เมอโรเพเนม (Meropenem)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 พฤษภาคม 2564
- Tweet
- บทนำ : คือยาอะไร?
- เมอโรเพเนมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- เมอโรเพเนมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เมอโรเพเนมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เมอโรเพเนมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- เมอโรเพเนมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เมอโรเพเนมอย่างไร?
- เมอโรเพเนมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเมอโรเพเนมอย่างไร?
- เมอโรเพเนมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- แบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือ เยื้อหุ้มสมองอักเสบเหตุเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial meningitis)
- เบต้า-แลคแทม (Beta-Lactam antibiotic)
- เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
บทนำ : คือยาอะไร?
ยาเมอโรเพเนม (Meropenem) คือ ยาปฏิชีวนะในหมวดยา คาร์บาเพเนม(Carbapenem) และมีโครงสร้างทางเคมีที่เรียกว่า เบต้า-แลคแตม (Beta lactam) คุณสมบัติที่โดดเด่นของยานี้จะเป็นเรื่องการซึมผ่านเข้าสู่เนื้อเยื่อและของเหลวในร่างกายได้มาก เช่น ผ่านเข้าในน้ำหล่อเลี้ยงไขสันหลัง, ซึมเข้าได้ดีใน น้ำดี, ลิ้นหัวใจ, ปอด, และในส่วนของของเหลวในช่องท้อง
ฤทธิ์การรักษาของยาเมอโรเพเนมจะครอบคลุมแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวกและแกรมลบรวมเชื้อ Pseudomonas นอกจากนี้ยังสามารถต่อต้านเชื้อแบคทีเรียจำพวกแอนแอโรบิค (Anaerobic bacteria, แบคทีเรียที่ไม่จำเป็นต้องใช้ออกซิเจนในการดำรงชีวิต) อีกด้วย
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาเมอโรเพเนม เป็นลักษณะของยาฉีด ซึ่งเมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือด ยาประมาณ 2% จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีน ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ประมาณ 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะ
ยาเมอโรเพเนม มีโครงสร้างทางเคมีที่ทนต่อการทำลายจากเอนไซม์ของแบคทีเรียบางจำ พวกที่มีชื่อว่า Beta-lactamases หรือ Cephalosporinase จากคุณสมบัตินี้ ทางคลินิกสามารถใช้ยาเมอโรเพเนมเพื่อรักษาโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียในลักษณะของยาเดี่ยวๆได้ ซึ่งไม่เหมือนกับยาในกลุ่มเดียวกันอย่างเช่น Imipenem ซึ่งต้องใช้ควบคู่ไปกับสาร Cilastatin
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาเมอโรเพเนมลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และระบุวัตถุประสงค์ของการใช้ยานี้เพื่อรักษาโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลที่เกิดจากแบคทีเรียรูปแท่ง ชนิดแกรมลบที่ดื้อต่อยาหลายชนิด
เราสามารถพบเห็นการใช้ยาเมอโรเพเนม ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน การจะเลือกใช้ยานี้ต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
เมอโรเพเนมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเมอโรเพเนมมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาอาการป่วยจากเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยานี้ เช่น
- รักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (แบคทีเรียเยื่อหุ้มสมองอักเสบ)
- รักษาอาการป่วยติดเชื้อจากโรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis:โรคทางพันธุกรรมที่พบน้อยมากที่มักมีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ปอดร่วมด้วย)
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง(ผิวหนังติดเชื้อ)
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องท้อง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เยื่อบุช่องท้องอักเสบ)
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่เท้าของผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor. com บทความเรื่อง การดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน)
เมอโรเพเนมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเมอโรเพเนมคือ ตัวยาจะเข้ายับยั้งการสังเคราะห์สาร Peptidoglycan ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของผนังเซลล์(เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ)ในตัวแบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด
เมอโรเพเนมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเมอโรเพเนมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาฉีดชนิดผง (ละลายในสารละลายก่อนฉีด) ขนาดบรรจุ 0.5 และ 1 กรัม/ขวด
เมอโรเพเนมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเมอโรเพเนม มีขนาดการบริหารยา/การใช้ยาสำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยาเมอโรเพเนม เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ 0.5 - 1 กรัมทุกๆ 8 ชั่วโมง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)แรกเกิดที่อายุน้อยกว่า 7 วัน: ให้ยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุกๆ 12 ชั่วโมง หากติดเชื้อรุนแรงอาจเพิ่มขนาดยาเป็น 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 12 ชั่วโมง
