เมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์ (Melatonin receptor agonists)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์(Melatonin receptor agonists)เป็นกลุ่มยาสังเคราะห์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยเลียนแบบฮอร์โมนชนิดหนึ่งในร่างกายที่มีชื่อว่า เมลาโทนิน (Melatonin) ฮอร์โมนนี้ถูกผลิตจากต่อมไพเนียล(Pineal gland) ในสมอง หน้าที่ประการหนึ่งของฮอร์โมนเมลาโทนิน คือ เป็นตัวช่วยควบคุมการนอนหลับ นักวิชาการบางคนกล่าวว่า เมลาโทนินเป็นเสมือนนาฬิกาของร่างกาย(นาฬิกาชีวภาพ) ฮอร์โมนนี้จะถูกหลั่งออกมาเป็นปริมาณมากเมื่อเวลาเย็นหรือช่วงที่พระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว มีฤทธิ์ทำให้อยากนอนหลับ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น กลไกนาฬิกาของร่างกายจะปรับให้ฮอร์โมนเมลาโทนินลดต่ำลงทำให้รู้สึกตัวและตื่นขึ้นมา ดังนั้นยา กลุ่มเมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์ จึงเป็นยาที่นำมาบำบัดอาการนอนไม่หลับรวมถึงอาการซึมเศร้า

อาจจำแนกยาเมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์ออกเป็นรายการย่อยได้ดังนี้

1. Melatonin: ใช้บำบัดอาการนอนไม่หลับในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป การ รับประทานยาเพียง 2 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนนอน 1 – 2 ชั่วโมงเป็นเวลา ต่อเนื่อง 13 สัปดาห์ขึ้นไปหรือตามแพทย์สั่ง ในประเทศไทยจะพบเห็นการจำหน่ายยา Melatonin ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Circadin”

2. Ramelteon: ใช้บำบัดอาการนอนไม่หลับเหมือนยา Melatonin อาจไม่พบเห็นการใช้ในประเทศไทย แต่มีจำหน่ายในต่างประเทศภายใต้ชื่อการค้าว่า “Rozerem” มีขนาดรับประทานที่ 8 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง ก่อนนอนประมาณ 30 นาที ยา Ramelteon มีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคตับ และห้ามใช้ยาเกิน 8 มิลลิกรัม/วัน

3. Agomelatine: ใช้บำบัดอาการซึมเศร้า มีจำหน่ายในประเทศไทยภายใต้ชื่อ การค้าว่า “Valdoxan” ขนาดรับประทานในผู้ใหญ่ครั้งละ 25 มิลลิกรัม ก่อนนอน เพื่อประสิทธิผลในการบำบัดอาการซึมเศร้า แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น ครั้งละ 50 มิลลิกรัม หลังจากใช้ยาขนาด 25 มิลลิกรัมไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ระยะเวลาการใช้ยานี้อย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป มีข้อห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ

4. Tasimelteon: มีฤทธิ์สงบประสาท นำมาใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ ขนาดรับประทานของผู้ใหญ่อยู่ที่ 20 มิลลิกรัม ก่อนนอน ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคตับ รวมถึงผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา ซึ่งพบเห็นการใช้ยา Tasimelteon ในต่างประเทศ ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Hetlioz”

นอกจากนี้ยังมียาเมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์ตัวอื่นๆที่อยู่ในช่วงวิจัยและพัฒนาเพื่อรอการนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้

โดยทั่วไป ยาเมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์ ถูกจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น และสามารถพบเห็นการใช้ยากลุ่มนี้ได้ตามสถานพยาบาล และมีจำหน่ายตามร้านขายยาตั้งแต่ขนาดกลางขึ้นไป

เมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เมลาโทนินรีเซ็บเตอร์อะโกนิสต์

ยาเมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้บำบัดอาการนอนไม่หลับ
  • ใช้บรรเทาอาการซึมเศร้า

เมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์ มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อตัวรับ(Receptor) ที่มีชื่อว่า Melatonin 1 receptor(MT1) และ Melatonin 2 receptor(MT2)ในสมอง โดยการออกฤทธิ์ที่ตัวรับดังกล่าว ส่งผลกระตุ้นให้เกิดการนอนหลับ รวมถึงช่วยบรรเทาภาวะซึมเศร้าอีกด้วย จากกลไกที่กล่าวมาทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

เมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ด หรือยาแคปซูล ชนิดรับประทาน

เมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์นี้ใช้กับผู้ใหญ่เท่านั้น ไม่ได้ถูกผลิตมาให้ใช้กับผู้ป่วยเด็ก ซึ่ง ขอยกตัวอย่างภาพรวมของขนาดรับประทานได้ดังนี้

  • ยา Melatonin (หรือยา Circadin): ผู้ใหญ่,รับประทาน 2 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนนอน
  • ยาRamelteon: ผู้ใหญ่, รับประทาน 8 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนนอน
  • ยาAgomelatine: ผู้ใหญ่, รับประทาน 25 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนนอน
  • ยาTasimelteon: ผู้ใหญ่, รับประทาน 20 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนนอน

อนึ่ง:

  • เด็ก: ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับเด็ก
  • ห้ามใช้ยาในกลุ่มนี้กับผู้ป่วยโรคตับ

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเมลาโทนินรีเซ็บเตอร์อะโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมลาโทนินรีเซ็บเตอร์อะโกนิสต์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเมลาโทนินรีเซ็บเตอร์อะโกนิสต์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาเมลาโทนินรีเซ็บเตอร์อะโกนิสต์ ตรงเวลา

เมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากลุ่มเมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น พฤติกรรมเปลี่ยน ก้าวร้าวขึ้น ประสาทหลอน วิตกกังวล ฝันประหลาด
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ เกิดไมเกรน
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องเสียหรือท้องผูก ปวดท้อง อาเจียน
  • ผลต่อตับ: เช่น เกิดดีซ่าน อาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบได้
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง

มีข้อควรระวังการใช้เมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็ก
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคตับ
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ร่วมกับยาบางตัว อย่างเช่นยา Fluvoxamine, Ciprofloxacin
  • ห้ามหยุดการใช้ยานี้ โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีประวัติป่วยด้วยอาการทางจิตประสาท อย่างไบโพล่าร์/Bipolar(โรคอารมณ์สองขั้ว) ผู้ที่เคยมีประวัติทำร้ายตนเอง
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยากลุ่มนี้กับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ที่แพ้น้ำตาลในนม อย่างเช่น กาแลคโตส(Galactose) หรือผู้ที่ร่างกายขาดเอนไซม์แลคเตส(Lactase)ที่ใช้ย่อยน้ำตาลในนม(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะขาดเอนไซม์แลคเตส)
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มเมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยา Melatonin และยา Ramelteon ร่วมกับยา Fluvoxamine ด้วยจะทำให้ ระดับยา Melatonin และ Ramelteon ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงตามมา
  • การใช้ยา Ramelteon ร่วมกับยา Propoxyphene อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการวิงเวียน ง่วงนอน สับสน ขาดสมาธิมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ Tasimelteon ร่วมกับยา Carbamazepine ด้วยจะทำให้ระดับยาTasimelteon ในกระแสเลือดลดต่ำลงจนทำให้ประสิทธิภาพการรักษาด้อยลงไป

ควรเก็บรักษาเมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์อย่างไร?

เก็บยาเมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์ภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด/แสงสว่าง ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมลาโทนิน รีเซ็บเตอร์ อะโกนิสต์ ที่จำหน่ายในประเทศไทยและในต่างประเทศ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Circadin (เซอร์เคดิน) Neurim
Rozerem (โรเซอเรม) Takeda
Hetlioz (เฮทลิออซ) FDC International Limited

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นๆของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Eternex, Zolsoma,Zytonin

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Melatonin_receptor_agonist [2016,Dec17]
  2. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4200764/ [2016,Dec17]
  3. http://www.spine-health.com/wellness/sleep/melatonin-receptor-agonists-rozerem-falling-asleep [2016,Dec17]
  4. https://sleep.org/articles/what-is-melatonin/ [2016,Dec17]
  5. https://www.drugs.com/cdi/ramelteon.html [2016,Dec17]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/info/circadin/?type=brief [2016,Dec17]
  7. http://www.mims.com/thailand/drug/info/valdoxan/?type=brief [2016,Dec17]