การพบแพทย์:เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ (When to see a doctor)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 21 กันยายน 2556
- Tweet
- บทนำ
- การพบแพทย์เมื่อเจ็บป่วย มีหลักการอย่างไร?
- กรณีมีอาการผิดปกติแต่รักษาแล้วไม่ดีขึ้น ควรเปลี่ยนแพทย์หรือโรงพยาบาลหรือไม่?
- การพบแพทย์ต้องเตรียมอะไรบ้าง?
- สรุป
บทนำ
การเจ็บป่วยและต้องพบแพทย์นั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ปรารถนา แต่เมื่อมีอาการเจ็บป่วยก็ต้องพบแพทย์ การพบแพทย์ที่เหมาะสมทั้งในด้านเวลาและสถานที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ท่านได้ รับการรักษาที่ถูกต้อง รวดเร็วทันต่อเวลาหรือไม่ บางครั้งเมื่อท่านไปพบแพทย์แล้ว แพทย์บอกว่าช้าเกินไป อาการรุนแรงแล้ว เราก็คงเสียใจที่ปล่อยให้มีเหตุการณ์แบบที่เกิดขึ้น ทำอย่างไรไม่ให้มีเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้น
การพบแพทย์เมื่อเจ็บป่วย มีหลักการอย่างไร?
การพบแพทย์เมื่อเจ็บป่วย มีหลักการพิจารณาดังนี้
- ชนิดของอาการเจ็บป่วย (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ ชนิดของอาการเจ็บป่วยคืออะไร?)
- สาขาแพทย์ที่พบ (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ ควรพบแพทย์สาขาใด?)
- สถานพยาบาล/โรงพยาบาล ( อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ ควรพบแพทย์ที่คลินิก โรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชน?)
- ความเร่งด่วนของการรักษา (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ ความเร่งด่วนของการรักษาประเมินอย่างไร?)
ชนิดของอาการเจ็บป่วยคืออะไร?
ชนิดของอาการเจ็บป่วย คือ อาการผิดปกติที่ผู้ป่วยมี เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ แขนขาอ่อนแรง ชัก เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ปวดข้อเข่า ผื่น คัน ซึ่งชนิดของอาการเจ็บป่วยนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดว่า ผู้ป่วยควรพบแพทย์หรือไม่ พบแพทย์เฉพาะทางหรือไม่ พบแพทย์ทันทีหรือรอได้ และพบที่สถานพยาบาลแบบไหน คลินิก หรือโรงพยาบาล
กรณีที่อาการเจ็บป่วยนั้น เป็นอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ก็น่าจะเป็นไข้หวัด ซึ่งทุกคนก็เคยเป็น ผู้ป่วยอาจดูแลตนเองเบื้องต้นได้ โดยการทานยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ซึ่งสามารถซื้อจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรให้คำแนะนำ อย่างไรก็ตามถ้าอาการนั้นไม่ดีขึ้น ตามระยะ เวลาที่ควรจะเป็น กล่าวคือ ภายใน 2-3 วัน ก็ควรรีบพบแพทย์ หรือในช่วงเวลานั้นมีการระบาดของโรคบางอย่าง เช่น ไข้หวัดนก ไข้เลือดออก กรณีที่ท่านมีอาการคล้าย หรือสงสัย หรือกังวลในอา การ ก็ควรพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยามาทานเอง เพื่อความปลอดภัยของท่าน
แต่ถ้าอาการเจ็บป่วยนั้น เป็นอาการที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ และไม่ควรเกิด เช่น ไอเป็นเลือด ชัก แขนขาอ่อนแรง ก็ควรรีบพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยามาทานเอง หรือสังเกตอาการที่บ้านว่าจะเป็นมากขึ้น หายเองได้หรือไม่
กรณีที่ท่านไม่มั่นใจว่าจะทำอย่างไร แนะนำว่าให้พบแพทย์ดีกว่า ส่วนการหาข้อมูลทางอิน เตอร์เน็ต หรือทางแหล่งความรู้อื่นๆ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่คนส่วนหนึ่งนิยม ซึ่งถ้าท่านศึกษาแล้วเข้าใจดี และมั่นใจว่าท่านเป็นโรคหรือภาวะที่สามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้ และอาการก็เล็กน้อย ท่านก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ควรมั่นใจในแหล่งข้อมูลว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ และถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 1-3 วัน หรือมีอาการเลวลง ก็ควรรีบพบแพทย์
ควรพบแพทย์สาขาใด?
