนในร่างกาย จะมีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารประมาณ 50 - 60% โดยเมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือด จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 65 - 75% ตัวยาส่วนใหญ่จะถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีโดยตับ และร่างกายต้องใช้เวลาประ มาณ 2.5 - 4 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ หากผู้ป่วยเป็นโรคตับจะใช้เวลาในการกำจัดยานี้มากขึ้นเป็นประมาณ 7 - 11 ชั่วโมง

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยระบุให้ยาเมเพอริดีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประ เภทที่ 2 การใช้ยากับผู้ป่วยจะต้องมีใบสั่งจากแพทย์ ซึ่งยาเมเพอริดีนมีใช้ในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น การขอซื้อและรับยาต้องผ่านกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง ประกอบกับจะต้องทำรายงานการใช้ยา - การซื้อเข้าคลังของสถานพยาบาลนั้นๆส่งกระทรวงสาธารณสุขทุกเดือน

เมเพอริดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

เมเพอริดีน

ยาเมเพอริดีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • ระงับอาการปวดระดับปานกลางจนกระทั่งปวดระดับรุนแรง
  • ช่วยสงบประสาทในผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด

เมเพอริดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเมเพอริดีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยเข้าจับกับตัวรับ (Receptor) ที่มีชื่อว่า Opioid receptor ทั้งในสมองและตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย ก่อให้เกิดอาการชาหรือลดอาการปวดในบริเวณที่อักเสบหรือที่บาดเจ็บ จากกลไกนี้ทำให้ยาเมเพอริดีนมีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ

เมเพอริดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมเพอริดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีดขนาด 25, 50, 75 และ 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

เมเพอริดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

บทความนี้ขอยกตัวอย่างขนาดใช้ยาเมเพอริดีนเฉพาะในยารับประทานสำหรับลดอาการปวดเท่านั้น เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 50 - 150 มิลลิกรัมทุกๆ 3 - 4 ชั่วโมงตามความจำเป็น โดยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): รับประทาน 1.1 - 1.8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไปจนถึงขนาดรับประทานของผู้ใหญ่ทุกๆ 3 - 4 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นกับอาการรุนแรงของการปวด ช่วงอายุและน้ำหนักตัวของเด็ก โดยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเมเพอริดีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมเพอริดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเมเพอริดีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

เมเพอริดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมเพอริดีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • กดการหายใจจนถึงขั้นเกิดภาวะช็อก และหัวใจหยุดเต้น จนตายได้
  • ปวดหัวเล็กน้อย
  • วิงเวียน
  • ง่วงนอน
  • เหงื่อออกมาก
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ร่างกายมีอาการสั่น
  • กล้ามเนื้อกระตุก
  • มีอาการชัก
  • ตาพร่า
  • ประสาทหลอน
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง/อารมณ์แปรปรวน
  • ปากคอแห้ง
  • ท้องผูก
  • ใบหน้าแดง
  • ท่อทางเดินน้ำดีหดเกร็งตัว
  • หัวใจเต้นเร็ว หรือ หัวใจเต้นช้า กว่าปกติ
  • ชีพจรเต้นผิดปกติ
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ปัสสาวะขัด
  • ผื่นคัน
  • ลมพิษขึ้นตามผิวหนัง

*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะพบอาการ อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบากจนถึงขั้นโคม่า มีอาการตัวเย็น ผู้ป่วยบางรายจะพบอาการหัวใจเต้นช้า และมีความดันโลหิตต่ำ หากอาการรุนแรงอาจถึงขั้นหยุดหายใจ ระบบการไหลเวียนเลือดล้มเหลว หัวใจหยุดเต้นจนถึงขั้น ตายในเวลาต่อมา ซึ่งหากพบอาการดังกล่าวเมื่อใช้ยานี้ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน โดยการรักษาจากแพทย์เช่น ให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ การฉีดยา Naloxone เพื่อช่วยต้านพิษของยาเมเพอริดีน นอกจากนั้นคือ การควบคุมสัญญาณชีพต่างๆให้เป็นปกติโดยเร็ว

มีข้อควรระวังการใช้เมเพอริดีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมเพอริดีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาเมเพอริดีน
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยานี้สามารถผ่านรกและน้ำนมของมารดาได้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหืด ผู้ป่วยที่มีภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำ
  • ระหว่างการใช้ยาควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจากง่วงนอน
  • ไม่ควรใช้ยานี้นานเกินไป ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะติดยา การใช้ยาควรเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชัก ด้วยตัวยาอาจกระตุ้นการชักให้เกิดได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
  • ควรอธิบายถึงผลดี/ผลเสียของยานี้ให้กับผู้ป่วยรับทราบ ซึ่งจะส่งผลการในความร่วมมือของการใช้ยารวมถึงความปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วยเอง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมเพอริดีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เมเพอริดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมเพอริดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเมเพอริดีน ร่วมกับ ยา Acyclovir อาจทำให้ฤทธิ์ของเมเพอริดีนมีมากยิ่งขึ้นซึ่งอาจส่งผลต่อผลข้างเคียงติดตามมา การใช้ยาร่วมกันควรต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมต่อผู้ป่วยเป็นกรณีไป
  • ห้ามใช้ยาเมเพอริดีน ร่วมกับ ยากลุ่ม MAOIs ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะโคม่า หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีอาการเหมือนได้รับพิษจากสารไซยาไนด์ (Cyanide) ความดันโลหิตต่ำ ทางคลินิกแนะนำให้หยุดการใช้ MAOIs เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วันจึงสามารถใช้ยาเมเพอริดีนได้
  • การใช้ยาเมเพอริดีน ร่วมกับ ยาแก้ปวดบางตัว เช่นยา Tramadol จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลมชักในผู้ป่วยได้ง่าย หากต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • ไม่แนะนำการใช้ยาเมเพอริดีน ร่วมกับ การใช้ยา Methylene blue ด้วยเสี่ยงกับภาวะหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ความดันโลหิตต่ำ หรืออาจเกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน(Serotonin Syndrome) ที่มีอาการสับสน ประสาทหลอน มีอาการชักตามมา หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ เหงื่อออกมาก ตาพร่า และกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในทางคลินิกแนะนำให้หยุดการใช้ Methylene blue เป็นเวลา 14 วันอย่างต่ำจึงสามารถใช้ยาเมเพอริดีนได้

ควรเก็บรักษาเมเพอริดีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเมเพอริดีน:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เมเพอริดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมเพอริดีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Demerol (Injection) (เดเมอรอล)HOSPIRA
Demerol (Tablet) (เดเมอรอล)SANOFI AVENTIS US
Pethidine (เพทิดีน)Neon
Pethidine HCl (เพทิดีน ไฮโดรคลอไรด์)Haffkine Bio-Pharmaceutical
Verpat (เวอร์แพท)Verve

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Pethidine [2021,June19]
  2. https://www.mims.co.uk/drugs/pain/pain-fever/pethidine [2021,June19]
  3. https://www.drugs.com/cdi/meperidine-injection.html [2021,June19]
  4. https://www.mims.com/singapore/drug/info/pethidine?mtype=generic [2021,June19]
  5. https://www.mims.com/India/Drug/search/?q=meperidine [2021,June19]