เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 สิงหาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- เมทแอมเฟตามีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เมทแอมเฟตามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เมทแอมเฟตามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เมทแอมเฟตามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เมทแอมเฟตามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เมทแอมเฟตามีนอย่างไร?
- เมทแอมเฟตามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเมทแอมเฟตามีนอย่างไร?
- เมทแอมเฟตามีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity disorder: ADHD)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)
- กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette syndrome)
- แอมเฟตามีน (Amphetamine)
บทนำ
ยาเมทแอมเฟตามีน(Methamphetamine หรือ Methamphetamine hydrochloride หรือ N-methylamphetamine) จัดเป็นยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางอย่างแรง หากใช้อย่างถูกต้อง สามารถทำให้ร่างกายรู้สึกกระตือรือร้น เมทแอมเฟตามีนถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ.1893 (พ.ศ.2436) ทางคลินิกได้นำยามานี้มารักษาภาวะสมาธิสั้น รวมถึงใช้เป็นยาลดน้ำหนักเมื่อผู้ป่วยใช้การอดอาหารหรือใช้ยาลดน้ำหนักชนิดอื่นแล้วไม่ได้ผล ยานี้เคยถูกนำมาใช้อย่างผิดๆ เช่น นำยารับประทานมาละลายแอลกอฮอล์แล้วฉีดเข้าเส้นเลือด หรือใช้เป็นยาสูบเหมือนบุหรี่ การใช้ยานี้เป็นเวลานานๆ ติดต่อกันเกินจากคำสั่งแพทย์ ล้วนแล้วมีแต่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายโดยเฉพาะต่อ ระบบประสาท สภาพจิตใจ ระบบการทำงานของหัวใจ และหลอดเลือด ตัวยาจะทำให้มีความรู้สึกวิตกกังวล และอาการจะเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ
รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยาเมทแอมเฟตามีนจะมีทั้งยาชนิดรับประทานและยาฉีด ตัวยานี้มีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร และเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 70% จากนั้นตัวยาในกระแสเลือดจะมีการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีน ยานี้สามารถซึมผ่านเข้าในน้ำนมของมารดาได้ เมทแอมเฟตามีนเป็นยาที่ออกฤทธิ์ได้เร็วและมีระยะเวลาออกฤทธิ์นาน 10 – 20 ชั่วโมง ร่างกายต้องใช้เวลา 5 – 30 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ
การรับประทานยาเมทแอมเฟตามีนเกินขนาด สามารถส่งผลให้มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ รู้สึกสับสน ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด มีความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจนอาจเป็นอันตราย ปวดกล้ามเนื้อ หายใจเร็ว เกิดอาการสั่น เกิดภาวะช็อก เลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ ระบบการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว มีภาวะ Serotonin syndrome เกิดมีความเสียหายต่อสมอง อาจมีอาการชักจนเข้าขั้นโคม่าจนถึงกับเสียชีวิต
การบำบัดผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากยาเมทแอมเฟตามีน แพทย์จะสั่งจ่ายยาถ่านกัมมันต์ และยาสงบประสาท/ยากล่อมประสาทเพื่อช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยในเบื้องต้น การฟอกเลือดดูจะเป็นวิธีที่ให้ประโยชน์ต่อผู้ป่วยได้มาก นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ยา Haloperidol เพื่อช่วยบำบัดภาวะทางจิตให้สงบลง และการให้ยากลุ่ม Beta-blocker เพื่อบำบัดอาการของสมองรวมถึงของหัวใจและหลอดเลือด
ทั้งนี้ การใช้ยาเมทแอมเฟตามีนต่อเนื่อง เป็นเวลานาน สามารถก่อให้เกิดการติดยาได้
ในประเทศไทยจะไม่พบเห็นการใช้ยานี้ แต่ในต่างประเทศยังมีการใช้ยานี้ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมที่เข้มงวดของกฎหมายของประเทศนั้นๆ
อนึ่ง ในประเทศไทย มีบุคคลบางกลุ่ม นำยานี้มาใช้อย่างผิดกฎหมายเป็นสารเสพติด โดยเรียกในกลุ่มผู้เสพว่า ยาไอซ์(Ice) เนื่องจากเป็นสารเสพติดที่มีลักษณะเป็นผลึกใส ไม่มีสี คล้ายน้ำแข็ง(Ice)
เมทแอมเฟตามีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเมทแอมเฟตามีน มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้เป็นยาลดน้ำหนัก
- ใช้บำบัดภาวะสมาธิสั้น
เมทแอมเฟตามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเมทแอมเฟตามีน มีกลไกการออกฤทธิ์เป็นยากระตุ้นระบบประสาท จึงใช้ข่วยในการบำบัดภาวะสมาธิสั้น นอกจากนั้น ตัวยายังส่งผลต่อผู้รับประทานยานี้ ให้รู้สึกเบื่ออาหาร ซึ่งเมื่อรับประทานอาหารได้น้อย ร่างกายต้องเร่งการเผาผลาญอาหารและพลังงานที่สะสมอยู่ในร่างกายทดแทน จึงเป็นผลให้เกิดการลดน้ำหนักได้ตามมา
เมทแอมเฟตามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเมทแอมเฟตามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5 มิลลิกรัม/เม็ด
เมทแอมเฟตามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเมทแอมเฟตามีนมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับลดน้ำหนัก โดยต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น:
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 5 มิลลิกรัม หรือขนาดตามคำสั่งแพทย์ โดยรับประทานก่อนอาหารประมาณ 1.5 ชั่วโมง ระยะเวลาในการใช้ยานี้ขึ้นกับคำสั่งแพทย์
- เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก
ข. สำหรับบำบัดภาวะสมาธิสั้น: การใช้ยานี้ต้องเป็นคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น โดยแพทย์จะพิจารณาการใช้ยานี้เฉพาะกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเมทแอมเฟตามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมทแอมเฟตามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเมทแอมเฟตามีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า
เมทแอมเฟตามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
การใช้ยาเมทแอมเฟตามีน สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจและชีพจรเต้นเร็ว หัวใจหยุดเต้น
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กดการเจริญของกล้ามเนื้อ เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน อาการสั่น ปวดศีรษะ มีภาวะTourette’s syndrome
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสียหรือท้องผูก ปากแห้ง การรับรสชาติผิดปกติ
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น สมรรถภาพทางเพศถดถอย มีความต้องการทางเพศน้อยลง
มีข้อควรระวังการใช้เมทแอมเฟตามีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเมทแอมเฟตามีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้นานเกินกว่าคำสั่งแพทย์ ด้วยจะทำให้เกิดภาวะติดยาจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะอดอาหาร ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดตีบ ผู้ป่วยต้อหิน ผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ที่มีประวัติติดยา
- ยานี้อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน จึงห้ามรับประทานร่วมกับสุรา ด้วยจะทำให้มีอาการวิงเวียนที่แย่ลง
- ไม่ควรรับประทานยานี้ช่วงหัวค่ำเพราะจะทำให้นอนไม่หลับ
- การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ต้องคอยตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพราะยานี้อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงได้
- ระหว่างใช้ยานี้ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมทแอมเฟตามีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เมทแอมเฟตามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเมทแอมเฟตามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมทแอมเฟตามีนร่วมกับ ยา Furazolidone ยากลุ่ม MAOI ยาSodium bicarbonate ด้วยจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงอย่างมาก เช่น วิงเวียนและหัวใจเต้นช้าผิดปกติ
- ห้ามรับประทานยาเมทแอมเฟตามีนร่วมกับยา Phenothiazines ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพของยาเมทแอมเฟตามีนลดลง
- ห้ามใช้ยาเมทแอมเฟตามีนร่วมกับยา Phenylpropanolamine ด้วยจะทำให้มีอาการรุนแรงต่อหัวใจ เช่น แน่นหน้าอก /เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก วิงเวียน และเป็นลม
- การใช้ยาเมทแอมเฟตามีนร่วมกับยา Bupropion จะทำให้ระดับยาเมทแอมเฟตามีนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงของยาเมทแอมเฟตามีนได้มาก หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาเมทแอมเฟตามีนอย่างไร?
ควรเก็บยาเมทแอมเฟตามีนภายใต้อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เมทแอมเฟตามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเมทแอมเฟตามีน มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Desoxyn (เดสโซซิน) | Abbott Laboratories |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Methamphetamine#Overdose [2016,July23]
- https://www.drugs.com/methamphetamine.html [2016,July23]
- https://www.drugs.com/imprints/a-te-6969.html [2016,July23]
- https://www.drugabuse.gov/publications/drugfacts/methamphetamine [2016,July23]