แพทย์ มีทั้งแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/แพทย์ทั่วไป/แพทย์อายุรกรรมทั่วไป และ แพทย์เฉพาะทาง (เช่น ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ อายุรแพทย์โรคทางเดินอาหาร เป็นต้น) เมื่อไหร่ควรพบแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป หรือพบแพทย์เฉพาะทาง มักเป็นคำถามเสมอสำหรับผู้ป่วยและครอบ ครัวผู้ป่วย
การตัดสินใจพบแพทย์เฉพาะทางหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายในการแนะนำ เพราะมีปัจจัยอื่นๆมากมายในการตัดสินใจ เช่น โรคประจำตัว, อาการที่ผิดปกติ, ความรุนแรงของอาการ, ความพร้อมของสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยสะดวก, สิทธิ์การรักษาของผู้ป่วย, และระบบทางการแพทย์ในการรักษาโรคหรืออาการนั้นๆ รวมทั้งฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ป่วยเอง เพราะค่าใช้จ่ายทางการตรวจและรักษาจะสูงกว่า โดยเฉพาะกรณีไม่มีข้อบ่งชี้การรักษาที่ชัดเจนว่าจำเป็นต้องรักษาด้วยแพทย์เฉพาะทาง อาจใช้สิทธิทางการรักษาไม่ได้ ทั้งนี้เพราะประมาณ 80% ของโรคสามารถรัก ษาได้ด้วยแพทย์หรืออายุรแพทย์ทั่วไป ซึ่งแพทย์/อายุรแพทย์ทั่วไปจะปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเมื่อมีข้อบ่งชี้ว่า จำเป็นต้องรักษาด้วยแพทย์เฉพาะทาง กล่าวคือ เป็นโรคที่ซับซ้อนและใช้เทคโน โลยีทางการรักษาที่เฉพาะและซับซ้อน
อย่างไรก็ตามผมแนะนำว่า ให้พบแพทย์ที่สถานพยาบาลที่ใกล้บ้าน หรือสถานที่เกิดเหตุก่อน เพื่อให้แพทย์ ณ สถานพยาบาลนั้นได้ประเมินอาการผิดปกติก่อน ซึ่งถ้าสามารถรักษาได้ และผู้ป่วยก็พึงพอใจ อาการก็ดีขึ้น ก็จะเป็นการสะดวก รวดเร็ว และมีความคุ้มค่าในการรักษามากที่สุด แต่ถ้าแพทย์ท่านแรกประเมินแล้วว่า ต้องพบแพทย์เฉพาะทางต่อ แพทย์ท่านแรกก็จะบันทึกข้อมูล จัดทำเอกสารการส่งต่อ ซึ่งจะสรุปประวัติการเจ็บป่วย ความคิดเห็นของแพทย์ที่ได้รักษาผู้ ป่วยไปแล้ว การรักษาที่ผู้ป่วยได้รับมาแล้ว รวมทั้งสิทธิ์การรักษา ก็จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลเบื้องต้นที่เหมาะสมกว่า
กรณีที่แพทย์ได้ให้การรักษา แต่ผู้ป่วยหรือญาติไม่สบายใจ ไม่มั่นใจ มีความกังวลใจว่า รัก ษาได้ดีหรือไม่ ท่านก็ควรสอบถามกับแพทย์โดยตรงถึงข้อสงสัยต่างๆ แพทย์ก็จะอธิบายให้ฟังถึง อาการ, วิธี/แนวทางรักษา, และแผนการรักษาต่างๆ ถ้าอาการผู้ป่วยก็ดีขึ้นและญาติก็สบายใจ ก็ควรรักษาต่อที่โรงพยาบาลใกล้บ้านกับแพทย์ท่านเดิม แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น แพทย์ก็จะส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพทางการรักษาโรคที่ซับซ้อน ตามระบบการส่งต่อผู้ป่วยของกระทรวงสาธารณสุข โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยเสมอ
กรณีที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่ต้องรักษากับแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น และมีอาการผิดปกติของโรคนั้นๆไปจากเดิม ก็ควรรีบติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรักษาประจำเพื่อประสานการขอพบแพทย์ก่อนนัด
เควรพบแพทย์ที่คลินิก โรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชน?