- เด็กทารกอายุ 7 - 28 วัน: ให้ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก ๆ 8 ชั่วโมง หากติดเชื้อรุนแรงอาจเพิ่มขนาดยาเป็น 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุกๆ 8 ชั่วโมง
- เด็กที่อายุ 1 - 3 เดือน: ให้ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุกๆ 8 ชั่วโมง
- เด็กที่อายุมากกว่า 3 เดือนขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กิโลกรัม: ให้ยาทางหลอดเลือดดำ 10 - 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุกๆ 8 ชั่วโมง
- เด็กอายุมากกว่า 3 เดือนและมีน้ำหนักตัวมากกว่า 50 กิโลกรัม: ให้ยาในขนาดผู้ใหญ่
*****หมายเหตุ:
- สำหรับผู้ป่วยที่ต้องฟอกเลือดด้วยเหตุจากโรคไต (การล้างไต) จะต้องให้ยาผู้ป่วยหลังจากทำการฟอกเลือดแล้ว
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ผู้รักษาหรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเมอโรเพเนม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก / หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมอโรเพเนมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
เมอโรเพเนมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเมอโรเพเนม สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ท้องเสีย หรือ ท้องผูก
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดท้อง
- ปวดหัว
- มีผื่นคัน หรือ ลมพิษขึ้นตามผิวหนัง
- ปวด บวม ในบริเวณที่มีการฉีดยา
- อาจเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
- ส่งผลต่อสมองทำให้มีอาการชัก
- ก่อให้เกิดผลเสียกับไต
- ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการ
- แพ้ยา
- ลำไส้อักเสบ
- รวมไปถึงเกิดอาการของ Stevens-Johnson syndrome
มีข้อควรระวังการใช้เมอโรเพเนมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเมอโรเพเนม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่ม Carbapenem, Penicillins, และยาปฏิชีวนะที่มีโครงสร้างของ เบต้า-แลคแตม (Beta lactam) เป็นองค์ประกอบหลัก
- ระวังการใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต
- ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมอโรเพเนมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เมอโรเพเนมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเมอโรเพเนมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเมอโรเพเนม ร่วมกับยา Probenecid จะทำให้ระดับของยาเมอโรเพเนมในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลต่อฤทธิ์ของการรักษา รวมไปถึงผลข้างเคียงที่อาจติดตามมาด้วยการใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกันจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- การใช้ยาเมอโรเพเนม ร่วมกับยา Bupropion, Tramadol อาจทำให้เกิดเกิดอาการชัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้กับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชักอยู่แล้ว หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาเมอโรเพเนม ร่วมกับ ยากันชักเช่นยา Valproic acid สามารถทำให้ความเข้มข้นของยารักษาโรคลมชักในกระแสเลือดลดต่ำลงและส่งผลต่อฤทธิ์ของการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยาเมอโรเพเนม ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิดอาจส่งผลลดประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดและ เสี่ยงต่อภาวะตั้งครรภ์ จึงควรแนะนำให้ผู้ป่วยใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
ควรเก็บรักษาเมอโรเพเนมอย่างไร?
ควรเก็บยาเมอโรเพเนม:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง
เมอโรเพเนมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเมอโรเพเนม มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bestinem (เบสติเนม) | Ranbaxy |
Enem (อีเนม) | MacroPhar |
Mapenem (มาเพเนม) | Siam Bheasach |
Meronem (เมอโรเนม) | AstraZeneca |
Mero (เมอโร) | T.Man Pharma |
Monem (โมเนม) | Biolab |
Nemmed (เนมเมด) | Millimed |
Penem (เพเนม) | M & H Manufacturing |
Romenem (โรเมเนม) | L. B. S. |
Zaxter (แซ็กเตอร์) | Alkem |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Meropenem [2021,May22]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/meropenem?mtype=generic [2021,May22]
- https://www.drugs.com/mtm/meropenem.html [2021,May22]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/meropenem-index.html?filter=3&generic_only= [2021,May22]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=meropenem [2021,May22]