เมื่อวิกฤตวัยกลางคนมาเยือน (ตอนที่ 2 และตอนจบ)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 14 มกราคม 2562
- Tweet
เนื่องจากวิกฤตวัยกลางคนไม่ได้เป็นโรค (Disease) ดังนั้นอาการที่เกิดขึ้นอาจไม่เหมือนกันทุกคน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวของความวิตกกังวล ความเครียด ความแก่ หรือ ความตาย เช่น
- มีความรู้สึกลึกๆ ว่า ยังไม่บรรลุเป้าหมายในชีวิต
- รู้สึกอายเพื่อนร่วมงานที่ประสบความสำเร็จมากกว่าหรืออิจฉาเด็กรุ่นใหม่ที่ไฟแรงกว่า
- ไม่อยากแก่ อยากดูอ่อนเยาว์อยู่เสมอ พยายามทำสิ่งที่ตรงข้ามกับรูปลักษณ์ เช่น บางคนอาจแต่งตัวให้ดูเด็กลง ออกกำลังกาย กินอาหาร ใช้เครื่องสำอาง เพื่อต่อต้านความแก่
- อยากอยู่คนเดียวมากขึ้นหรืออยู่กับเพื่อนเพียงไม่กี่คน
- ไม่พอใจในความสัมพันธ์ เช่น บางคนอยากเปลี่ยนคู่ครอง หรือไม่สนใจเรื่องเพศไปเลย
- เบื่อหน่าย สับสน เสียใจ หดหู่ อ้างว้าง หรือโกรธง่าย เพราะไม่พอใจในคู่ครอง การงาน สุขภาพ การเงิน หรือสถานะทางสังคม
ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเผชิญวิกฤตวัยกลางคนเหมือนกัน แต่อาจจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป โดยผู้ชายอาจจะหันไปสนใจของฟุ่มเฟือย เช่น รถสปอร์ตจากต่างประเทศ การหาผู้หญิงวัยเด็กกว่าเพื่อเพิ่มความกระชุ่มกระชวย ส่วนผู้หญิงมักเป็นเรื่องของบทบาทตัวเองที่เปลี่ยนไป เช่น บทบาทความเป็นแม่ที่ลดลงเนื่องจากลูกโตแล้ว การกลัวสามีไปมีภรรยาใหม่ที่เด็กกว่า เป็นต้น
สำหรับคนบางคนอาจพบภาวะวิกฤตวัยกลางคนเพียง 2-3 สัปดาห์ ในขณะที่คนอื่นอาจใช้เวลาเป็นปีในการก้าวพ้นวิกฤตวัยกลางคน แต่สำหรับ Jim Conway บาทหลวงและที่ปรึกษาซึ่งได้เขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับวิกฤตวัยกลางคน ได้กล่าวว่า โดยปกติวิกฤตวัยกลางคนจะกินเวลา 2-7 ปี และแบ่งออกได้เป็น 6 ระยะ คือ
1. ปฏิเสธ (Denial) – เป็นช่วงเริ่มต้นของวิกฤตวัยกลางคน โดยคนมีความพยายามที่จะสู้หรือปฏิเสธความแก่
2. โกรธโมโห (Anger) – ในระยะนี้จะรู้สึกคับข้องใจเกี่ยวกับวัยกลางคน หรือการไม่สามารถจัดการกับอะไรบางอย่างได้
3. ย้อนวัย (Replay) – บางคนพยายามกระชากวัยด้วยการทำศัลยกรรม หาคู่สัมพันธ์ใหม่ หรือหนีความรับผิดชอบ
4. หดหู่ซึมเศร้า (Depression) – เมื่อไม่สามารถย้อนวัยได้ อาจเกิดภาวะหดหู่ซึมเศร้าและวิตกกังวล
5. แยกตัว (Withdrawal) – บางคนอาจแยกตัวจากคนที่รัก
6. ยอมรับ (Acceptance) – ในที่สุดก็ต้องยอมรับว่าตัวเองแก่ และเริ่มมองหาความหมายใหม่ในชีวิต
อนึ่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 วิกฤตวัยกลางคนมีส่วนในการทำให้มีอัตราการหย่าร้างที่สูงขึ้นเป็น 2 เท่า ในผู้ที่อายุ 50 ปี ขึ้นไปโดยมีเหตุผลหลายอย่าง เช่น
- ความอยากมีชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น ด้วยการอยู่คนเดียวหรือเปลี่ยนคู่ครองคนใหม่
- ตำหนิคู่ครองว่าไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง
- ไม่มีลูกด้วยกัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ด้วยกัน
- คู่ครองไม่มีความน่าสนใจอีกต่อไป
แหล่งข้อมูล:
- Midlife Crisis. https://www.goodtherapy.org/learn-about-therapy/issues/midlife-crisis [2018, January 12].
- Midlife Crisis: Transition or Depression? https://www.webmd.com/depression/features/midlife-crisis-opportunity#1 [2018, January 12].
- Midlife crisis. https://en.wikipedia.org/wiki/Midlife_crisis [2018, January 12].