เมื่อลูกน้อยท้องเสีย (ตอนที่ 2)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 14 มิถุนายน 2562
- Tweet
นอกจากนี้ ยาระบาย (Laxatives) ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) อาการแพ้น้ำตาลแล็กโทส (Lactose intolerance) แพ้อาหาร (Food allergies) และโรคเกี่ยวกับลำไส้อย่างโรคไอบีเอสหรือโรคลําไส้แปรปรวน (Irritable bowel disease = IBS) โรคโครห์น (Crohn's disease) และ โรคเซลิแอค (Celiac disease) ก็อาจเป็นสาเหตุของอาการท้องเสียในเด็กได้เช่นกัน
อาการท้องเสียสามารถทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ซึ่งเป็นภาวะที่พบบ่อยในเด็กที่ท้องเสีย ทั้งนี้ ภาวะขาดน้ำเป็นภาวะที่อันตรายมากสำหรับทารกและเด็ก เพราะสามารถทำให้เด็กชัก สมองถูกทำลาย หรือแม้แต่เสียชีวิตได้ โดยภาวะขาดน้ำจะทำให้เด็กมีอาการดังต่อไปนี้
- ปัสสาวะน้อยลง (ในทารกมีการเปลี่ยนผ้าอ้อมน้อยกว่า 4 ผืน ใน 24 ชั่วโมง หรือในเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยจะมีการเปลี่ยนผ้าอ้อมน้อยกว่า 3 ผืน ใน 24 ชั่วโมง)
- หิวน้ำมาก
- ร้องไห้ไม่มีน้ำตา
- ผิว ปาก ลิ้น แห้ง
- หัวใจเต้นเร็ว
- ตาลึกโบ๋
- ผิวสีเทา
- กระหม่อมบุ๋ม
- ไม่มีแรง
ดังนั้น เด็กจำเป็นต้องได้รับปริมาณของเหลวที่เหมาะสมเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ โดย
- กรณีที่ยังกินนมแม่อยู่ ให้กินนมแม่เท่าที่เด็กอยากกิน
- กรณีที่ให้กินอาหารตามสูตร ให้กินต่อไปตามปกติ
- หากเด็กไม่ได้กินนมแม่หรืออาหารตามสูตร ให้เด็กดื่มของเหลวให้มากกว่าปกติ
- หากเด็กไม่ยอมกินของเหลว ให้กินผงละลายเกลือแร่
[ผงละลายเกลือแร่ (Oral rehydration solution = ORS) คือ ส่วนผสมของน้ำ เกลือ และน้ำตาล ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งสามารถดูดซึมได้เมื่อเด็กมีอาการท้องเสียหรืออาเจียน
โดยควรให้เด็กกินในปริมาณดังนี้
สำหรับอาการท้องเสียใน 4 ชั่วโมงแรก (กรณีท้องเสียอย่างอ่อน)
เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน | ให้ปริมาณ 30 - 90 มล. ทุกชั่วโมง |
เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี | ให้ปริมาณ 90 - 125 มล. ทุกชั่วโมง |
เด็กอายุมากกว่า 2 ปี | ให้ปริมาณอย่างน้อย 125 - 250 มล. ทุกชั่วโมง |
แหล่งข้อมูล:
- Dehydration and diarrhea in children: Prevention and treatment. https://www.caringforkids.cps.ca/handouts/dehydration_and_diarrhea [2019, Jun 12].
- Diarrhea in Children: Causes and Treatments. https://www.webmd.com/children/guide/diarrhea-treatment#1 [2019, Jun 12].
- Diarrhea. https://kidshealth.org/en/parents/diarrhea.html [2019, Jun 12].