การตัดสินใจเลือกโรงพยาบาล ไม่ง่ายเช่นเดียวกัน เพราะมีหลายปัจจัยที่ต้องนำมาวิ เคราะห์ร่วมกัน ได้แก่ ความรุนแรงของโรค, ระบบการรักษา, สิทธิ์การรักษา, และความพร้อมด้านเศรษฐกิจ/ความเต็มใจในการเลือกสถานพยาบาลของผู้ป่วยและครอบครัว
- ความรุนแรงของโรค ถ้าอาการรุนแรง ไม่แนะนำให้พบแพทย์ที่คลินิก เพราะความพร้อมด้านการรักษาพยาบาลนั้น คลินิกเหมาะสำหรับอาการหรือโรคที่ไม่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล
- ระบบการรักษาโรคนั้น เช่น ระบบการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีการเปิดบริการระบบนี้เท่านั้น ดังนั้นก็ไม่สามารถรักษาที่คลินิก หรือโรงพยาบาลที่ไม่ได้เปิดบริการการรักษา อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ป่วยไม่ทราบว่าโรงพยาบาลไหนเปิดบริการรักษาโรคอะไรบ้าง ก็ให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านหรือใกล้ที่เกิดเหตุมากที่สุด ถ้าโรงพยาบาลนั้นไม่มีระบบการรักษาดังกล่าวตามมาตรฐาน ก็จะรีบส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ หรือเปิดให้บริการระบบการรักษานั้นๆ ดังนั้น เราควรทราบว่าโรงพยา บาลใกล้บ้านหรือในจังหวัดที่เราพักอาศัยนั้น เปิดบริการระบบการรักษาพิเศษอะไรบ้าง มีศักยภาพด้านใด เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม โดยเข้าไปศึกษาข้อมูลโรงพยาบาลต่างๆจากข้อมูลทางเว็บ ไซต์ของโรงพยาบาลนั้นๆไว้ล่วงหน้า
-
สิทธิ์การรักษาพยาบาล ปัจจุบันคนไทย 96% มีสิทธิการรักษาที่ครอบคลุมด้านการรักษาพยาบาล ประกอบด้วย
- สิทธิ์ข้าราชการ
- สิทธิ์ประกันสังคม
- สิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทองหรือสามสิบบาท)
ซึ่งทั้ง 3 สิทธิ์การรักษานั้น มีรายละเอียดที่แตกต่างกันเล็กน้อยในด้านแนวปฏิบัติ และในบางคนอาจมีสิทธิจากการประกันชีวิต หรือจากการซื้อประกันสุขภาพด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตามผมแนะนำให้การรักษานั้น ควรต้องปฏิบัติตามสิทธิ์การรักษา เพราะจะทำให้การรักษานั้นเป็นไปด้วยความสะดวก ราบรื่น และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ไม่สมควร
มาตรฐานการรักษาในแต่ละสิทธิ์การรักษาแทบไม่มีความแตกต่างกัน เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ และมีการตรวจประเมินคุณภาพ ควบคุมมาตรฐาน ดังนั้นเราต้องมีความมั่นใจในระบบรักษาพยาบาลของประเทศ
- ความพร้อมด้านเศรษฐกิจและความพึงพอใจ ถ้าผู้ป่วย ญาติ ครอบครัวมีความพร้อม และต้องการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเอกชน ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆก็สามารถทำได้
อย่างไรก็ตามผมแนะนำให้สอบถามค่าใช้จ่ายในการรักษาก่อนการตัดสินใจ มิฉะนั้นอาจจะนำมาซึ่งปัญหาค่าใช้จ่ายได้
ความเร่งด่วนของการรักษาประเมินอย่างไร?
