เมื่อขาอยู่ไม่สุข (ตอนที่ 2)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 20 ธันวาคม 2561
- Tweet
กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขสามารถเกิดได้ในทุกช่วงอายุแม้จะเป็นเด็ก และอาการมักจะเป็นมากขึ้นไปตามอายุ โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเป็นโรคนี้ แต่นักวิจัยสงสัยว่าอาจจะมีสาเหตุมาจากสารเคมีโดพามีนในสมองไม่เท่ากัน หรือเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยเฉพาะในรายที่เริ่มเป็นก่อนอายุ 40 ปี
ส่วนปัจจัยร่วมอื่นๆ ที่ทำให้อาการแย่ลง ได้แก่
- ปลายประสาทอักเสบ/ปลายประสาทเสื่อม (Peripheral neuropathy) ซึ่งบางครั้งมีสาเหตุมาจากโรคเรื้อรังอย่างโรคเบาหวานและโรคพิษสุราเรื้อรัง จนทำลายประสาทที่มือและเท้า
- ขาดธาตุเหล็ก ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการที่มีเลือดออกในช่องท้อง ประจำเดือนมามาก และอื่นๆ
- ไตวาย ซึ่งอาจส่งผลให้ขาดธาตุเหล็ก มักเกิดร่วมกับภาวะโลหิตจาง (Anemia) เพราะไตทำงานได้ไม่ดี ธาตุเหล็กที่สะสมในเลือดลดลง
- มีความผิดปกติที่กระดูกไขสันหลัง เช่น การวางยาสลบด้วยการบล็อคหลัง (Spinal block)
- ยาบางชนิด เช่น ยาแก้อาเจียน ยารักษาโรคจิต ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาแก้หวัดและยาแก้แพ้ ที่มีส่วนผสมของยากลุ่ม Sedating antihistamines
- ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายก่อนคลอด ซึ่งอาการมักจะหายไปภายใน 1 เดือนหลังคลอด
แพทย์สามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ด้วยการสอบถามประวัติสุขภาพและอาการ โดยมีเกณฑ์พิจารณาดังนี้
- ผู้ป่วยมีอาการเคลื่อนไหวของขาโดยหยุดไม่ได้ ซึ่งมักจะเกิดร่วมกับการเป็นตะคริว เป็นเหน็บ
- อาการจะแย่ลงเมื่อมีการพัก เช่น นั่งหรือนอนลง
- อาการจะบรรเทาลงเมื่อมีการทำกิจกรรม เช่น เดินหรือยืดขา
- อาการจะแย่ลงในตอนกลางคืน
นอกจากนี้แพทย์อาจให้ทำการตรวจระบบประสาทและร่างกาย เช่น ตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีภาวะขาดธาตุเหล็กหรือไม่ และอาจให้ไปพบกับผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ
สำหรับการรักษาส่วนใหญ่เป็นการให้ยาเพื่อบรรเทาหรือลดอาการขาอยู่ไม่สุขเท่านั้น แต่ไม่อาจใช้รักษาได้ ซึ่งมักจะประกอบด้วย
- ยาที่เพิ่มโดพามีนในสมอง เช่น ยา Ropinirole ยา Rotigotine และ ยา Pramipexole ซึ่งได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ให้ใช้ในการรักษากลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขในระดับปานกลางจนถึงระดับรุนแรง
อย่างไรก็ดี ยาเหล่านี้มักจะมีผลข้างเคียงระยะสั้น กล่าวคือ มีอาการ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดกลุ่มความผิดปกติของการควบคุมตนเอง (Impulse control disorders) เช่น การติดพนัน (Compulsive gambling) และง่วงนอนในช่วงเวลากลางวัน (Daytime sleepiness)
แหล่งข้อมูล:
- Restless legs syndrome. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/restless-legs-syndrome/symptoms-causes/syc-20377168 [2018, December 18].
- Restless Legs Syndrome. https://www.webmd.com/brain/restless-legs-syndrome/restless-legs-syndrome-rls#1 [2018, December 18]. .