เมสนา (Mesna)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมสนา(Mesna) เป็นยาที่ใช้ลดอาการพิษหรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาเคมีบำบัด อย่างเช่น Ifosfamide หรือ Cyclophosphamide ในผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่างๆ โดยยาเมสนาจะช่วยป้องกันภาวะอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ(กระเพาะปัสสาวะอักเสบ)ชนิดซึ่งทำให้มีเลือดออกปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด(Hemorrhagic cystitis) ยาเมสนามีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นทั้งยาฉีดและยารับประทาน ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 24-72 นาทีเพื่อขับยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ

ทั่วไป แพทย์จะให้ยาเมสนากับผู้ป่วยหลังจากได้รับยาเคมีบำบัด การคำนวณปริมาณ/ขนาดยาเมสนาจะขึ้นกับขนาดยาเคมีบำบัดที่ผู้ป่วยได้รับ ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น พื้นที่ผิวของร่างกาย อายุ ตลอดจนกระทั่งประวัติการแพ้ยาของตัวผู้ป่วยเอง สำหรับยาเมสนาแบบรับประทานอาจทำให้ผู้ป่วยอาเจียนได้ทั้งนี้เป็นที่รสชาติของตัวยาที่ไม่ค่อยดีเท่าใดนัก ทางคลินิกจึงแนะนำให้รับประทานยานี้พร้อมกับ น้ำผลไม้ นม หรือ น้ำอัดลม เพื่อกลบเกลื่อนรสชาติของตัวยานี้

ระหว่างที่ได้รับยาเมสนา หากพบเห็นอาการเหล่านี้ต้องรีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล ทันทีเพื่อได้รับการรักษาโดยเร็ว

  • หายใจไม่ออก/ หายใจลำบาก มีเสียงวี๊ดขณะหายใจ ใบหน้าบวม หรือเกิดผื่นคัน ขึ้นเต็มตัว
  • คลื่นไส้ทุกครั้งที่รับประทานอาหาร และการใช้ยาลดอาการคลื่นไส้ที่แพทย์สั่งจ่ายมาให้ใช้ไม่ได้ผล
  • อาเจียนมากกว่า 4–5 ครั้ง/วัน
  • ท้องเสีย 4–6 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง
  • มีเลือดปนมากับปัสสาวะ หรือปวดขณะขับปัสสาวะ

อนึ่ง องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ยาเมสนาเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับสถานพยาบาลควรมีสำรองไว้รักษาผู้ป่วยที่ได้รับผลข้างเคียงจากยารักษามะเร็งในกลุ่ม Alkylating agent ซึ่งคณะกรรมการอาหารและยาของไทยก็ได้บรรจุให้ยาเมสนาอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยอยู่ในหมวดของยาอันตราย และมีเงื่อนไขการใช้เฉพาะกับผู้ป่วยที่ได้รับยา Ifosfamide หรือ Cyclophosphamide ขนาดสูง(มากกว่า 1.5 g/m2) เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกในกระเพาะปัสสาวะ

ทั้งนี้ การรักษาด้วยยาเมสนาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล ผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือกับ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร โดยรับการให้ยาเมสนาตามที่แพทย์กำหนด และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด

เมสนามีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เมสนา

ยาเมสนามีสรรพคุณที่ไม่ใช่ยารักษาโรคมะเร็ง แต่เป็นยาป้องกัน-บำบัดอาการปัสสาวะมีเลือดปน/กระเพาะปัสสาวะอักเสบชนิดปัสสาวะเป็นเลือดที่เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา Ifosfamide หรือ Cyclophosphamide

เมสนากลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเมสนามีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยานี้ที่อยู่ในกระแสเลือดจะเปลี่ยนเป็นสารที่ไม่สามารถออกฤทธิ์ เมื่อการลำเลียงยาเมสนาไปถึงไต ตัวยานี้จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างกลับมาเป็นสารออกฤทธิ์อีกครั้งหนึ่ง (Reactived) จากนั้นตัวยาเมสนาจะเข้ารบกวนสารเมตาบอไลท์(Metabolite)ของยา Ifosfamide และ Cyclophosphamide ที่มีชื่อเรียกว่า Acrolein สารชนิดนี้เป็นอันตรายต่อผนังภายในกระเพาะปัสสาวะโดยก่อให้เกิดการอักเสบและเกิดเลือดออกตามมา การเข้ารวมตัวของยาเมสนากับ Acrolein ส่งผลให้ Acrolein หมดสภาพของความเป็นพิษต่อกระเพาะปัสสาวะ ด้วยกลไกดังกล่าวจึงก่อให้เกิดผลการรักษาได้ตามสรรพคุณ

เมสนามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมสนามีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ที่ประกอบด้วยตัวยา Mesna ขนาด 400 มิลลิกรัม/4 มิลลิลิตร
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Mesna ขนาด 400 มิลลิกรัม/เม็ด

เมสนามีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเมสนามีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: ขนาดการใช้ยาเมสนา แพทย์จะคำนวณเทียบกับขนาดยารักษามะเร็งที่ผู้ป่วยได้รับ โดยทั่วไป การให้ยาเมสนาจะให้แบบฉีด โดยจะฉีดเข้าหลอดเลือดดำ 3 ครั้งที่ 0,2,6 ชั่วโมงหลังเริ่มยาเคมีบำบัด หรือให้ยาฉีด 1 ครั้ง แล้วตามด้วยแบบรับประทาน 2 ครั้ง
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยของยานี้ที่เพียงพอที่รวมถึงขนาดยานี้ในเด็กด้วย

*****หมายเหตุ:

  • การให้ยาเมสนาแบบฉีดจะต้องเจือจางตัวยาด้วยสารละลาย 0.9% Sodium chloride หรือ 5% Dextrose หรือ Lactated ringer’s solution
  • การใช้ยาเมสนาแบบรับประทาน มักจะรับประทานร่วมกับ น้ำหวาน นม น้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้ เพื่อกลบรสชาติที่ไม่ดีของตัวยา และสามารถรับประทานยานี้ ก่อนหรือพร้อมอาหาร ก็ได้

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเมสนา ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมสนาอาจส่งผล ให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้ อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

เมสนามีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมสนาสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ด้วยรสชาติของยาไม่ดี อาเจียน มีอาการท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก เบื่ออาหาร
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ง่วงนอน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน มีไข้
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึม รู้สึกสับสน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะผมร่วง ผด ผื่นคัน ลมพิษ เจ็บบริเวณที่ฉีดยา
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง ระดับเกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก มือ-เท้าบวม หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำหรืออาจมีความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ปวดข้อ
  • ผลต่อตา: เช่น เยื่อตาอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด ไอ มีอาการปอดบวม เยื่อจมูกอักเสบ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น แคลเซียมในเลือดต่ำ

มีข้อควรระวังการใช้เมสนาอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมสนา เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
  • หลังการได้รับยานี้ หากมีอาการข้างเคียงอย่างเช่น คลื่นไส้ อาเจียน ให้รับประทานอาหารในปริมาณน้อยๆต่อมื้อแต่เพิ่มการรับประทานบ่อยครั้งขึ้น
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ขณะได้รับยานี้
  • พักผ่อนอย่างเต็มที่เพื่อให้ร่างกายฟื้นสภาพอย่างรวดเร็ว
  • ดื่มน้ำวันละ 2–3 ลิตรต่อวัน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำของร่างกาย
  • มาโรงพยาบาล/มาพบแพทย์ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเมสนาด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เมสนามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมสนามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเมสนาร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่าง Anisindione , Warfarin, Dicumarol จะทำให้ประสิทธิภาพของยาต้านการแข็งตัวของเลือดด้อยลงไป ส่งผลให้เกิดการจับตัวของเกล็ดเลือดเป็นลิ่มเลือดในหลอดเลือดจนก่อให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดส่งผลให้เกิดอาการ แน่นหน้าอก สูญเสียการมองเห็น ปวดตามแขน-ขา หากจำเป็นต้องใช้ยา แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาเมสนาอย่างไร?

ควรเก็บยาเมสนารูปแบบรับประทานในช่วงอุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาเมสนาแบบฉีดในช่วงอุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส และห้ามเก็บยาทั้ง2รูปแบบในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาทั้ง2ชนิดในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

เมสนามีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมสนา มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Mesnex (เมสเนกซ์)Sanofi Baxter Healthcare
Uromitexan (ยูโรมิเท็กแซน)Baxter Healthcare
Uroprot (ยูโรพรอท)Lemery

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Mistabron, Uromes

บรรณานุกรม

  1. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/Mesna.aspx [2018,April28]
  2. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/nda/2002/20-855_Mesnex_Prntlbl.pdf [2018,April28]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/mesna/?type=brief&mtype=generic [2018,April28]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=mesna [2018,April28]
  5. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/16#item-9125 [2018,April28]
  6. https://www.drugs.com/mtm/mesna-oral-injection.html [2018,April28]