ความเร่งด่วนของการรักษาหรือของอาการ ประเมินจากสัญญาณชีพ (คือ อุณหภูมิของร่าง กาย ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ) และความรู้สึกตัวของผู้ป่วย
ถ้าผู้ป่วยซึม ไม่รู้สึกตัว และ/หรือ สัญญาณชีพผิดปกติ โดยเฉพาะการหายใจช้าหรือเร็วผิด ปกติ ความดันโลหิตต่ำ (เช่น ดูซีด ตัวเย็น ชีพจรเต้นเร็วและเบา วิงเวียน เป็นลม) ถือเป็นภาวะเร่งด่วน
อาการผิดปกติบางอย่าง เช่น หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ท้องเสียอย่างแรง เลือด ออกทางเดินอาหาร อุบัติเหตุรุนแรง และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้คือภาวะเร่งด่วน ต้องรีบพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉิน/ไปโรงพยาบาลทันที
กรณีมีอาการผิดปกติแต่รักษาแล้วไม่ดีขึ้น ควรเปลี่ยนแพทย์หรือโรงพยาบาลหรือไม่?
กรณีการรักษาที่ไม่ดีขึ้น ผมแนะนำให้พบแพทย์ท่านเดิม เพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบว่าอาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะได้ทราบและปรับการรักษาให้ใหม่ หรือหาสาเหตุของการรักษาว่าทำไมไม่ได้ผล ซึ่งถ้าแพทย์ไม่สามารถรักษาได้ แพทย์ก็จะส่งต่อข้อมูลที่ได้ตรวจรักษาไปแล้ว และแนะนำพบแพทย์ท่านใหม่/โรงพยาบาลที่มีศักยภาพทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
แต่กรณีผู้ป่วย/ครอบครัวต้องการเปลี่ยนแพทย์ใหม่ ก็ควรขอประวัติการรักษาจากแพทย์ท่านนั้นก่อน เพื่อให้แพทย์ท่านใหม่ได้ทราบข้อมูลการวินิจฉัยโรค และการตรวจ การรักษาที่ได้รับมาก่อนหน้านี้ เพื่อแพทย์ท่านใหม่จะได้ให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์โดยไม่มีข้อมูลการรักษาที่เคยได้รับมาก่อน
การพบแพทย์ต้องเตรียมอะไรบ้าง?
การพบแพทย์ในครั้งแรก มีสิ่งที่ควรเตรียมหลายอย่าง ที่สำคัญ เช่น ควรเตรียมเอกสารการรักษาที่เคยได้รับมาก่อน ยาที่เคยทาน ประวัติโรคประจำตัวที่รักษาอยู่ เอกสารสิทธิ์การรักษา จดหมายส่งตัว พร้อมญาติที่ทราบประวัติการเจ็บป่วย
การพบแพทย์ในการติดตามผลการรักษาในโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง ก็เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เราควรต้องเตรียมจดข้อสงสัยต่างๆที่ต้องการถาม ทั้งรายละเอียดของโรคและการรักษา การปฏิบัติตัว ยาต่างๆที่กินอยู่ว่า มียาอะไรบ้าง แต่ละชนิดเหลือเท่าไร กินยาอะไรมีผลข้างเคียง/หรืออาการผิดปกติไหม รวมทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อไว้ถามแพทย์ได้อย่างครบถ้วนและรวดเร็ว
อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดในเรื่องของการพบแพทย์ได้ในบทความเรื่อง การพบแพทย์: วิธีเตรียมตัว
สรุป
การพบแพทย์ด้วยความพร้อม เหมาะสม ถูกเวลา ถูกสถานที่ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรักษาโรคได้หายสูงขึ้น นอกเหนือไปจาก ชนิดของโรค ธรรมชาติของโรค อายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย