เมฟีโดรน (Mephedrone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยา/สารเมฟีโดรน(Mephedrone หรือ 4-methyl methcathinone ย่อว่า 4-MMC หรือ อีกชื่อคือ 4-methyl ephedrone) ตามกฎหมายของไทยจัดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 มีฤทธิ์ต่อสมอง โดยทำให้เกิดความรู้สึกสนุกสนาน มีภาวะเคลิ้มสบาย อาจกระตุ้นระดับของอารมณ์ทางเพศเล็กน้อย อาการที่เกิดขึ้นดังกล่าวจะคล้ายคลึงกับผู้ที่ได้รับสาร/ยา Cocaine, Amphetamine, และ/หรือ MDMA (Methylenedioxymethamphetamine)

สารเมฟีโดรนถูกเตรียมขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น แคปซูล, เม็ด และผง สำหรับรับประทาน การเสพสารเมฟีโดรนยังทำโดย การสูดดมเข้าจมูก สูบเหมือนบุหรี่ ฉีดเข้าร่างกาย หรือ เหน็บเข้าทางทวารหนัก วิธีรับประทานจะทำให้รู้สึกถึงฤทธิ์ของยาภายในประมาณ 15–45 นาที หากสูดดมเข้าจมูกจะรู้สึกถึงฤทธิ์ยาภายในไม่ถึงนาที ร่างกายจะกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตรวจสอบว่าผู้ใดมีการเสพสารเมฟีโดรนหรือไม่โดยนำปัสสาวะของผู้ต้องสงสัยมาทดสอบ การใช้สารเมฟีโดรนเพียงครั้งเดียวก็สามารถได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)และทำให้เสพติดได้แล้ว หรือการใช้ยา/สารนี้ในปริมาณมาก จะทำให้ผู้ป่วยได้รับพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)อย่างรุนแรงต่อร่างกายจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตตามมา

ผลข้างเคียงของการใช้เมฟีโดรนมีอะไรบ้าง?

เมฟีโดรน

สารเมฟีโดรนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อตา: เช่น รูม่านตาขยาย ตาพร่า
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ฟันมีการผุกร่อน เบื่ออาหาร
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ความจำแย่ลง เห็นภาพหลอน มีภาวะหลงผิด อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลง เกิดภาวะติดยา มีอาการชัก
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก มีเลือดกำเดา
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล มีอาการหวาดระแวง ซึม

การได้รับเมฟีโดรนเกินขนาดจะมีอาการอย่างไร?

ผู้ที่ได้รับสารเมฟีโดรนเกินขนาด จะเกิดพิษต่อระบบการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ(Sympathomimetic toxicity) โดยจะมีอาการชีพจรเต้นผิดปกติ ตาพร่า แน่นหน้าอก เหงื่อออกมากผิดปกติ เกิดภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ และโปแตสเซียมในเลือดต่ำ มีอาการโคม่า และอาจถึงขั้นเสียชีวิต การบำบัดรักษา แพทย์จะให้ใช้ยา Lorazepam ขนาด 1 มิลลิกรัมกับผู้ป่วย และดูแลรักษาตามอาการ(การรักษาประคับประคองตามอาการ)อย่างเหมาะสม

จะป้องกันการติดยาเมฟีโดรนได้อย่างไร?

ป้องกันการติดยา/สารเมฟีโดรนได้โดย

  • ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือในการ กระจายข่าว ข้อมูลของสารเมฟีโดรนในรูปแบบต่างๆ โดยกล่าวถึงข้อเสียและอันตรายที่จะเกิดขึ้นตามมาผ่านสื่อต่างๆ เช่น ทางเว็บไซด์ โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร
  • การตรวจตราพื้นที่ในชุมชนไม่ให้เป็นแหล่งจำหน่ายยาชนิดนี้อย่างเอาจริง และไม่ปล่อยปละละเลยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
  • ความรัก ความเข้าใจของสมาชิกในครอบครัว ไม่ใช้ความรุนแรงในการ สั่งสอนบุตรหลาน เน้นขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่ดีงามของประเทศ สร้างความภาคภูมิใจในตนเอง และสามารถวางสถานะในสังคมได้อย่างเหมาะสม
  • การให้ความรู้กับนักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษาโดยครอบคลุมทุกระดับเพื่อ เป็นภูมิต้านทานให้กับกลุ่มผู้ที่จะเป็นอนาคตของชาติ
  • รณรงค์ในสถานที่ทำงาน ช่วยต่อต้านการใช้สารเสพติดรวมถึงยากระตุ้นชนิดต่างๆ
  • สร้างความต่อเนื่องในข้อปฏิบัติที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ทำเพียงฉาบฉวยหรือ รณรงค์เพียงตามกระแสสังคม กระบวนการป้องกันต้องอาศัยการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งได้อย่างคงทนถาวร

เมฟีโดรนมีชื่ออื่นอีกไหม?

ยา/สารเมฟีโดรนถูกใช้เป็นยากระตุ้นความบันเทิง(Recreational drug) มีการจัดจำหน่ายแพร่กระจายในหลายประเทศและมีการขนานนามอยู่หลายชื่อ เช่น Bath salt, Drone, M-CAT, White Magic, และ Meow meow

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Mephedrone#Pharmacology[2017,Dec8]
  2. https://www.nap.edu/read/10021/chapter/9#209[2017,Dec8]