เมทิลแซนทีน (Methylxanthines)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 กรกฎาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- เมทิลแซนทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เมทิลแซนทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เมทิลแซนทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เมทิลแซนทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เมทิลแซนทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เมทิลแซนทีนอย่างไร?
- เมทิลแซนทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเมทิลแซนทีนอย่างไร?
- เมทิลแซนทีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยารักษาโรคหืด (Asthma Medications)
- โรคหืด (Asthma)
- ยาไมเกรน ยาต้านไมเกรน (Antimigraine drugs)
- ทีโอโบรมีน (Theobromine)
- ทีโอฟิลลีน (Theophylline)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
- ไมเกรน (Migraine)
บทนำ
ยาเมทิลแซนทีน(Methylxanthines) จัดเป็นกลุ่มอนุพันธ์ยาที่มักนำมารักษาอาการโรคหืด/โรคหอบหืด ตัวยาจะออกฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของทางเดินหายใจเกิดการคลายตัว และยังมีผลต่อการทำงานของเซลล์ที่ทำหน้าที่ในระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย โดยลดกระบวนการทางชีวะเคมีของหลอดลมและปอดซึ่งช่วยลดอาการหอบหืดลงได้
ยาอนุพันธ์เมทิลแซนทีนจะถูกเรียกชื่อตามโครงสร้างเคมีที่แตกต่างกันออกไป อาจอธิบายโดยย่อๆได้ดังนี้ คือ
- โครงสร้างเคมีที่เป็นแกนกลางของยาเมทิลแซนทีน จะมีชื่อเรียกว่า “แซนทีน (Xanthines)”
- กรณีที่มีหมู่เมทิล 3 หมู่ (-CH3) เข้ามาเกาะที่หมู่แซนทีนจะได้สารคาเฟอีน (Caffeine) หรือที่รู้จักกันว่า กาแฟ
- หากหมู่เมทิลมาเกาะที่แกนแซนทีน 2 หมู่ เราจะเรียกยาแซนทีนนั้นๆว่า ทีโอฟิลลิน(Theophylline) หรือ ทีโอโบรมีน(Theobromine) หรือพาราแซนทีน (Paraxanthine) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งการเข้าเกาะของหมู่เมทิล
หรือจะกล่าวให้ง่ายๆว่า กลุ่มยาเมทิลแซนทีน เป็นอนุพันธ์ย่อยของอนุพันธ์แซนทีนอีกทีหนึ่งก็ได้
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเมทิลแซนทีนจะเป็นชนิดยารับประทานเสียเป็นส่วนมาก โดยถูกจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยาจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
อาจจำแนกสาร/ยากลุ่มเมทิลแซนทีนออกเป็นรายการย่อยๆตามสรรพคุณทางคลินิกได้ดังนี้
1. Caffeine เป็นเมทิลแซนทีนที่พบได้ในเครื่องดื่ม ทางคลินิกนำไปผสมกับยา Ergotamine tartrate เพื่อใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน
2. Theophylline ถูกนำมาใช้รักษาอาการหอบหืดเป็นเวลานานหลายสิบปีสามารถใช้ได้ทั้งกับเด็กและกับผู้ใหญ่
3. Paraxanthine เป็นสารเมตาโบไลท์(Metabolite, สารที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมี) ของ Caffeine ในทางคลินิกยังไม่พบเห็นความโดดเด่นทางสรรพคุณเท่าใดนัก จึงยังไม่มีการนำมาใช้ทางคลินิก
4. Theobromine เป็นเมทิลแซนทีนที่อยู่ในรูปอัลคาลอยด์ (Alkaloid) มีฤทธิ์คล้ายCaffeine แต่ความแรงต่ำกว่า Caffeine ถึง 10 เท่า Theobromine มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด จึงทำให้ความดันโลหิตลดลง นอกจากนี้ยังออกฤทธิ์ทำให้ผนังหลอดลมในปอดขยายตัว และช่วยบรรเทาอาการไอ อย่างไรก็ตาม Theobromine ยังไม่ได้นำมาผลิตเป็นยาแผนปัจจุบัน เราสามารถบริโภค Theobromine ได้จาก ช็อกโกแลต
ยาเมทิลแซนทีน ก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆได้เช่น รู้สึกไม่สบายในท้อง แสบร้อนกลางอก นอนไม่หลับ และปวดศีรษะ หากพบอาการข้างเคียงที่รุนแรงขึ้นมา เช่น รู้สึกกระสับกระส่าย หัวใจเต้นเร็ว ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับขนาดการใช้ยาเพื่อลดอาการข้างเคียงเหล่านี้
อนึ่ง เพื่อความปลอดภัยของการใช้ยาเมทิลแซนทีน ผู้บริโภค/ผู้ป่วยต้องใช้ยา กลุ่มนี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
เมทิลแซนทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเมทิลแซนทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ช่วยรักษาและบรรเทาอาการหอบหืด เช่นยา Theophylline
- ช่วยกระตุ้นประสาท เช่น Caffeine
- ช่วยลดความดันโลหิต เช่น Theobromine แต่มิได้นำมาใช้ในทางยา จะพบเห็นการอ้างสรรพคุณอยู่ในอาหารประเภท Milk chocolate , Dark chocolate , Cola และ ชา
เมทิลแซนทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลุ่มยาเมทิลแซนทีนมีกลไกการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ เช่น ช่วยขยายหลอดลม กระตุ้นประสาท ลดความดันโลหิต รวมถึงขับปัสสาวะ แพทย์จะเป็นผู้เลือกใช้ตัวยา เมทิลแซนทีนแต่ละตัวได้เหมาะสมที่สุด
เมทิลแซนทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากลุ่มเมทิลแซนทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยารับประทาน ชนิดเม็ด แคปซูล และยาน้ำ
เมทิลแซนทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดรับประทานของยากลุ่มเมทิลแซนทีน จะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์เป็นกรณีผู้ป่วยแต่ละรายไป โดยต้องอาศัยข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ป่วย ร่วมกับการเลือกใช้แต่ละชนิดของยาให้ตรงตามอาการ และมีความปลอดภัยมากที่สุดต่อผู้ป่วย
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเมทิลแซนทีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมทิลแซนทีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเมทิลแซนทีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ
เมทิลแซนทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
อาจพบผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)จากการใช้ยากลุ่มเมทิลแซนทีน ดังนี้ เช่น คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ วิงเวียน แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง กระสับกระส่าย รู้สึกสับสน ปัสสาวะบ่อย เจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก และหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
*สำหรับอาการของผู้ที่ได้รับยาเมทิลแซนทีนเกินขนาด จะพบอาการหัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ กระหายน้ำ มีไข้ กล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้ออ่อนแรงอ่อนแรง เหงื่อออกมาก หายใจเร็ว ซึ่งหากพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
มีข้อควรระวังการใช้เมทิลแซนทีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเมทิลแซนทีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากจะมีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเองและใช้ยานี้ตามขนาดที่แพทย์แนะนำ
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลียนไป
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยากลุ่มนี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มี Caffeine เช่น ชา กาแฟ โคล่า หรือเครื่องดื่มที่มีช็อกโกแลตเป็นองค์ประกอบ ด้วยจะเพิ่มผลข้างเคียงของยานี้ต่อผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมกลุ่มยาเมทิลแซนทีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เมทิลแซนทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเมทิลแซนทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาเมทิลแซนทีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน (Caffeine) เช่น โคลา ชา กาแฟ) หรือร่วมกับยาอื่นที่มีส่วนประกอบของกาเฟอีน เช่น ยาต้านไมเกรนที่ผสมกาเฟอีน ด้วยจะทำให้ได้รับผลข้างเคียงจากเมทิลแซนทีนมากขึ้น
- การใช้ยาเมทิลแซนทีนร่วมกับยาลดความดันโลหิตบางตัว สามารถทำให้ฤทธิ์ ในการควบคุมความดันโลหิตด้อยประสิทธิภาพลงไปพร้อมกับอาจมีอาการต่างๆเหล่านี้ ตามมา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ ตัวสั่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น ยาลดความดันโลหิตดังกล่าว เช่น Acebutolol, Atenolol, Esmolol, Metoprolol, และ Nadolol
ควรเก็บรักษาเมทิลแซนทีนอย่างไร?
สามารถเก็บยาเมทิลแซนทีนภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์
เมทิลแซนทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเมทิลแซนทีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Theocap (ทีโอแคพ) | A N H Products |
Theolin (ทีโอลิน) | T. Man Pharma |
Theophylline Medicine Products (ทีโอฟิลลีน เมดิซีน โพรดักซ์) | Medicine Products |
Theori-200 (ทีโอรี-200) | Meditab |
Theotrim (ทีโอทริม) | Trima |
บรรณานุกรม
- http://www.webmd.com/lung/copd/methylxanthines-for-chronic-obstructive-pulmonary-disease-copd[2017,June17]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Theophylline[2017,June17]
- http://www.phytochemicals.info/phytochemicals/theobromine.php[2017,June17]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Theobromine[2017,June17]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Paraxanthine[2017,June17]
- http://curriculum.toxicology.wikispaces.net/2.1.11.4.6+Methylxanthines[2017,June17]
- https://www.drugs.com/cdi/theophylline.html[2017,June17]